มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ลัทธิอาณานิคมของประเทศตะวันตก
เผยแพร่ศาสนา พร้อมกับหาเมืองขึ้น

ยุคอาณานิคมสมัยใหม่ (modern colonialism) เริ่มต้นเมื่อใกล้จะขึ้นสู่คริสต์ศตวรรษที่ 16

การล่าอาณานิคมยุคนี้ เป็นการแผ่อำนาจของประเทศตะวันตก ซึ่งนับถือคริสต์ศาสนา

ฝรั่งเองพูดกันมาว่า การแสวงหาอาณานิคมมีเป้าหมายใหญ่ ๓ ประการ ดังที่พูดเป็นคำชุดว่า เพื่อ “…gold, God and glory”

พูดเป็นไทยเรียงลำดับใหม่ว่า เพื่อ แผ่ศาสนา - หาความมั่งคั่ง – ครองความยิ่งใหญ่

ยุคอาณานิคมของประเทศคริสต์เริ่มขึ้นในช่วงที่จักรวรรดิออตโตมาน ของเตอร์กส์มุสลิมกำลังเริ่มจะเสื่อมอำนาจ แต่กระนั้นก็ยังมีกำลังความยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะกีดกั้นไม่ให้ประเทศตะวันตกฝ่าเข้าไป จึงเป็นเหตุให้ประเทศตะวันตกเหล่านั้นต้องออกล่าเมืองขึ้นโดยทางทะเล ดังกล่าวแล้ว

ตอนแรกสเปนกับโปรตุเกสเป็นเจ้าใหญ่ในการล่าอาณานิคมก่อน แต่ก็ขัดแย้งกัน จึงปรากฏว่าใน ค.ศ.1493 สันตะปาปา อเลกซานเดอร์ ที่ ๖ (Pope Alexander VI) ได้ประกาศโองการกำหนดเส้นขีดจากขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้ แบ่งโลกนอกอาณาจักรคริสต์ออกเป็น ๒ ซีก

ทั้งนี้ให้ถือว่า ดินแดนใดก็ตามที่ไม่มีกษัตริย์คริสต์อื่นปกครอง ถ้าอยู่ในซีกตะวันตก ให้สเปนมีสิทธิครอบครองได้ทั้งหมด ถ้าอยู่ในซีกตะวันออก ให้โปรตุเกสเข้าครอบครองได้ทั้งหมด แต่กษัตริย์ โปรตุเกสไม่พอพระทัย

ต่อมา ทั้งสองฝ่ายได้มาประชุมกันที่เมืองตอร์เดซิลยาส ใน ค.ศ.1494 ขอขยับเส้นแบ่งออกไปจนตกลงกันได้ทั้งสองฝ่าย และเซ็นสัญญาตอร์เดซิลยาส (Treaty of Tordesillas) ซึ่งสันตะปาปาจูเลียสที่ ๒ (Pope Julius II) ประกาศโองการรับรองใน ค.ศ.1506

ต่อมาใน ค.ศ.1514 สันตะปาปาลีโอที่ ๑๐ (Pope Leo X) ก็ได้ประกาศโองการห้ามมิให้ประเทศอื่นใดเข้ายุ่งเกี่ยวกับดินแดนในครอบครองของโปรตุเกส

แต่เวลานั้น อำนาจของสันตะปาปาเริ่มเสื่อมลงแล้ว ดังที่ยุคปฏิรูปจะเริ่มขึ้นใน ค.ศ.1517 ประเทศมหาอำนาจอื่นในยุโรป โดยเฉพาะที่เป็นโปรเตสแตนต์ก็มิได้ยอมเชื่อฟัง

ต่อมา อังกฤษและฮอลันดาก็ออกล่าอาณานิคมบ้าง พอถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก็คุกคามอำนาจของโปรตุเกสมากขึ้น จนในที่สุดโปรตุเกสก็หมดอำนาจไป ประเทศอื่นๆ เช่นฝรั่งเศสก็ออกล่าอาณานิคมกันมากขึ้นด้วย

เมื่อเวลาผ่านไป แม้สเปนจะมีดินแดนอยู่มากในอเมริกาใต้ แต่ประเทศผู้ล่าอาณานิคมที่เด่นและแข่งอำนาจกันมาก ก็คือ อังกฤษ กับฝรั่งเศส และเมื่อถึงช่วงท้ายสุด แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะก้าวเข้ามาสู่วงการล่าอาณานิคมด้วยแล้ว แต่ประเทศที่ทรงอำนาจในลัทธิอาณานิคมมากที่สุด ก็คืออังกฤษ จนหมดยุคอาณานิคมไปไม่ช้าหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒

ในการล่าอาณานิคม นอกจากวัตถุประสงค์ในด้านการค้าและการเมืองแล้ว ก็พ่วงงานเผยแผ่ศาสนาคริสต์ไปด้วย บาทหลวง หรือมิชชันนารี หรือนักสอนศาสนาคริสต์ (missionary) จึงพัวพันกับงานล่าอาณานิคมมาโดยตลอด

บางทีนักสอนศาสนาคริสต์ก็เข้าไปก่อน และช่วยปูทางให้แก่การตั้งอาณานิคม บางแห่งงานทั้งสองอย่างก็ควบคู่กันไป แต่ก็มีบ้างในบางแห่งที่นักสอนศาสนาช่วยคุ้มครอง ไม่ให้นักล่าอาณานิคมหรือฝรั่งที่ปกครอง ไปข่มเหงรังแกชาวพื้นเมือง

สำหรับในถิ่นที่ต้องเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะในอาฟริกา การล่าอาณานิคมของฝรั่ง ก็หมายถึงการต้องเผชิญกับญิฮาด คือสงครามศักดิ์สิทธิ์ (Jihad หรือ holy war) ของฝ่ายมุสลิมด้วย

ประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ บางแห่งก็ว่า ลัทธิอาณานิคมของฝรั่ง ได้ช่วยคุ้มครองประชาชนไว้มิให้ต้องถูกฝ่ายมุสลิมบังคับด้วยญิฮาดให้ต้องไปถือศาสนาอิสลาม แต่บางแห่งก็ว่า ญิฮาดได้ช่วยให้ชาวมุสลิมต่อสู้ป้องกันลัทธิอาณานิคมของฝรั่ง

ถ้าพูดรวมๆ ก็คงเป็นอย่างที่ฝรั่งเขียนไว้ (“Roman Catholicism,” Britannica, 1997) ว่า

เป็นการยากที่คณะนักสอนศาสนาโรมันคาทอลิก จะแยกตนเองออกจากลัทธิอาณานิคม และนักสอนศาสนาจำนวนมากก็ไม่ต้องการจะแยกด้วย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.