มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความขัดแย้งผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่
กลับมาประสานกับความขัดแย้งทางลัทธินิยมอุดมการณ์

พอสงครามสิ้นสุดลง ขณะที่ประเทศซึ่งเป็นแกนนำของสงครามกำลังบอบช้ำอยู่ สหภาพโซเวียตก็เริ่มแผ่อิทธิพลขยายอำนาจออกไป ซึ่งหมายถึงการแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสม์นั่นเอง

ดินแดนที่รัสเซียสูญเสียไป สืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ช่วง 1919-1921) ก็ได้คืนมา ประเทศในยุโรปตะวันออกก็กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ หรืออยู่ในข่ายอำนาจของสหภาพโซเวียต จนกระทั่งคอมมิวนิสต์ได้คุมอำนาจในยุโรปภาคกลางและภาคตะวันออกเกือบทั้งหมด

สหภาพโซเวียตดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของตนโดยไม่ยอมร่วมมือหรือรับฟังประเทศอื่นๆ ในยุโรป และแม้แต่สหประชาชาติ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น (๕๐ ประเทศลงนามรับรองกฎบัตรที่เมืองซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 1945 และมีผลบังคับในวันที่ 24 ตุลาคม 1945) เพื่อส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาเศรษฐกิจ

ด้วยความหวาดกลัวต่อการแผ่ขยายอำนาจของโซเวียต ซึ่งหมายถึงการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสม์ และการเข้ามาควบคุมจัดการกับยุโรปตะวันออก สหรัฐก็เลิกนโยบายที่แยกตัวโดดเดี่ยวจากยุโรป แล้วเข้ามาในเวทีการเมืองระหว่างประเทศของยุโรป

ดังปรากฏว่าใน ค.ศ.1947 สหรัฐได้ประกาศหลักการทรูแมน (Truman Doctrine) ซึ่งมุ่งล้อมจำกัดการขยายอำนาจของโซเวียต แล้วต่อมาก็เสนอแผนการมาร์แชลล์ (Marshall Plan) เพื่อช่วยให้ ยุโรปฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ต่อมาความขัดแย้งที่สหรัฐต้องเข้าเกี่ยวข้องก็ยิ่งมากขึ้น เช่น โซเวียตได้ทำการต่างๆ ในการปิดกั้นขัดขวาง เพื่อให้สัมพันธมิตรสละเยอรมนี

การขึ้นสู่ความเป็นอภิมหาอำนาจ และการเผชิญหน้ากันระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา ได้ทำให้ยุโรปแบ่งเป็นตะวันตกกับตะวันออกอย่างชัดเจน

ยุโรปตะวันตกได้รับความช่วยเหลือตามแผนการมาร์แชลล์อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ ส่วนยุโรปตะวันออกก็มีระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ภายใต้อาณัติของโซเวียต

การขัดแย้งแข่งขันชิงชัยกันดำเนินไปในภาวะที่เรียกว่า สงครามเย็น (Cold War) ระหว่างโลกสองค่าย คือ คอมมิวนิสต์กับเสรีประชาธิปไตย ซึ่งขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นมาก ในช่วง ค.ศ. 1948 -1953

การสู้รบกันระหว่างประเทศทั้งหลายในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น นอกจากเป็นการแข่งอำนาจแย่งชิงความเป็นใหญ่ (มานะ) และการหวงแหนแก่งแย่งผลประโยชน์ (ตัณหา) กันแล้ว ก็ได้มีเรื่องของลัทธินิยมอุดมการณ์ (ทิฏฐิ) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ดังที่เมื่อมองในแง่นี้ สงครามในยุโรปก็เป็นการต่อสู้กันระหว่างลัทธิประชาธิปไตย (democracy) ลัทธินาซี (Nazism) และ ลัทธิคอมมิวนิสม์ (Communism)

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง และลัทธินาซีก็จบสิ้นไปด้วยแล้ว การขัดแย้งใหม่ก็เริ่มขึ้น และเกิดเป็นสงครามเย็น (Cold War) ระหว่างโลก ๒ ค่าย คือ เสรีประชาธิปไตย กับ สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ดังได้กล่าวแล้ว

