ว่าถึงหลักการทางพุทธศาสนา เราดูไม่เฉพาะท่าทีที่แสดงออกมาต่อผู้อื่นหรือสิ่งอื่นเท่านั้น แต่ดูท่าทีต่อสิ่งที่ตัวเองแสวงหา หรือสิ่งที่ตัวเองแสดงด้วย คือท่าทีต่อสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม”
เรื่องของศาสนานี้มีสิ่งหนึ่งที่เราต้องการ คือ ความเป็นสากล ทำอย่างไรจะให้เป็นของสากล
คำว่า “สากล” ก็เป็นคำที่กำกวมอยู่ ความหมายหนึ่งว่า สากล คือสิ่งที่คนยอมรับกันมากๆ หรือทั่วไป อย่างเสื้อผ้าชุดสากล เราบอกว่าสากล เหมือนกับว่าเป็นของร่วมกันทั้งโลก แต่ที่จริงเป็นเสื้อผ้าของฝรั่ง แต่เราไปยอมรับฝรั่ง ก็เลยเรียกว่าสากล
ที่เรียกว่าสากลแบบนี้มีมาก มันเป็นเพียงของฝรั่งเท่านั้น และคนก็ไปตื่น ไปยอมรับกัน ความจริงมันเป็นสากลไม่ได้ เพราะมันไม่เหมาะกับภูมิประเทศไปทั่วทุกแห่ง เช่น เสื้อผ้าชุดสากลอาจจะไม่เหมาะกับภูมิอากาศเมืองไทยที่ร้อน นี่คือสากลตามที่คนยอมรับ
ความเป็นสากลอีกอย่างหนึ่ง คือความจริง หมายถึงความจริงที่ไม่เข้าใครออกใคร ไม่ว่าอยู่ที่ไหนมันก็เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นสากล เป็นสากลตามธรรมชาติ ตามธรรมดา เช่น เป็นมนุษย์ก็ต้องกินอาหาร หรือเป็นชีวิตก็ต้องกินอาหาร เป็นต้น หรือเราอาจจะพูดว่า เราต้องมีเครื่องนุ่งห่ม เป็นเครื่องช่วยในการค้ำชูชีวิต การใช้เครื่องนุ่งห่มเป็นของสากลของมนุษย์ แต่ตอนที่ว่ารูปแบบเสื้อผ้าชนิดนี้ ชนิดนั้น เป็นสากลหรือเปล่านี้ แล้วแต่จะยอมรับ
ตกลงว่า สากล มี ๒ อย่าง และที่เราต้องการก็คือความเป็นสากลที่ว่า เป็นของจริง ชนิดที่ไม่เข้าใครออกใคร มันจะอยู่ที่ไหน เมื่อไร ในเทศะไหน หรือแม้แต่ในกาลใด ก็เป็นอย่างนั้น เรื่องหลักการของศาสนา ก็ต้องไปถึงจุดนี้ด้วย
ทีนี้เรามาพูดถึงเรื่องท่าทีของพุทธศาสนาต่อสิ่งที่เรียกว่าศาสนาทั้งหลาย ก็มาเจอท่าทีต่อตัวความจริงนี้ด้วย ว่าพุทธศาสนามีท่าทีต่อความจริงนี้อย่างไร
ท่าทีพื้นฐานที่สุด จะเห็นได้ในคำตรัสของพระพุทธเจ้าเองว่า
“อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ ิตาว สา ธาตุ ธมฺมฏฺิตตา ธมฺมนิยามตา . . .”
= ไม่ว่าตถาคตทั้งหลายจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม หลักความจริง คือกฎธรรมชาติ ก็คงอยู่อย่างนั้น . . . ตถาคตตรัสรู้ ค้นพบหลักความจริงนั้นแล้ว ก็มาบอก แสดง จัดตั้ง วางหลัก เปิดเผย แจกแจง ทำให้เข้าใจได้ง่าย . . . ว่าดังนี้ๆ(องฺ.ติก.๒๐/๕๗๖)
พุทธพจน์นี้เป็นคำแสดงฐานะของพระศาสดาไปด้วย ให้รู้ว่าความจริงมีอยู่ตามธรรมดาของมัน ไม่ได้ขึ้นต่อองค์พระศาสดา พระศาสดามีฐานะเป็นผู้ค้นพบ และเมื่อค้นพบความจริงด้วยปัญญาแล้ว ก็มาบอก มาเปิดเผยความจริงนั้นแก่มนุษย์ทั้งหลาย เพื่อให้รู้เข้าใจความจริงนั้น แล้วจะได้ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้องตามความจริง อันจะทำให้การดำเนินชีวิตและกิจการทั้งหลายของมนุษย์บังเกิดผลดีเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
ด้วยท่าทีพื้นฐานนี้ คือ เมื่อไม่ถือว่าความจริงและหลักการต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ศาสดาจะตั้งเอาเองตามที่พอใจ และความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายดำเนินไปตามกฎธรรมชาติ ไม่มีใครที่จะมาเป็นผู้วินิจฉัย พิพากษาตัดสิน มนุษย์เราจึงต้องรู้เข้าใจความจริงนั้น เพื่อจะปฏิบัติได้ถูกต้อง ดังนั้นท่าทีทั่วไปของพุทธศาสนาจึงเป็นท่าทีแห่งปัญญา
อนึ่ง ในเมื่อปัญญาเป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาขึ้นในตัวมนุษย์แต่ละคน จะจับใส่ ยัดเยียดให้ หรือบังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ พุทธศาสนาจึงมีท่าทีทั่วไปอีกอย่างหนึ่งตามมา คือการเปิดโอกาสแก่ทุกคนในการคิดพิจารณา และเชิญชวนให้ใช้ปัญญา อย่างที่เรียกว่า เสรีภาพทางความคิด
พร้อมกันนั้น ในการกล่าวสอนหรือประกาศแสดงนำเสนอหลักการต่างๆ พุทธศาสนาก็จะมีท่าทีเป็นกลางๆ แบบเสนอให้พิจารณาและให้คิดตัดสินใจด้วยตนเอง
พุทธศาสนาจึงไม่พูดว่า พุทธศาสนาจะเอาอย่างนั้นจะเอาอย่างนี้ แต่จะพูดเป็นกลางๆ ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ๆ เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ และเมื่อผลอย่างนี้ๆ จะเกิดขึ้นจากการทำเหตุอย่างนี้ๆ มนุษย์เราควรเลือกเอาหรือควรจะปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ อย่างไร จากความจริงที่เป็นอย่างนี้ ถ้ามนุษย์ต้องการผลดีก็ต้องปฏิบัติอย่างนี้ๆ ถ้าท่านปฏิบัติอย่างนี้ๆ ผลดีก็จะเกิดขึ้น ท่านจะเห็นด้วยและปฏิบัติไหมล่ะ ฯลฯ
ตามหลักการนี้ ก็จะมีแต่ท่าทีต่อตัวความจริง ต่อข้อเสนอ ต่อความคิดเห็นความรู้สึกต่างๆ ไม่มีท่าทีต่อศาสนาที่มีชื่ออย่างนั้นอย่างนี้