มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การแข่งอำนาจ แย่งชิงผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่
ทำให้โลกแทบถล่มทลาย ลัทธิอาณานิคมเองก็ล่มสลาย เกิดระบบอำนาจใหม่

สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มต้น ณ วันที่ 1 กันยายน 1939 เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ และสิ้นสุด ในวันที่ 2 กันยายน 1945 เมื่อญี่ปุ่นลงนามยอมแพ้บนเรือรบมิสซูรี (Missouri) ของอเมริกัน ในอ่าวโตเกียว

ฝ่ายชนะ คือ สัมพันธมิตร (Allies) ประกอบด้วยอังกฤษ (พร้อมทั้งเครือจักรภพ) ฝรั่งเศส สหรัฐ สหภาพโซเวียต และจีน

ฝ่ายแพ้ คือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งเรียกว่า ฝ่ายอักษะ (Axis Powers)

นอกจากนี้ยังมีประเทศเล็กประเทศน้อยเข้าร่วมด้วยอีกจำนวนมาก

ในสงครามครั้งนี้ ก็เช่นเดียวกับครั้งก่อน สหรัฐเข้าร่วมสงครามภายหลัง คือเมื่อญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรืออเมริกันที่อ่าวเพอร์ล (Pearl Harbor) รัฐฮาไว ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 แล้ว อเมริกาจึงประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะ ในวันที่ 14 ธันวาคม 1941

ส่วนสหภาพโซเวียตก็เข้าร่วมสงครามก่อนอเมริกาเพียงไม่กี่เดือน คือในวันที่ 22 มิถุนายน 1941

แต่ฝ่ายอักษะก็ยังเป็นต่อมาอีกนาน จนถึงปลาย ค.ศ. 1942 ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเริ่มเป็นฝ่ายรุก จนกระทั่งเยอรมันยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ในวันที่ 7 พฤษภาคม 1945

ส่วนอีกด้านหนึ่ง เมื่ออเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณู ที่ฮิโรชิมา (6 สิงหาคม 1945) เมืองเรียบราบ คนตายไป ๑๓๐,๐๐๐ คน และนางาซากิ (9 สิงหาคม 1945) คนตายไป ๗๕,๐๐๐ คนแล้ว ญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้ในวันที่ 14 สิงหาคม 1945

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือ ลัทธิชาตินิยมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการถือชาติพันธุ์ ที่ทำให้ฮิตเลอร์ผู้มุ่งจะเชิดชูเผ่าอารยัน (Aryan race) ทำการฆ่าล้างโคตร (holocaust) สังหารชาวยิวในค่ายมรณะ (death camps หรือ extermination camps หรือ concentration camps) ไปกว่า ๖ ล้านคน

ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือ การสงครามทางอากาศได้เข้ามามีบทบาทโดดเด่น และมีการใช้กลยุทธ์ทิ้งระเบิดแบบกวาดทั่วบริเวณ (area bombing) โดยจงใจทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยในตัวเมือง ซึ่งเป็นการทำสงครามกับพลเรือน และได้เป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก

อังกฤษได้เน้นให้มุ่งใช้กลยุทธ์นี้กับเยอรมัน โดยมีการคาดว่า จะทำให้ประชากรเยอรมัน ๑ ใน ๓ ของทั้งประเทศไร้ที่อยู่ภายใน ๑๕ เดือน ปฏิบัติการจริงที่เกิดขึ้น เช่น ที่เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) ประชาชนเสียชีวิต ๔๐,๐๐๐ คน ไร้ที่อยู่อาศัยล้านคน

ที่เบอร์ลิน (ในช่วง พฤศจิกายน 1943 - มีนาคม 1944) เครื่องบินอังกฤษโจมตี ๒๐,๒๒๔ เที่ยวบิน แก้แค้นเยอรมัน โดยก่อความเสียหายแก่เบอร์ลินมากกว่าที่ทัพอากาศเยอรมันได้ทำแก่ลอนดอนมากมายหลายเท่า

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ กองทัพอากาศสหรัฐโจมตีกรุงโตเกียวด้วยระเบิดนาปาล์ม (napalm) ในวันที่ 9-10 มีนาคม 1945 คืนเดียว ทำลายเมืองหมดไป ๑ ใน ๔ พลเรือนตาย ๘๐,๐๐๐ ไร้ที่อยู่อาศัยล้านคน

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้คนสูญเสียชีวิตมาก ประมาณว่าตายถึง ๕๐ ล้านคน (ตำราทั้งหลายให้ตัวเลขต่างกัน ตั้งแต่ ๔๐ ถึง ๖๔ ล้านคน) แยกเป็น
- ทหารตาย ๑๕ ล้านคน และ
- พลเรือนตาย ๓๕ ล้านคน รวมทั้งยิวที่ถูกฆ่าในค่ายมรณะ (extermination camps) ของนาซี ๔-๖ ล้านคน

ประเทศที่สูญเสียประชากรมากที่สุดคือ สหภาพโซเวียต ซึ่งพลเมืองล้มหายตายไปประมาณ ๒๐ ล้านคน (ทหารตาย ๗.๕ ล้านคน)

ถือเป็นสงครามครั้งแรกที่พลเรือนเสียชีวิตมากกว่าทหารที่ไปรบอย่างมากมาย

พร้อมกันนี้ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นความเจริญก้าวหน้าในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งบทบาทของอุตสาหกรรม ในด้านการทำลาย ว่าสามารถก่อความพินาศได้ร้ายแรงเพียงใด

เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศในยุโรปที่เคยเป็นมหาอำนาจ ก็สิ้นสภาพความยิ่งใหญ่ ฝรั่งเศสก็หมดฐานะความเป็นผู้นำ อังกฤษประเทศเจ้าทุนใหญ่ แม้จะพ้นจากการเป็นสนามรบ แต่ในด้านเศรษฐกิจก็ได้ตกเป็นลูกหนี้ใหญ่ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

ยิ่งกว่านั้น หลังสงครามโลกแล้ว ประเทศอาณานิคมทั้งหลายก็ตื่นตัวพากันพยายามกู้อิสรภาพ อาณานิคมก็ค่อยๆ หมดไป

พูดคร่าวๆ ว่า ระบบอาณานิคม (colonialism) ได้หมดสิ้นไปภายใน ๓๐ ปี ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๗๕

เมื่อแหล่งทรัพยากรสำคัญหมดไป ประเทศในยุโรปที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมทั้งหมด ก็สูญสิ้นอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ พร้อมไปกับการสิ้นสุดแห่งยุคอาณานิคม

เมื่อประเทศใหญ่ในยุโรปอ่อนเปลี้ยหมดกำลังอย่างนี้ ประเทศที่ปรากฏเด่นเป็นเจ้าใหญ่ในเวทีโลกจึงมีเพียง ๒ ประเทศ คือสหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.