ทั้งนี้จุดเด่นที่สำคัญคือ คราวนี้ ความขัดแย้งในด้านลัทธินิยมอุดมการณ์ (ทิฏฐิ) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นตัวชู ส่วนการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจ (มานะ) และแย่งชิงผลประโยชน์ (ตัณหา) แม้จะยังมีความสำคัญมาก แต่ก็กลายเป็นปัจจัยแฝงเร้นหรือเป็นตัวประกอบไป

อนึ่ง ในแง่ลัทธินิยมอุดมการณ์ (ทิฏฐิ) นั้นเอง ความเชื่อถือในลัทธิศาสนา ซึ่งเคยเป็นตัวชูที่ผลักดันสงครามและความรุนแรงในความขัดแย้งของยุคก่อนๆ ในยุโรป และระหว่างยุโรปกับตะวันออกกลาง ได้ลดความสำคัญลงไป จนแทบจะหมดความหมาย

ส่วนลัทธินิยมในด้านการถือพงศ์เผ่าหรือชาติพันธุ์ (racism) ก็ลดความสำคัญลงเช่นเดียวกัน โดยเป็นปัจจัยแฝงเร้นที่พร้อมจะรุนแรงระเบิดขึ้นมาได้ต่อไป

ต่อจากสนามขับเคี่ยวในยุโรป การต่อสู้ก็ขยายมาทางเอเชียด้วย ในปี 1949 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ฝ่ายสัมพันธมิตรรวมดินแดนเยอรมันในความยึดครองของตน ตั้งเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Republic of Germany) หรือเยอรมันตะวันตก และฝ่ายคอมมิวนิสต์ตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (German Democratic Republic) หรือเยอรมันตะวันออก

ในปีเดียวกันนั้นเอง คอมมิวนิสต์ซึ่งรบชนะในจีน ก็ตั้งประเทศจีนเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน (People's Republic of China) และในปีต่อมา จีนก็หนุนเกาหลีเหนือเข้ารบกับเกาหลีใต้

อเมริกาพร้อมด้วยประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติก็เข้าช่วยเกาหลีใต้ เกิดสงครามเกาหลีตั้งแต่ 25 มิถุนายน 1950 จนมาเซ็นสัญญาสงบศึก ณ 27 กรกฎาคม 1953

ชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในจีน และสงครามเกาหลี ได้เป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายต่อสู้ป้องกันอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ในเอเชียอย่างเต็มที่ และเพราะเหตุที่ญี่ปุ่นก็หมดอำนาจไปแล้วจากการแพ้สงครามโลก อิทธิพลทั้งทางการเมืองและการทหารของอเมริกาก็แผ่ขยายออกไปในเอเชีย

ต่อมา สหรัฐก็ได้ทุ่มเทกำลังทรัพย์และกำลังทางทหารเป็นอันมาก เพื่อป้องกันไม่ให้คอมมิวนิสต์เข้าครองอำนาจในอินโดจีน เนื่องจากว่า เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในสงครามอินโดจีน (1945-1954) และเวียดนามได้ถูกแบ่งแยกเป็นเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ในปี 1954 แล้ว กองโจรคอมมิวนิสต์เวียดกงก็ได้พยายามยึดอำนาจในเวียดนามใต้เรื่อยมา

สหรัฐได้เข้าช่วยรัฐบาลเวียดนามใต้ตั้งแต่ปี 1961 แต่ในที่สุด คอมมิวนิสต์ก็เป็นฝ่ายชนะ โดยได้เข้ายึดเวียดนามใต้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 1975 แล้วรวมเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้เป็นประเทศเดียวกัน ภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์ (รวมเป็นทางการในปี 1976)

