ดังได้กล่าวแล้วว่า การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (scientific revolution) และยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment) นั้น พ่วงติดมาด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 และสำหรับประชาชนทั่วไป ความสนใจใฝ่นิยมวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมากมาย ก็เพราะมองเห็นความหวังที่วิทยาศาสตร์จะมาช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่อุตสาหกรรม
การปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้ทำให้ระบบอาณานิคมก้าวขึ้นสู่ยุคใหม่ การครอบครองอาณานิคมใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วดังได้กล่าวแล้ว
ข้อที่สำคัญก็คือ ดินแดนอาณานิคมเหล่านี้ได้ถูกจัดสรรควบคุมให้มาสนองระบบอุตสาหกรรม ด้วยการเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบและอาหาร และเป็นตลาดระบายสินค้าอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่ประเทศตะวันตก และทำให้ประเทศเจ้าอาณานิคมเหล่านั้น สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมได้อย่างสัมฤทธิ์ผล
พร้อมกันนี้ สังคมเมือง และวัฒนธรรมเมืองก็เจริญเฟื่องฟู มีเมืองน้อยเมืองใหญ่เกิดผุดโผล่แผ่ขยายทั่วไป ซึ่งถือกันว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญของยุคอุตสาหกรรม
ระบบอุตสาหกรรมทำให้ต้องมีการจัดสรรระบบการทำงานด้วยการแบ่งงานกันทำอย่างซอยละเอียด
ความคิดของอาดัม สมิธ (Adam Smith, 1723-1790) ที่เขียนไว้ในหนังสือ The Wealth of Nations ในปี 1776 ได้พัฒนาทฤษฎีการแบ่งงาน (division of labor) และการจำแนกความชำนาญพิเศษในทักษะเฉพาะด้าน (specialization of skills) ซึ่งถือว่าช่วยให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว
เรื่องนี้ปรากฏเป็นผลสำเร็จในทางปฏิบัติ เมื่อนายเฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford, 1863-1947) และเทย์เลอร์ (Frederick W. Taylor, 1856-1915) นำความคิดนั้นมาประยุกต์ใช้ให้เป็นการปฏิบัติจริง ในสหรัฐอเมริกา
ควบคู่กับการแบ่งงานและความชำนาญงานเฉพาะด้านในวงการอุตสาหกรรมนั้น เมื่อวิทยาการทั้งหลายเจริญมากขึ้น ก็ได้มีแนวโน้มในการแตกย่อยศาสตร์ต่างๆ ออกไปเป็นสาขาแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน (specialization) มากขึ้นๆ
เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาและรุ่งเรืองเฟื่องฟู วิทยาการต่างๆ แม้ที่เป็นเรื่องทางสังคมและวัฒนธรรม ก็ปรารถนาจะมีความเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย จึงนำเอาวิธีวิทยาศาสตร์ไปใช้และได้เกิดมีวิชาจำพวกใหม่ที่เรียกว่าสังคมศาสตร์ ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 อย่างที่กล่าวข้างต้น
ต่อมา วิชาจำพวกมนุษยศาสตร์ (the humanities) ที่ครองความเป็นใหญ่อยู่เดิมก็สูญเสียสถานะไป วิชาจำพวกวิทยาศาสตร์ธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์กายภาพ (natural sciences หรือ physical sciences) และสังคมศาสตร์ (social sciences) ก็ขึ้นมาครองความสำคัญแทนที่สืบมา
วิชาการ ๒ หมวดนี้ เมื่อเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแล้ว ก็แตกสาขาย่อยออกไปเป็นความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านเฉพาะทางอย่างหลากหลาย
พร้อมกันนั้น การศึกษาในมหาวิทยาลัยก็มีการแตกสาขาย่อยของวิชาการที่เล่าเรียนซอยละเอียดออกไป และให้ปริญญาเฉพาะสาขามีชื่อต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย (ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา มีการให้ปริญญาชื่อต่างๆ มากกว่า ๑,๕๐๐ สาขา) จึงยิ่งทำให้วิชาการต่างๆ เจาะลึกดิ่งลงไปในแนวทางของความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น
โดยนัยนี้ก็ได้มีความเชี่ยวชาญศาสตร์เฉพาะด้าน (scientific specialization) และความชำนาญวิชาการเฉพาะสาขา (academic specialization) มาเข้าคู่กับความชำนาญงานเฉพาะทาง (specialization of skilled labor) และความชำนาญเฉพาะด้านทางอุตสาหกรรม (industrial specialization)
ถือกันว่าโลกได้เข้าสู่ยุคแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน (age of specialization) ซึ่งมีการกล่าวเชิงทำนายว่า วิถีชีวิตของประชาชนจะอยู่ใต้กำกับของผู้ชำนาญการ (specialists) และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ (experts) มากขึ้นๆ
ว่าโดยสรุป นับแต่เกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ประเทศตะวันตกก็ได้เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (modern age)1 อุตสาหกรรมได้เข้ามาเป็นตัวกำหนดยุคสมัยและเป็นเกณฑ์วัดอารยธรรม ดังที่ถือว่า สังคมสมัยใหม่ (modern society) ก็คือสังคมอุตสาหกรรม (industrial society)
อุตสาหกรรมทำให้เกิดมีเมืองน้อยใหญ่มากมาย และเมืองก็ขยายใหญ่โตอย่างรวดเร็ว วิถีชีวิตแบบชาวเมืองแพร่ไปทั่ว ความเป็นอยู่ที่ดำเนินตามแบบแผนขนบประเพณียึดถือตามข้อกำหนดของศาสนาก็เปลี่ยนไป ผู้คนมีชีวิตแบบคนห่างศาสนา (secularism)
ตัวกำกับวิถีชีวิตของคนและสังคม เปลี่ยนจากศาสนาคริสต์มาเป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม
เมื่อชาวตะวันตกผู้ถือตนว่าพัฒนาแล้ว มองเทียบตนเองกับประเทศที่ล้าหลัง ก็วัดการพัฒนานั้นด้วยอุตสาหกรรม โดยถือว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed country) ก็คือประเทศอุตสาหกรรม (industrialized country) ส่วนประเทศใดยังไม่เป็นอุตสาหกรรม ก็ถือว่ายังไม่พัฒนา
บทบาทและอิทธิพลของบาทหลวงและศาสนาจารย์แห่งคริสต์ศาสนา แม้จะลางเลือนไปจากสังคมอุตสาหกรรมหรือสังคมที่พัฒนาแล้วในประเทศตะวันตก ก็ยังมีเวทีที่แสดงในประเทศห่างไกลที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา (underdeveloped or developing countries) โดยทำหน้าที่ของนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ พร้อมทั้งเป็นตัวแทนของประเทศอุตสาหกรรม นำเอาความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ไปให้แก่ผู้คนในประเทศอาณานิคมเป็นต้น
แม้ว่าเจตนาโดยรวมจะมุ่งใช้ความเจริญสมัยใหม่นั้นเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ศาสนาของตน (เอาพระเจ้าสมัยใหม่มาช่วยเป็นพาหะให้พระเจ้าองค์เก่าโดยสารไป) และแม้จะมีปมความพัวพันกับลัทธิอาณานิคม แต่นักเผยแพร่หลายท่านก็ทำงานบำเพ็ญประโยชน์แก่ชนในท้องถิ่นล้าหลังห่างไกล ด้วยศรัทธาและเมตตากรุณาอย่างอุทิศตัว