มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เมื่อวิทยาศาสตร์มาหนุนอุตสาหกรรม พร้อมระบบแบ่งงาน-ชำนาญพิเศษ
อเมริกาก็ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าใหญ่แห่งอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ในยุคใช้พลังงานไอน้ำ การนำความรู้วิทยาศาสตร์มาใช้ในอุตสาหกรรมยังไม่จริงจังมากนัก จนกระทั่งเมื่อเอดิสัน (Thomas Alva Edison, 1847-1931) ตั้งโรงงานจ่ายกระแสไฟฟ้าในเมืองนิวยอร์ค เมื่อเดือนกันยายน 1882 (เซอร์โจเซฟ วิลสัน สแวน และเอดิสัน ต่างก็ผลิตหลอดไฟฟ้าได้สำเร็จ ใน ค.ศ. 1880) โลกก็เข้าสู่ยุคไฟฟ้า ซึ่งไฟฟ้าเข้ามาแทนที่พลังงานไอน้ำ

จากนั้นก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในด้านอุตสาหกรรม โดยเกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญๆ ซึ่งอาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ถือว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๒ (Second Industrial Revolution) อันเกิดขึ้นในอเมริกา (นับว่าเริ่มการปฏิวัติที่ ๒ นี้แต่ ค.ศ.1860)

ต่อจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี ก็ยิ่งใกล้ชิดสนิทแนบยิ่งขึ้น

สังคมอเมริกันนับว่าเป็นแหล่งอันเยี่ยมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพราะชาวอเมริกันภูมิใจในการมีจริยธรรมแห่งการทำงาน (work ethic หรือ Protestant ethic บางทีก็เรียก Puritan ethic) และมีความเชื่อในหลักการลงทุนประกอบอุตสาหกิจชนิดเสี่ยงสู้เสรี (free enterprise)

โดยเฉพาะสังคมอเมริกันชื่นชมลัทธิดาร์วินเชิงสังคม (Social Darwinism) มากเป็นพิเศษ จึงหนุนระบบตัวใครตัวมันและแข่งขันเต็มที่ (individualism and unrestricted competition) อันเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ยิ่งกว่านั้น ประเทศอเมริกายังเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์อีกด้วย จึงยิ่งทำให้ได้เปรียบมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ในปี 1913 นายเฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford, 1863-1947) ได้พัฒนาระบบการแบ่งงานให้ก้าวหน้าขั้นใหญ่ คือ ได้ริเริ่มระบบสายพานประกอบชิ้นส่วน (assembly line) ขึ้นมา ทำให้การผลิตสินค้าเหมือนแบบทีละมากๆ (mass production) บรรลุเป้าหมายอย่างสูง เป็นการเพิ่มผลผลิต (productivity) อย่างมหาศาล ลดจำนวนแรงงานมีฝีมือลงไป และได้สินค้าราคาถูกลง

นอกจากอุตสาหกรรมจะก้าวหน้าโดยทั่วไปแล้ว อเมริกาก็ได้เป็นเจ้าใหญ่ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์

ในด้านทรัพยากรธรรมชาตินั้น พึงสังเกตว่า เมื่ออังกฤษเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วง ค.ศ.1750 อเมริกายังเป็นแหล่งป้อนทรัพยากรอย่างสำคัญ เพราะอเมริกาเป็นดินแดน ๙ ใน ๑๐ ส่วนของจักรวรรดิอังกฤษยุคแรก

ครั้นเมื่ออังกฤษสูญเสียอาณานิคมในอเมริกาไปในปี 1781 (สงครามกับอังกฤษเริ่ม ค.ศ.1775 อเมริกาประกาศอิสรภาพ ค.ศ.1776 และชนะสงครามปี 1781) แล้ว ก็พอดีเข้าสู่ยุคที่อังกฤษสามารถแผ่ขยายจักรวรรดิ ยึดครองอาณานิคมได้เพิ่มอย่างกว้างขวางในแถบตะวันออก โดยได้เกาะลังกา แล้วต่อมาก็ได้ทวีปออสเตรเลีย (รวมทั้งนิวซีแลนด์) ผนวกเข้ามา

ยิ่งเมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในปี 1919 แล้ว อังกฤษก็ได้อาณานิคมจากประเทศผู้แพ้สงคราม คือ เยอรมัน กับเตอรกีเพิ่มเข้ามาอีก ทำให้ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมดำเนินต่อมาได้ด้วยดี

แต่เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว อังกฤษและประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลายในยุโรปบอบช้ำมาก และสูญเสียอาณานิคมไปจนหมด อเมริกาจึงเฟื่องฟูเป็นเจ้าใหญ่ในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเต็มที่

จนกระทั่งญี่ปุ่นและเยอรมันก้าวขึ้นมาแข่ง และทำท่าจะนำหน้าไปในช่วงใกล้จะขึ้นทศวรรษ 1990s พร้อมกับที่อเมริกากลับทรุดลงไปจากฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ใหญ่

