มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ภาพลักษณ์ของพุทธศาสนา
ในภูมิหลังแห่งการเบียดเบียนบีฑาทางศาสนา

หันมามองดูประเทศพุทธศาสนาบ้าง ประเทศตะวันตกซึ่งผ่านประวัติศาสตร์แห่งการเบียดเบียนและสงครามศาสนามามากนั้นเอง ยอมรับกันทั่วไปอย่างชัดเจนว่า พุทธศาสนาไม่มีประวัติแห่งการกำจัดบีบคั้นห้ำหั่นบีฑาและสงครามศาสนา (ไม่มีทั้ง religious persecution และ religious war)

ในเรื่องนี้ จะไม่กล่าวถึงตนเอง แต่ยกคำในตำรับตำราของตะวันตกมาดู พอให้เห็นว่าเขามองพุทธศาสนาอย่างไร

Encyclopaedia Britannica, 1997 (ในคำ “matyr”) กล่าวว่า

“พุทธศาสนา . . . โดยเด่นชัดว่าไม่มีประวัติแห่งการบีบคั้นกำจัด (persecution) หรือการขัดแย้งที่รุนแรงกับลัทธิศาสนาอื่นๆ . . .”

สารานุกรมใหญ่ชุดเดียวกันนี้ (ในคำ “pacifism”) นอกจากกล่าวถึงพุทธศาสนาแล้ว ยังกล่าวถึงนักปกครองผู้เป็นพุทธศาสนิก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาช่วยให้แม้แต่กิจการของมนุษย์ด้านที่ถือกันว่าจะต้องใช้กำลังและความรุนแรงมากที่สุด ก็ยังกลายเป็นกิจการแห่งสันติไปได้ สารานุกรมนั้นกล่าวว่า

...ขบวนการใฝ่สันติ (หรือขบวนการสันตินิยม) ที่แท้ รายแรกเท่าที่รู้ มาจากพุทธศาสนา ซึ่งพระศาสดากำหนดให้สาวกทั้งหลายของพระองค์ งดเว้นโดยสิ้นเชิงจากการทำร้ายไม่ว่าด้วยประการใดๆ ต่อเพื่อนสัตวโลก ในอินเดีย มหาราชอโศกผู้ได้รับแรงดลใจจากพุทธศาสนาในศตวรรษที่ ๓ ก่อนคริสต์ศักราช ได้ละเลิกการสงครามอย่างเด็ดขาด...

Compton’s Interactive Encyclopedia, 1997 เมื่ออธิบายคำ “Pacifism” ก็กล่าวไว้ว่า

สันตินิยม ที่เป็นถ้อยคำ เพิ่งใช้กันเป็นสามัญเมื่อเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 แต่สันตินิยมที่เป็นขบวนการนั้น มีอายุนานเท่าพระพุทธศาสนา . . .

เพื่อไม่ให้เนื้อเรื่องยืดยาว ขอกล่าวเป็นข้อสังเกตว่า

๑. พุทธศาสนาไม่กำจัดกวาดล้าง หรือห้ำหั่นบีฑาใคร (persecution) และไม่มีสงครามศาสนากับใคร (religious war) แต่พุทธศาสนาก็ถูกกำจัดกวาดล้าง ซึ่งบางแห่งก็เป็นเหตุให้พุทธศาสนาสูญสิ้นไป

ก) พุทธศาสนาและชาวพุทธ ยังไม่สามารถป้องกันตนเองจากการถูกกำจัดกวาดล้างได้

ข) พุทธศาสนาและชาวพุทธ ยังไม่สามารถชักจูงให้ชาวศาสนาอื่นละเลิกการห้ำหั่นบีฑาและการทำสงครามศาสนาได้

ในประเทศอินเดีย ถิ่นเกิดของพุทธศาสนาเอง ช่วงแรกพุทธศาสนาถูกกษัตริย์หรือผู้มีอำนาจชาวศาสนาพราหมณ์ (ต่อมาคือฮินดู) กำจัดกวาดล้างหลายครั้ง

เริ่มแต่เมื่อผ่านพ้นรัชสมัยพระเจ้าอโศกไปราวครึ่งศตวรรษ กษัตริย์พราหมณ์ราชวงศ์ศุงคะล้มราชวงศ์โมริยะ/เมารยะของพระเจ้าอโศกลง ตั้งราชวงศ์ใหม่ของตนแล้ว ได้กำจัดกวาดล้างพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่ และครองอำนาจอยู่ยาวนานประมาณ ๑ ศตวรรษ (ราว ๑๘๔-๗๒ ปี ก่อน ค.ศ.)

ครั้งหลังสุด ประมาณ ค.ศ.1200 (พ.ศ.๑๗๐๐) กองทัพมุสลิมเตอร์กส์ยกมารุกรานแย่งชิงดินแดนถึงอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา นอกจากยึดครองบ้านเมืองแล้ว ก็แผ่ศาสนาอิสลามไปด้วย

กองทัพมุสลิมเตอร์กส์ได้บุกเผาวัดวาอาราม ทำลายมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ฆ่าฟันชาวพุทธทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ โดยบังคับให้หันไปนับถือศาสนาอิสลาม ดังตัวอย่างเรื่องราวในประวัติศาสตร์ตอนนั้น ที่นักประวัติศาสตร์มุสลิมเขียนไว้เองด้วยความภาคภูมิใจ และชาวตะวันตกได้แปลมาว่า

กลางเมืองนั้น มีวิหารหนึ่ง ซึ่งใหญ่โตและมั่นคงแข็งแรงยิ่งกว่าวิหารอื่นทั้งหลาย อันไม่อาจบรรยายหรือพรรณนาให้เห็นภาพได้

ดังนั้น สุลต่านจึงเขียนแสดงความรู้สึกทึ่งไว้ว่า: ถ้าบุคคลผู้ใดปรารถนาจะสร้างอาคารที่ใหญ่โตอย่างนี้ เขาจะมิอาจทำสำเร็จได้ หากมิใช้ทรัพย์เป็นแสนเหรียญแดง และถึงแม้จะใช้ช่างที่ชำนาญมีความสามารถที่สุด ก็จะต้องใช้เวลาสร้างถึง ๒๐๐ ปี . . .

