จากท่าทีพื้นฐานต่อความจริงที่เป็นกลางๆ ดังกล่าวมา พุทธศาสนาก็จะมีท่าทีสืบเนื่องในเชิงจริยธรรม ซึ่งเป็นกลางๆ ด้วย กล่าวคือ
ขั้นที่ ๑ พุทธศาสนามีท่าทีในการแสดงความจริง ซึ่งถือว่า ความจริงเป็นของกลางๆ ไม่เข้าใครออกใคร ดังนั้น พุทธศาสนาจึงพูดเป็นกลางๆ ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นอย่างนี้ เช่นพูดว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ว่ามันจะอยู่ที่ไหนมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือเช่นสอนว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หรือการทำดีเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ หรือการทำชั่วเป็นเหตุให้ไปนรก ก็จบเท่านั้น คือถือว่าตัวการทำดีและการทำชั่วเป็นเหตุให้ได้รับผลต่างกันโดยตัวของมันเอง เป็นเรื่องธรรมดาของระบบเหตุปัจจัย
เมื่อมีการเปรียบเทียบกันขึ้นมา ก็คือบอกว่า ในทางพุทธศาสนาไม่มีผู้ตัดสิน ไม่มีผู้วินิจฉัยโทษ หมายความว่า คุณจะมีตรา มีชื่อว่านับถือศาสนาไหนก็ตาม ไม่เกี่ยว ผลจะเป็นอย่างไรอยู่ที่การกระทำ เมื่อทำดี การทำดีก็เป็นเหตุให้ไปสวรรค์ เมื่อทำชั่ว การทำชั่วก็เป็นเหตุให้ไปนรก ผลกับเหตุตามกันมาเอง ไม่ขึ้นต่อตรา
เพราะฉะนั้นมันก็ไม่มีคำว่าจะต้องถือศาสนาไหนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะคำนี้มันยืนอยู่เป็นของกลางๆ อย่างที่เรียกว่า ไม่เข้าใครออกใคร แล้วก็ไม่ต้องมีผู้พิพากษา เพราะว่าการทำเหตุก่อให้เกิดผลเอง เหตุทำให้เกิดผล ผลเกิดจากเหตุ ก็จบ ไม่ต้องมาเถียงกันว่าจะเชื่อผู้พิพากษาท่านใด
อนึ่ง หลักการย่อมสัมพันธ์กับท่าทีไปในตัว หลักการเป็นอย่างไร ท่าทีก็เป็นอย่างนั้น อันนี้คือ ความจริงที่เป็นสากล ซึ่งไม่เข้าใครออกใคร ไม่ต้องบอกว่านับถือศาสนาไหน ไม่ขึ้นต่อศาสดาองค์ใด แต่เพราะการทำดีเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ การทำชั่วเป็นเหตุให้ไปนรก โดยไม่ต้องมีใครตัดสินส่งไป เพราะฉะนั้นศาสดาจึงมาสอนว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ถ้าเราต้องการไปสวรรค์ เราก็ต้องทำดี
ศาสดามาแสดงความจริงและแนะนำตามความจริงนั้นเท่านั้น แต่ความจริงก็เป็นของมันอย่างนั้น ไม่ขึ้นต่อศาสดา ไม่ต้องแยกว่าศาสนาไหน ศาสดาใด
ขั้นที่ ๒ ความรู้สึกหรือท่าทีต่อมนุษย์อื่น ตามหลักพุทธศาสนา ก็ตั้งอยู่บนฐานของข้อที่ ๑ คือบอกว่ามนุษย์ก็เป็นชีวิต เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ในแง่นี้มนุษย์ก็มิได้มีอะไรพิเศษ นอกเหนือจากกฎธรรมชาติ เพียงแต่มีคุณสมบัติบางอย่างแตกต่างจากสัตว์อื่น และเมื่อเป็นมนุษย์แล้วก็มีความเป็นมนุษย์เสมอกัน เพราะฉะนั้น มนุษย์ก็เป็นมนุษย์ ไม่มีตราที่จะเอามาแยกเช่นเดียวกัน