ย้อนหลังไปในช่วงทศวรรษ 1960s ธนาคารใหญ่ที่สุดในโลก ๙ ใน ๑๐ เป็นของอเมริกัน

แต่ใน ค.ศ.1987 ธนาคารใหญ่ที่สุดในโลกไม่มีสักรายเดียวที่เป็นของอเมริกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นของญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นประเทศลูกหนี้เป็นครั้งแรก ใน ค.ศ.1985 และต่อมาก็กลายเป็นประเทศลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลก การค้าขาดดุลปีหนึ่งๆ เกิน ๑ แสนล้านดอลลาร์

ได้เกิดความรู้สึกกันว่า “ทศวรรษ 1990s เป็นอัปมงคลสมัยสำหรับสหรัฐอเมริกา” — “The 1990s was an inauspicious time for the United States.” (“United States of America: History: the late 20th century,” Britannica, 1997)

อเมริกาก้าวขึ้นมาสู่ทศวรรษใหม่นี้ ในฐานะเป็นอภิมหาอำนาจแต่ผู้เดียวในการเมืองโลก แต่ในประเทศของตนเอง นอกจากเศรษฐกิจจะยอบแยบระโหยโรยแรง สังคมก็โทรมหนัก เต็มไปด้วยอาชญากรรมที่รุนแรง (ซึ่งมักจะโยงกับเรื่องยาเสพติด) ความยากจน ปัญหาการพึ่งพาเงินสวัสดิการ ปัญหาความแบ่งแยกผิวเผ่าที่หนักลง ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่แพงลิ่ว และระบบครอบครัวที่ง่อยหงิก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้พลิกกลับ เศรษฐกิจของอเมริกาฟื้นตัวขึ้นมา ส่วนเยอรมันและญี่ปุ่นกลับทรุดลงไป

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติแล้ว (1945) เศรษฐกิจของเยอรมันตะวันตกเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงถึงปี 1952 การค้าของเยอรมันก็เกินดุล พอถึงปี 1986 ก็ทันและขึ้นเหนืออเมริกา แล้วอีก ๓ ปีต่อมา คือ 1989 ก็เกินดุลกับญี่ปุ่น

แต่เมื่อสองเยอรมันรวมกันเข้าในวันที่ 3 ตุลาคม 1990 แล้ว เยอรมันหันไปเพียรพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจในเยอรมันตะวันออกเดิม ดุลการค้าที่ได้เปรียบมากก็ตกวูบลง ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมากมาย แทนที่จะได้ส่งออก ก็ต้องเอาไปเลี้ยงเยอรมันตะวันออก แถมยังต้องนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย เศรษฐกิจของเยอรมันก็ทรุดลงอย่างคาดไม่ถึง

จนกระทั่งใน ค.ศ.1993 เศรษฐกิจของเยอรมันได้จมลงในภาวะถดถอยต่ำสุดในช่วง ๕๐ ปี ประเทศตะวันตกค่อยโล่งใจคลายความหวาดกลัวว่าเยอรมันจะขึ้นมาเป็นเจ้าโลกทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม พอถึงปี 1996 เศรษฐกิจของเยอรมันก็กลับฟูขึ้นอีก แม้ว่าจะยังไม่มากพอที่จะชดเชยกับการทรุดถอยในระยะที่ผ่านมา

ประเทศทั้งหลายในยุโรปตะวันตกโดยทั่วไป บอบช้ำอย่างยิ่งจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ก็ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดีในเวลาไม่นาน ด้วยกำลังหนุนจากอเมริกาตามแผนการมาร์แซล

ว่าโดยทั่วไป สงครามเย็นที่สหรัฐกับโซเวียตแข่งอำนาจกัน ก็ช่วยให้ยุโรป “มีเสถียรภาพ และทำให้ภาคตะวันตกรุ่งเรืองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน” (“20th-Century International Relations,” Britannica, 1997)

แต่พอถึงทศวรรษ 1980s ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยกันโดยทั่ว และพากันทรุดมานาน มีแต่อังกฤษประเทศเดียวที่ถอนตัวฟื้นขึ้นมาได้ในปี 1993 แต่ก็มีเค้าว่าในปีต่อๆ ไป ประเทศอื่นๆ ใน ยุโรปตะวันตกก็จะมีเศรษฐกิจดีขึ้น

ส่วนประเทศทั้งหลายในยุโรปตะวันออก ซึ่งอยู่ในอาณัติของโซเวียต เศรษฐกิจได้เสื่อมถอยอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดและโซเวียตล่มสลายแล้ว ประเทศเหล่านี้ก็อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนควบคุมจากศูนย์กลางของรัฐ มาสู่ระบบตลาดเสรีหรือทุนนิยม แต่ก็ยังอยู่ในภาวะที่อ่อนเปลี้ย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.