มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ภูมิหลังที่ต่างกันแห่ง ๒ วิธี
ในการดำเนินวิถีแห่งสันติภาพ

ในระดับชนชาติหรือระดับภูมิภาค พูดได้คร่าวๆ ว่ามีมนุษย์อยู่ ๒ พวก ที่มีประสบการณ์แห่งความปรองดองทางศาสนา หรืออย่างน้อยก็อยู่ในขั้นของ tolerance คือความมีขันติธรรม ได้แก่

๑. ประเทศประชาธิปไตยตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

๒. ประเทศพุทธศาสนา

การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความมีขันติธรรมทางศาสนา ในหมู่ชน ๒ พวก ในข้อ ๑ และ ๒ นี้ มีลักษณะแห่งประสบการณ์ ภูมิหลัง และหลักการที่แตกต่างกันมาก

พวกที่ ๑ คือกลุ่มประเทศประชาธิปไตยตะวันตก มีขันติธรรม (tolerance) ในรูปของเสรีภาพทางศาสนา ที่เกิดจากปฏิกิริยาต่อภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของตนเอง ที่เต็มไปด้วยการห้ำหั่นบีฑา (persecution) และสงครามศาสนา (religious wars) เป็นเหตุบีบคั้นให้ดิ้นรนใฝ่หาเสรีภาพ พร้อมทั้งเกิดความเบื่อหน่ายขยะแขยงต่อภาวะเช่นนั้น แล้วแสวงหาทางออกใหม่ที่ตรงข้าม

พวกที่ ๒ คือกลุ่มประเทศพุทธศาสนา มีประวัติศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในโลก โดยเฉพาะในประเทศตะวันตกว่า มีความเอื้อเฟื้อใจกว้างและการยอมรับผู้อื่นเป็นคุณสมบัติพื้นเดิม อันสืบมาจากหลักการหรือคำสอนของพุทธศาสนานั้นเอง

ในโลกปัจจุบันนี้ อารยธรรมตะวันตกแผ่อิทธิพลไปเป็นโลกาภิวัตน์ จนมีสถานะเหมือนเป็นตัวแทนแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติ ดังที่เมื่อพูดถึงความเจริญของโลกมนุษย์เวลานี้ ก็หมายถึงสภาพแห่งอารยธรรมแบบตะวันตกนั่นเอง และในอารยธรรมตะวันตกนั้นก็แน่นอนว่า ตัวชูที่เชิดอารยธรรมนั้นขณะนี้ ก็คืออารยธรรมอเมริกัน

ชนชาติทั้งหลายในยุโรป มีประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่บีบคั้น การห้ำหั่นบีฑา และสงครามกัน อย่างกว้างขวางรุนแรงตลอดมา และศาสนาก็ได้เป็นองค์ประกอบใหญ่อยู่ในกระบวนการแห่งความขัดแย้งและสงครามนั้น จนความขัดแย้งทางศาสนากับปัญหาการเมืองเป็นเรื่องปะปนมาด้วยกัน โดยเฉพาะการใช้อำนาจการเมืองเป็นเครื่องบังคับคนให้ถือลัทธินิกายศาสนาของตน และกำจัดผู้คนที่ไม่นับถืออย่างตน

การจำกัด กีดกั้น ข่มเหง บังคับ กำจัด กวาดล้างด้วยสาเหตุแห่งการนับถือศาสนา หรือแม้แต่ตีความคำสอนในศาสนาต่างกัน มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเสื่อมและเจริญของอารยธรรมตะวันตก

พร้อมนั้น ภูมิหลังข้อนี้แหละที่เป็นสาเหตุให้ชนชาติอเมริกันผู้อพยพไปจากยุโรป มีความใฝ่ฝันนักในสิ่งที่เรียกว่า freedom คือ ความเป็นอิสระเสรี ซึ่งรวมทั้งเสรีภาพทางศาสนา (religious freedom) และมุ่งหวังให้ประเทศอเมริกาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ (the land of liberty) หรือดินแดนแห่งเสรีชน (the land of the free; พอดีมาตรงกับคำแปลชื่อประเทศไทย)

การรู้ความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แห่งการดิ้นรนสู่เสรีภาพนี้ เป็นสิ่งสำคัญต่อการเข้าใจชนชาติอเมริกัน ซึ่งหมายถึงการเข้าใจอารยธรรมที่ครอบงำหรือนำโลกอยู่ในปัจจุบัน และมีความหมายอย่างยิ่งต่อการที่จะก้าวหน้าไปในการแก้ไขปัญหาของมนุษยชาติ ในด้านความขัดแย้งเบียดเบียนกันนั้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.