ที่ว่านี้หมายความว่า ตราหรือป้ายชื่อว่า คนไทย คนจีน คนแขก คนฝรั่ง ฯลฯ นี้ เป็นเพียงเครื่องหมายรู้เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ ในการที่จะปฏิบัติต่อกันได้ตรงตามความประสงค์ แต่เนื้อหาก็คือ ความเป็นมนุษย์
เมื่อเป็นมนุษย์เสมอเหมือนกัน ก็รักสุขเกลียดทุกข์ และตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาก็จะบอกว่า สัตว์ทั้งหลาย โดยเฉพาะเริ่มจากมนุษย์ ล้วนรักสุข เกลียดทุกข์ รักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรเบียดเบียนกัน ท่านบอกว่า “น หเนยฺย น ฆาตเย” แปลว่า ไม่พึงฆ่า ไม่พึงให้ฆ่า
เป็นอันว่า มนุษย์ทุกคน
๑. มีธรรมชาติของการรักสุข เกลียดทุกข์ เหมือนกัน ล้วนกลัวภัย กลัวต่อความตายทั้งนั้น
๒. ร่วมกฎธรรมชาติเดียวกัน เสมอกันในกฎธรรมชาติ คือ ทุกคนเกิดมาแล้วก็ตกอยู่ใต้อำนาจของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน คือเป็นเพื่อนร่วมกฎธรรมชาติด้วยกัน
เพราะฉะนั้นเราจึงบอกว่า “สัพเพ สัตตา” สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นจึงพูดเป็นกลางๆ ว่าไม่ควรเบียดเบียนกัน โดยไม่มีชื่อ ไม่มีป้ายใดทั้งสิ้น และการฆ่ามนุษย์ หรือฆ่าชีวิตใดก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งนั้น เราเรียกว่าเป็นบาป โดยเป็นกลางๆ ไม่จำกัดว่าจะติดป้ายไหน นี่คือ ความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล
ขั้นที่ ๓ จากการถือความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล ก็ออกไปสู่ท่าทีต่อกัน กล่าวคือ เพราะเหตุที่ว่ามนุษย์แต่ละคนเป็นชีวิตที่รักสุข เกลียดทุกข์ จึงอยากมีความสุข อยากอยู่ด้วยดี เราฉันใด คนอื่นๆ ก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นเราปรารถนาดีต่อตัวเรา เราก็ควรปรารถนาดีต่อผู้อื่น และเพื่อให้มนุษย์อยู่กันด้วยดี ทุกคนก็ควรจะมีเมตตาต่อกัน เป็นเมตตาที่เป็นกลางๆ เสมอกันหมดต่อมนุษย์ทุกคน ต่อทุกชีวิต
อันนี้เรียกว่า เมตตาที่เป็นสากล คือไม่จำกัดพวกนั้น พวกนี้ หรือกลุ่มไหนศาสนาใดทั้งสิ้น
หลักการ ๓ อย่างนี้ เป็นข้อสำคัญในเรื่องทัศนะหรือท่าที หมายความว่า มันเหมือนเป็นฐาน เพราะว่าจากหลักการนี้ ก็จะมีท่าทีตามมา เมื่อยึดถือหลักการอย่างไร ทัศนะและท่าทีการมองก็เป็นไปอย่างนั้น บางทีเราแทบไม่ต้องพูดถึงตัวท่าทีอีกเลย เพราะมันมากับตัวความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าเป็นสัจธรรมอันนี้
นอกจากนั้น หลักการที่พูดมานี้ ยังแสดงถึงความหมายของจริยธรรมในทัศนะของพุทธศาสนาด้วย กล่าวคือ จริยธรรม คือการปฏิบัติที่ถูกต้องของมนุษย์ ต้องตั้งอยู่บนฐานของสัจธรรม หรือสืบเนื่องมาจากความจริงของกฎธรรมชาติ
หมายความว่า เพราะความจริงเป็นอย่างนี้ๆ มนุษย์จึงควรดำเนินชีวิตหรือปฏิบัติอย่างนี้ๆ
จริยธรรม ไม่ใช่ข้อกำหนดของศาสนาหรือบัญญัติของศาสดา แต่เป็นเหมือนข้อเรียกร้องของกฎธรรมชาติต่อการปฏิบัติของมนุษย์ ซึ่งพระศาสดาทรงชี้ให้เห็นหรือนำมาเสนอและแนะนำ