มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ
ที่ท้าทายต่อหลักการของประชาธิปไตย

เรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า การอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างศาสนามีตัวอย่างอยู่ในอดีต เป็นเวลาตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว พระเจ้าอโศกนี้ แค่ ๒๐๐ กว่าปีหลังพุทธกาล เท่ากับ ๒,๓๐๐ ปีแล้ว แต่มนุษย์ไม่สามารถสืบทอดรักษา หรือแพร่ขยายท่าทีนี้ออกไปให้สำเร็จได้

จึงเป็นเรื่องที่มนุษย์จะต้องมาคิดพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป โดยเฉพาะในยุคนี้เรามีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย จะต้องปฏิบัติให้ได้ตามหลักการนี้ คือทำอย่างไรจะให้คนที่แตกต่างกันอยู่ด้วยกันได้ เวลานี้กลายเป็นเรื่องยากที่สุด

ภัยของมนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ ที่ใหญ่ที่สุดมี ๒ อย่าง ที่จะทำให้มนุษยชาติอยู่ได้หรือไม่ได้

๑. ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่มนุษย์ยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งประเทศตะวันตกตื่นตัว กลัวเกรงภัยอันตรายมาก บางทีก็คิดว่าโลกอาจจะไปไม่รอด อาจจะถึงกับพินาศ มีการประชุมระดับโลกเรียกว่า “Earth Summit” ประชุมมา ๒ ครั้งแล้ว ในปี 1972 และ 1992

ในช่วงเวลา ๒๐ ปี ระหว่างครั้งที่ ๑ กับครั้งที่ ๒ นี้ เขาสรุปออกมาว่า ทั้งๆ ที่มนุษย์ตื่นตัว แต่ก็แก้ปัญหาหรือยับยั้งเรื่องความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม หรือภัยอันตรายแก่สิ่งแวดล้อม ไม่ได้ผล คือไม่ดีขึ้นเลย แต่กลับทรุดโทรมหนักลงไป ภัยอันตรายจะครอบงำมนุษย์ต่อไป

๒. ความแตกแยกระหว่างหมู่ชน ที่แบ่งกันไปด้วยเหตุการนับถือลัทธิศาสนา ด้วยเหตุแบ่งผิวชาติชั้นวรรณะ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยผู้นำ ได้ชื่อว่าเป็น “melting pot” คือเบ้าหลอมให้คนรวมเป็นอันเดียวกัน เวลานี้ เบ้าหลอมก็แตกแล้ว

คติประชาธิปไตย มี ๓ ข้อ

๑) เสรีภาพ (liberty)

๒) สมภาพ/สมานภาพ/ความเสมอภาค (equality)

๓) ภราดรภาพ (fraternity)

หลักทั้งสามนี้ว่ากันมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution, ค.ศ.1789/พ.ศ.๒๓๓๒) แต่ตอนหลังๆ นี้ ไม่มีใครพูดถึงภราดรภาพ พูดถึงแต่เสรีภาพกับความเสมอภาค และเสรีภาพก็มิใช่เพื่อจะมาอยู่ร่วมกัน แต่เป็นเสรีภาพเพื่อแก่งแย่งผลประโยชน์กัน

เสรีภาพเพื่อฉันต้องเอาให้ได้เท่าที่ฉันต้องการ เสมอภาคเพื่อจะให้คนอื่นจะต้องได้ไม่มากกว่าฉัน ถ้าแกได้ ๕๐๐ ฉันต้องได้ ๕๐๐ นี้เรียกว่าเสรีภาพและเสมอภาคแบบทุนนิยม คือเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ ที่จริงมันมิใช่ประชาธิปไตยแท้

ในประชาธิปไตยที่แท้ เสรีภาพ คือการที่คนมีโอกาสนำเอาศักยภาพของตน เช่นความรู้ความสามารถและสติปัญญา มาร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคม อันนี้คือเสรีภาพในความหมายเดิม

ถ้ามนุษย์ไม่มีเสรีภาพ ทั้งๆ ที่ตัวเองมีความรู้ มีสติปัญญาความสามารถ แต่สติปัญญาความรู้ความสามารถของเขาก็ไม่สามารถแสดงตัวออกมาเป็นประโยชน์แก่สังคมได้ เราจึงให้มีเสรีภาพ ซึ่งในความหมายเดิมเป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์สังคม

ส่วนความเสมอภาคก็คือ การมีโอกาสเท่าๆ กัน โดยเฉพาะการร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน ซึ่งเป็นเชิงสามัคคี และเชิงให้ คือเสรีภาพที่จะให้แก่สังคม และความเสมอภาคที่จะมาประสานอยู่ร่วมกัน อย่างที่ทางพระเรียกว่า “สมานสุขทุกขตา” แปลว่ามีสุขทุกข์เสมอกัน คือร่วมสุขร่วมทุกข์ ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง และไม่เอาเปรียบกัน

ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเกิดภราดรภาพ คือความเป็นพี่เป็นน้อง ภราดรภาพ คือความสามัคคี มีเอกภาพ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยให้บุคคลทุกคนใช้เสรีภาพและความเสมอภาคในการร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามมีสันติสุขได้เต็มที่

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.