แล้วสุลต่านก็ออกคำสั่งให้เอาน้ำมันจุดไฟเผาวิหารทุกแห่งเสียให้ราบเรียบเสมอผืนแผ่นดิน . . . อิสลามหรือความตาย (อย่างใดอย่างหนึ่ง) เป็นทางเลือกที่มหะมุดมอบให้แก่คนทั้งหลาย . . . ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่นั้นเป็นพราหมณ์ศีรษะโล้น (คือพระภิกษุ) คนเหล่านั้นถูกสังหาร

ณ ที่นั้นได้พบหนังสือจำนวนมากมาย และเมื่อชาวนักรบมูฮัมมัดได้เห็น จึงให้เรียกหาคนมาอธิบายเนื้อความ แต่คนเหล่านั้นได้ถูกฆ่าตายเสียหมดแล้ว ปรากฏว่าเมืองทั้งหมดนั้นคือสถานศึกษาแห่งหนึ่ง . . .

ประชาชนทั้งหลายนั้น บ้างก็ถูกเผา บ้างก็ถูกฆ่า . . .

ข้อนี้เป็นหลักการแห่งบรรพบุรุษทั้งหลายของข้าฯ นับแต่สมัยแห่งอาซาดุลลา ฆาลิบ จนถึงบัดนี้ ให้เปลี่ยนคนที่ไม่มีศรัทธาทั้งหลาย ให้หันมาถือพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียว และพระศาสนาแห่งมุซุลมาน ถ้าคนเหล่านั้นยอมรับนับถือศาสนาของเรา ก็ถูกต้อง และเป็นการดี แต่ถ้าเขาไม่ยอมรับ เราก็ลงดาบสังหารเขา . . .

กองทัพของมูฮัมมัดได้เริ่มฆ่าฟันสังหาร ทั้งข้างขวา ทั้งข้างซ้าย โดยมิต้องปรานี จนทั่วผืนแผ่นดินอันสกปรกนั้น เพื่ออิสลาม และโลหิตก็ได้หลั่งไหลดังสายธาร เหล่านักรบได้ขนรวมเอาทองและเงินมากมายสุดจะคิดคำนวณได้ . . .

หลังจากฟาดฟันสังหารสุดจะคณนานับได้ มือของท่านและเหล่าสหาย ก็นับมูลค่าแห่งทรัพย์สินที่ได้ขนรวมมา จนเหน็บจนชาไป

เมื่อได้มีชัยโดยสมบูรณ์แล้ว ท่านก็กลับมาเล่าแถลงเรื่องราวแห่งชัยชนะที่ได้มาเพื่ออิสลาม ทุกคนไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อย ก็ได้พร้อมกันแสดงความชื่นชมยินดี และขอบคุณพระเจ้า”1

นับแต่นั้น พุทธศาสนาที่รุ่งเรืองมา ๑๗๐๐ ปี ก็ได้สูญสิ้นไปจากชมพูทวีป

แต่ทั้งนี้ชาวพุทธจะต้องเข้าใจถึงความสูญสิ้นของพุทธศาสนานี้ ว่ามิใช่เพราะเหตุที่ถูกกองทัพมุสลิมทำลายอย่างเดียว แต่จะต้องมองถึงความเสื่อมโทรมในวงการพุทธศาสนาเองด้วย ซึ่งการทำลายของกองทัพมุสลิมนี้เป็นการลงดาบครั้งสุดท้าย

อีกทั้งจะต้องเรียนรู้กระบวนการของศาสนาฮินดูในการกลืนพุทธศาสนาประกอบด้วย

พึงสังเกตว่า กษัตริย์พราหมณ์ที่โค่นราชวงศ์โมริยะ/เมารยะ ก็คือพราหมณ์ที่เป็นอำมาตย์ข้าราชการในราชสำนักของราชวงศ์โมริยะ/เมารยะ ของพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง

ในยุคราชวงศ์โมริยะ พระเจ้าอโศกกษัตริย์พุทธได้เริ่มให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาไว้ และมิใช่เพียงให้เสรีภาพ แต่ยิ่งกว่านั้นอีก คือทรงอุปถัมภ์บำรุงทุกลัทธิศาสนา ตลอดกระทั่งว่าพราหมณ์เองก็เป็นอำมาตย์ในราชสำนัก

แต่แล้วอำมาตย์พราหมณ์เหล่านี้ก็ทำลายราชวงศ์ของพระองค์ และเมื่อขึ้นครองอำนาจแล้ว ก็ทำสิ่งที่ตรงข้ามกับการให้เสรีภาพและทำนุบำรุงทุกศาสนา คือกลับกำจัดกวาดล้างพุทธศาสนา ถึงขนาดที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า ได้ให้ค่าหัวชาวพุทธทีเดียว

1Elliot, The History of India As Told by Its Own Historians (Calcutta, 1952ff.) [คัดบางส่วนมาอ้างใน A. K. Warder, Indian Buddhism (Delhi: Motilal Banarsidass, 1980), pp.506-508]
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.