มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เหนือกว่า NAFTA
เขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดของโลกจะเกิดขึ้นมาจากเอเปค/APEC

ถึงตอนนี้ ทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นดินแดนสำคัญในการค้าโลก ดูเหมือนว่ายังไม่ได้เข้าสู่ระบบการค้าเสรี ถ้าเอเชียมีระบบนี้ด้วย เศรษฐกิจก็จะใกล้ถึงขั้นเป็นตลาดโลกไร้พรมแดน

แต่แท้จริงนั้น อเมริกาได้ร่วมกับออสเตรเลียหนุนให้ชาติทั้งหลายในเอเชีย ตั้งสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่เรียกง่ายๆ ว่า “เอเปค” (Asia-Pacific Economic Coopertion/ APEC) ขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1989 แล้ว

ประธานาธิบดีคลินตัน ได้ปรากฏตัวเด่นออกมาในฐานะเป็นผู้หนุนการค้าเสรีที่แข็งขันที่สุดในรอบหลายสิบปี (“20th-Century International Relations,” Britannica, 1997) และรัฐบาลของเขาก็ได้เรียกร้องให้ประเทศในเอเชียมีมาตรการเปิดตลาด และ “การค้าที่ยุติธรรม” (“fair trade”)

หลังจากรัฐสภาสหรัฐลงมติผ่าน NAFTA ได้ ๓ วัน ประธานาธิบดีคลินตันก็ได้เป็นเจ้าภาพจัดให้ผู้นำ ๑๕ ประเทศประชุมสุดยอดครั้งแรกของ เอเปค/APEC ที่เมืองซีแอตเติล (Seattle) ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1993 และในเดือนพฤศจิกายนปีต่อมา (1994) ประเทศกลุ่ม เอเปค/APEC ซึ่งคราวนี้เพิ่มเป็น ๑๘ ประเทศ (สามประเทศเพิ่มใหม่ คือ ชิลี เมกซิโก และปาปัวนิวกินี) ก็ได้ประชุมสุดยอดครั้งที่ ๒ กัน ๒ วัน ที่อินโดนีเซีย

คราวนี้ทั้ง ๑๘ ประเทศได้ลงนามในข้อตกลงให้การค้าขายระหว่างกันบรรลุเป้าหมายแห่งการค้าเสรี ภายใน ค.ศ.2020 กับทั้งจะลดทอนเครื่องจำกัดกีดกั้นการค้าขายแม้กับประเทศอื่นๆ ที่นอกเขตแปซิฟิกด้วย

ประเทศทั้ง ๑๘ ในกลุ่ม เอเปค/APEC ได้แก่

ก) ประเทศในเอเชีย ๑๑ ซึ่งแยกได้เป็น

- ประเทศในกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN ๖ ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และบรูไน) และ

- ประเทศในเอเชียนอกกลุ่ม ASEAN อีก ๕ (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และฮ่องกง)

ข) ประเทศฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ๔ (สหรัฐ คานาดา และเมกซิโก ในอเมริกาเหนือ กับชิลีในอเมริกาใต้) และ

ค) ประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกภาคใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ๓ (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และปาปัวนิวกินี)

แต่รวมแล้วทั้ง ๑๘ ประเทศ ก็อยู่ในอ่างแปซิฟิก (Pacific Basin)

กลุ่มประเทศ APEC นี้ มีประชากรเกินกว่า ๒ พันล้านคน หรือประมาณ ๓๘% (เกิน ๑ ใน ๓) ของประชากรทั่วทั้งโลก ครอบคลุมการค้าโลก ๔๑% และทำการผลิตสินค้ากว่าครึ่งหนึ่งของโลก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) รวมกันมากกว่า ๕๐% ของทั้งโลก

ฉะนั้น (ถ้าการณ์เป็นไปตามตกลง ภายใน ค.ศ.2020) เอเปค/ APEC ก็จะทำให้เกิดเขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลกที่แท้จริง

นอกจากนี้ เอเปค/APEC ยังมีความพิเศษที่แปลกและแตกต่างจากเขตการค้าเสรีอื่นๆ เช่น ขณะที่เขตอื่นเป็นการรวมตัวกันของชาติต่างๆ ที่อยู่ในภาคพื้นทวีปเดียวกัน มีดินแดนใกล้ชิดติดกัน ที่จะประสานความร่วมมือในการรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของกันและกัน แต่ เอเปค/APEC เป็นการร่วมมือต่างถิ่นข้ามทวีปของประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในทางเศรษฐกิจ เชื้อชาติ วัฒนธรรม และระดับการพัฒนา

โดยเฉพาะรวมเอาประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยและยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการเศรษฐกิจของโลก ทั้งอันดับ ๑ และอันดับ ๒ คือ สหรัฐและญี่ปุ่นเข้ามาไว้ด้วยกัน (Britannica Book of the Year 1995) พร้อมทั้งประเทศแถบขอบตะวันตกของแปซิฟิก หรือ Pacific Rim ซึ่ง (เวลานั้น) คาดหมายกันนักว่ามีอนาคตทางเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองสุกใส รวมทั้งชาติที่เรียกกันว่าเป็น “เสือเศรษฐกิจ” ทั้งหลายด้วย

เอเปค/APEC ประชุมประจำปีกัน ๒ วัน ตอนปลายเดือนพฤศจิกายนเรื่อยมา และได้เริ่มทำงานตามแนวทางที่ตกลงกันไว้ เช่น ในการประชุมปี 1996 ณ 25 พ.ย. ที่มะนิลา ๑๘ ชาติสมาชิกตกลงให้คำมั่นว่าจะตัดทอนภาษีนำเข้าคอมพิวเตอร์และสินค้าไฮเทคทั้งหลายลงอย่างให้เห็นกันชัดเจนเป็นจริงเป็นจังภายในปี 2000

(ต่อมา รัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๗–๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๖/2003)

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.