หลังจากความล้มเหลวในการที่จะป้องกันคอมมิวนิสต์ไม่ให้เข้าครองอำนาจในอินโดจีนแล้ว สหรัฐก็เริ่มเปลี่ยนบทบาทของตนในเอเชียเสียใหม่ โดยเฉพาะ คือ เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับประเทศจีน โดยหันไปรับรองรัฐบาลปักกิ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1979 ขณะที่ทางฝ่ายจีนก็มีความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตในทางเสื่อมทรามลง
ความเป็นไปเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า เมื่อกำลังความยึดถือลัทธินิยมอุดมการณ์เบาลง ความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์และอำนาจก็เข้ามามีบทบาทได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า เมื่อความแตกต่างในด้านลัทธิอุดมการณ์ยังมีอยู่ ความสัมพันธ์นั้นก็แฝงความไม่ไว้วางใจอยู่ด้วยภายใน
ในด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศในยุโรปบอบช้ำอยู่ และต้องฟื้นฟูประเทศชาติกันใหม่ อุตสาหกรรมของสหรัฐก็เหมือนกับได้โอกาสที่จะขยายตัวอย่างมากและรวดเร็ว
ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐ ภายใน ๕ ปี นับแต่ ค.ศ. 1945 ได้เพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่าตัว ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น เฟื่องฟูมาก
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นซึ่งแม้จะพ่ายแพ้ ประสบความพินาศย่อยยับจากสงครามนั้น และต้องสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่ แต่ก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ปรากฏว่า เมื่อถึงช่วงปลายแห่งทศวรรษ 1970s ญี่ปุ่นก็ได้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจแห่งตะวันออกไกล และต่อมาก็ได้กลายเป็นคู่แข่งของสหรัฐในเวทีเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก
ครั้นถึงทศวรรษแห่ง ค.ศ. 1980s ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ซึ่งตามอย่างญี่ปุ่น ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเสือเศรษฐกิจ ("tiger" economies) ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ (จนกระทั่งมากลายเป็นเสือป่วย ใน ค.ศ.1997)
ประเทศน้อยใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งส่วนมากเคยเป็นอาณานิคมของประเทศใหญ่ในยุโรปมาก่อน เมื่อถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แม้จะหลุดจากความเป็นอาณานิคม และพ้นจากอำนาจควบคุมทางการเมือง มามีรัฐบาลปกครองตนเองแล้ว แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเจ้าอาณานิคมเดิมต่อมา โดยมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนาที่ปรารถนาจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม
ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว เป็นฝ่ายนำเข้าวัตถุดิบ เช่น แร่ธาตุ ตลอดจนอาหารและสินค้าการเกษตรอย่างอื่น และส่งออกซึ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำเร็จรูป ซึ่งมักเป็นไปในรูปของการซื้อถูก-ขายแพง
ส่วนประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งปรารถนาจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม ส่วนมากแม้จะทำการผลิตอย่างประเทศอุตสาหกรรมไม่ได้ แต่ก็พยายามบริโภคอย่างหรือยิ่งกว่าประเทศอุตสาหกรรม จึงเป็นฝ่ายนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำเร็จรูป และส่งออกวัตถุดิบและสินค้าภาคเกษตร ตลอดจนผลิตภัณฑ์มูลฐานที่สืบมาตามประเพณี ในลักษณะที่เป็นการซื้อแพง-ขายถูก
ประเทศอุตสาหกรรมเหล่านั้น ซึ่งแท้จริง เป็นฝ่ายพึ่งพา แต่สามารถจัดสรรรูปลักษณะความสัมพันธ์ให้กลับเป็นตรงข้ามได้ คือ ประเทศกำลังพัฒนา กลายเป็นฝ่ายพึ่งพาประเทศอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว ยังคงมีอำนาจบังคับควบคุมประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย อันเป็นลักษณะความสัมพันธ์อย่างอาณานิคมอีกแบบหนึ่ง
ดังที่มีนักวิชาการของตะวันตกกล่าวว่า “ระบบอาณานิคมทางเศรษฐกิจ ได้เข้ามาแทนที่ระบบอาณานิคมทางการเมือง” — “Economic colonialism replaced political colonialism.” (“Europe: International Relations,” Compton's Interactive Encyclopedia, 1997)
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบที่ว่านี้ ประเทศที่กำลังพัฒนา อาจผูกพันอยู่กับประเทศเจ้าอาณานิคมของตนแต่เดิมก็ได้ อาจจะขยายหรือเปลี่ยนไปสัมพันธ์กับประเทศอุตสาหกรรมอื่นก็ได้ และแม้ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่เคยเป็นอาณานิคมมาก่อนเลย ก็อาจจะมามีความสัมพันธ์แบบนี้กับประเทศอุตสาหกรรมที่ไหนก็ได้ ดังนั้น ระบบอาณานิคมทางเศรษฐกิจจึงแผ่กว้างขวางครอบคลุมไปทั่ว
นอกจากนี้ ภายใต้ระบบอาณานิคมทางเศรษฐกิจนั้น อิทธิพลครอบงำทางการเมืองก็แฝงตัวเข้าไปด้วยอย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้ ทวีปเอเชียและดินแดนในโลกที่สาม (Third World) คือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย จึงเป็นเวทีแข่งขันแห่งการแผ่ขยายอิทธิพลระหว่างประเทศมหาอำนาจสองค่าย คือ ตะวันตกกับตะวันออกนั้นสืบมา