การรบระหว่างเวียดกงและเวียดนามเหนือ กับเวียดนามใต้และอเมริกา ได้ทำให้เกิดความพินาศสูญเสียอย่างมากมาย คนอเมริกันตายไป ๕๘,๐๐๐ คน บาดเจ็บ ๓ แสน ๓ พันคน ทหารเวียดนามใต้ตายประมาณ ๒ แสนคน บาดเจ็บประมาณ ๕ แสนคน ทหารเวียดนามเหนือและเวียดกงตายประมาณ ๙ แสนคน พลเรือนเวียดนามเหนือ-ใต้ตายกว่า ๑ ล้านคน

อเมริกาใช้จ่ายเงินไป ๓ เท่าของค่าใช้จ่ายในการทิ้งระเบิดทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่ ๒ คิดเป็นจำนวนเงินได้เกินกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ล้านดอลล่าร์

ในระยะใกล้เคียงกันนั้น คอมมิวนิสต์ก็ยึดพนมเปญได้ ในวันที่ 17 เมษายน 1975 และประเทศกัมพูชาก็เปลี่ยนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ เรียกว่า “กัมพูชาประชาธิปไตย” (Democratic Kampuchea)

จากนั้นอีก ๔ เดือน คอมมิวนิสต์ประเทศลาวก็เข้าปลดปล่อยเมืองเวียงจันทน์ได้ในวันที่ 23 สิงหาคม 1975 และตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao People’s Democratic Republic) ขึ้นในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้น

ในประเทศเขมร นายพอลพต ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย ได้ดำเนินการที่จะเปลี่ยนประเทศกัมพูชาเสียใหม่ ให้เป็นไปตามคติแห่งลัทธิมาร์กซิสม์

ด้วยความคลั่งไคล้ในลัทธินิยมอุดมการณ์นั้น นายพอลพตได้สังหารคนเขมรที่มีการศึกษาและมีความรู้ความสามารถเสียเกือบทั้งหมด และบังคับคนในเมืองให้ออกไปหักร้างถางพงทำการเกษตรในชนบท เป็นเหตุให้คนเขมรล้มตายไปประมาณ ๒ ล้านคน (บางแห่งว่า ๑ ล้านคน บางแห่งว่า ๑.๕ ล้านคน) รวมทั้งพระภิกษุประมาณ ๘๐,๐๐๐ รูป ทำให้เขมรสูญเสียกำลังคนระดับสมองและฝีมือไปทั้งหมด

จนกระทั่งเมื่อเขาครองอำนาจได้ ๔ ปี พอถึงปี 1979 กองทัพเวียดนามก็ได้เข้ามาขับไล่เขมรแดงออกไป และตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้น แล้วดำเนินงานฟื้นฟูด้านต่างๆ รวมทั้งตั้งคณะสงฆ์เขมรขึ้นใหม่ด้วย แต่ก็ทำได้ยาก เพราะขาดแคลนกำลังคน

กรณีของนายพอลพต (อุดมการณ์ หรือทิฏฐิ ด้านลัทธิเศรษฐกิจ และการเมือง) และกรณีของฮิตเลอร์ (อุดมการณ์ หรือทิฏฐิ ด้านลัทธินิยมชาติพันธุ์) เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การยืดถือลัทธินิยมอุดมการณ์ต่างๆ หรือทิฏฐินั้น อาจก่อภัยพิบัติได้รุนแรงยิ่งกว่าการแย่งชิงผลประโยชน์ด้วยตัณหา และการแก่งแย่งอำนาจความยิ่งใหญ่ด้วยมานะเสียอีก

ทั้งนี้เพราะว่า ผลประโยชน์และอำนาจอยู่นอกตัวคน ถ้าเขาได้ผลประโยชน์หรืออำนาจนั้นแล้ว และถ้าตัวคนไม่เป็นเครื่องขวางกั้นผลประโยชน์หรืออำนาจของเขา เขาก็ไม่จำเป็นต้องกำจัด แต่ทิฏฐิ หรือลัทธินิยมนั้น อยู่ในตัวคน ถ้าเขาไม่เปิดใจกว้าง ก็จะต้องกำจัดตัวคนที่มีทิฏฐิไม่เหมือนกับเขานั้นเสียเลยทีเดียว

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.