มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ประวัติศาสตร์สรุปว่า ชาวพุทธถูกห้ำหั่นบีฑา
แต่ไม่มีสงครามศาสนากับชาวพุทธ

เนื่องจากชาวพุทธถูกกำจัดกวาดล้างข้างเดียว ไม่ว่าจะโดยชาวฮินดูหรือโดยชาวมุสลิม จึงมีแต่การทำ persecution (ห้ำหั่นบีฑา) แก่ชาวพุทธ ไม่มี religious war คือไม่มีสงครามศาสนากับชาวพุทธ

เรื่องนี้ตรงข้ามกับชาวฮินดู เมื่อกองทัพมุสลิมยกเข้ารุกรานในอินเดียนั้น มิใช่เฉพาะกำจัดกวาดล้างชาวพุทธเท่านั้น แต่ได้กำจัดฮินดูด้วย

แต่ฮินดูมิได้หมดไปอย่างพุทธศาสนา ชาวฮินดูยังคงอยู่และได้รบกับชาวมุสลิมที่ปกครองอินเดียตลอดมาอีกราว ๕๐๐ ปี จนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษไปด้วยกัน

(อินเดียอยู่ใต้อำนาจบริษัท East India Company ของอังกฤษเกือบทั้งหมดในปี 1773 และมาเป็นของรัฐบาลอังกฤษ ใน ค.ศ.1858 จนกระทั่ง ค.ศ.1876 รัฐบาลอังกฤษจึงได้ประกาศให้ราชินีวิคตอเรียเป็นพระจักรพรรดินีแห่งอินเดีย)

ต่อมาเมื่อต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ก็เริ่มวิวาทกันอีก จนเมื่อได้เป็นเอกราชใน ค.ศ.1947 ก็เลยต้องแยกเป็น ๒ ประเทศ คือ อินเดีย (ฮินดู) กับปากีสถาน (มุสลิม)

ระหว่างที่ราชวงศ์มุสลิมปกครองอินเดีย ซึ่งมีการรบราฆ่าฟันสงครามกับนักรบฮินดูมาเรื่อยๆ นั้น แม้ผู้ปกครองมุสลิมจะต้องผ่อนเบาเอาใจฮินดูตามสมควร แต่บางครั้งก็ยังมีการกำจัดกวาดล้าง (persecution)

โดยเฉพาะครั้งใหญ่คือ ในรัชกาลพระเจ้าออรังเซบ (Aurangzeb ค.ศ.1658-1707) ซึ่งเมื่อเห็นว่าตนมีอำนาจยิ่งใหญ่เข้มแข็งมากแล้ว ก็กำจัดกวาดล้างชาวฮินดูอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการก่อกบฎ ที่กลับทำให้ราชวงศ์โมกุลของตนอ่อนแอลงอย่างไม่ฟื้น จนในที่สุดก็เสียแก่อังกฤษ

เรื่องทางด้านมุสลิมนี้ นอกจากในอินเดียที่ว่ามาแล้ว ก็เป็นที่รู้กันดีว่าได้มีเรื่อง persecution และ religious war และ holy war หรือ jihad มาตลอด ดังเช่น สงครามครูเสด (Crusades) เกือบ ๒๐๐ ปี กับประเทศคริสต์ในยุโรป การกำจัดกวาดล้างศาสนาโซโรอัสเตอร์ในอิหร่าน ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8-10 และการกำจัดกวาดล้างและสงครามกับพวกลัทธิ Babism (ที่มาของศาสนาบาไฮ/Baha’ism) ในอิหร่านเช่นเดียวกัน

ในช่วง ค.ศ.1848-1850 ในอินเดีย นอกจากรบกับฮินดูแล้ว ชาวมุสลิมก็รบกับพวกสิกข์ (Sikhs) เป็นต้น ไม่ต้องพูดถึงความเป็นมาในอาฟริกา (โดยเฉพาะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19) ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างชาวยิวในอิสราเอล กับกลุ่มประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางจนปัจจุบัน

ฝรั่งหรือฝ่ายคริสต์มักพูดถึงศาสนาอิสลามว่า เผยแพร่ศาสนาด้วยคมดาบ (เช่น Encyclopaedia Britannica, 1997 คำ “Western Africa”: “Islam has been spread by the sword, . . .”)

แต่ทางฝ่ายชาวมุสลิมก็อ้างคัมภีร์กุรอ่านที่สอนว่า “จงอย่าได้มีการบังคับในศาสนา” (There shall be no compulsion in religion.) และในข้อที่ว่าอิสลามให้ทำสงครามศาสนานั้น ปราชญ์มุสลิมปัจจุบันก็เน้นให้ตีความเป็นการทำสงครามต่อสู้กับกิเลสในจิตใจของตนเอง

ถ้ามีการเน้นให้สอนกันอย่างหลังนี้ และจำกัดกันไว้ให้ชัดเจนแน่นหนาได้จริง พร้อมทั้งมิให้มีการยกคำสอนใดๆ ในคัมภีร์ไปอ้างเพื่อการรบราฆ่าฟัน การสถาปนาสันติภาพในโลก และการสร้างสรรค์สันติสุขให้แก่มวลมนุษย์ก็น่าจะมีทางเป็นไปได้

ในจีน พระพุทธศาสนาเริ่มประดิษฐานตั้งแต่ ค.ศ.77 (พ.ศ. ๖๑๐) แต่เมื่อเจริญรุ่งเรืองขึ้น ก็ถูกอิทธิพลของลัทธิขงจื๊อขัดขวาง และใช้กำลังทำลายเป็นครั้งคราว

ที่เรียกว่าเป็น persecution คือ กำจัดกวาดล้าง ได้แก่ ใน ค.ศ.446 (พ.ศ.๙๘๙) และ ค.ศ.574-577 (พ.ศ.๑๑๑๗-๑๑๒๐) ในช่วงที่ ๒ นี้ มีการทำลายรุนแรง เช่น ยึดวัด ๔๐,๐๐๐ วัด บังคับพระภิกษุให้ลาสิกขา ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูป ทำลายพระพุทธรูปเอาทองคำและทองแดงไปทำทองแท่งและเหรียญกษาปณ์

ต่อมาอีกครั้งหนึ่ง ใน ค.ศ.845 (พ.ศ.๑๓๘๘) จักรพรรดิจีน (พระเจ้าบู่จง) ซึ่งทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋า ทรงแต่งตั้งนักบวชเต๋าเป็นเสนาบดี แล้วดำเนินการทำลายพระพุทธศาสนา โดยทำลายวัดมากกว่า ๔,๖๐๐ แห่ง ทำลายเจดีย์วิหารกว่า ๔๐,๐๐๐ แห่ง ริบที่ดินวัด เผาคัมภีร์ หลอมพระพุทธรูป และบังคับภิกษุและภิกษุณีให้สึกมากกว่า ๒๖๐,๐๐๐ รูป

พึงสังเกตว่า พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในจีนอย่างมากและยาวนาน แต่ตลอดระยะเวลาที่เจริญรุ่งเรืองนั้น ทางฝ่ายพุทธศาสนาไม่เคยกำจัดเบียดเบียนลัทธิศาสนาอื่น ไม่ว่าจะเป็นขงจื๊อ เต๋า หรือลัทธิใด และเมื่อผ่านการถูกกำจัดไปแล้ว ก็มิได้ทำการแก้แค้น

คงเป็นเพราะเหตุนี้ วงการพุทธศาสนาจึงไม่มีคู่กรณีหรือคู่เวรกับลัทธิศาสนาใด ที่อาฆาตคั่งแค้นต่อสู้กันมาในประวัติศาสตร์ เหมือนดังในที่อื่นๆ (เพราะเป็นฝ่ายถูกกระทำข้างเดียว)

น่าสังเกตด้วยว่า ในจีนที่พุทธศาสนารุ่งเรืองต่อกันมายาวนานนี้ แม้เมื่อมีการกำจัดพุทธศาสนาอย่างรุนแรง ก็ไม่ถึงขั้นมุ่งทำลายชีวิต ส่วนมากทำเพียงในขั้นให้ภิกษุและภิกษุณีลาสิกขา (อาจเป็นเพราะคนมีลักษณะผ่อนคลายความรุนแรงลงไป หรืออาจเป็นเพราะรู้อยู่ว่าถึงปล่อยให้มีชีวิตอยู่ ชาวพุทธก็จะไม่มาแก้แค้น)

ขอพูดถึงอินเดียและจีนเป็นตัวอย่างไว้เท่านี้ เรื่องราวที่อื่นๆ เช่นญี่ปุ่น ไทย จะไม่กล่าวถึง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.