หันมากล่าวถึงดินแดนแห่งโลกใหม่ คืออเมริกา ซึ่งก็คือประเทศของคนที่อพยพมาจากทวีปยุโรป และก็เป็นที่รู้กันดีว่าสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้อพยพมา ก็คือ การหนีภัยบีบคั้นกำจัดหรือการห้ำหั่นบีฑาทางศาสนา (religious persecution) ในประเทศเดิมของตน
นอกจากฝรั่งเศส ที่พวกโปรเตสแตนต์ที่เรียกว่าฮิวเกนอตส์หนีภัยมาดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว อังกฤษก็เป็นแหล่งใหญ่ของผู้หนีภัยศาสนา เริ่มแต่พวกโปรเตสแตนต์ที่เรียกว่าพวก Puritans ซึ่งหนีมาในสมัยที่พระนาง Mary I กู้นิกายโรมันคาทอลิกและกำจัดฝ่ายโปรเตสแตนต์
พวก Puritans นี้ได้มาอเมริกาแต่ ค.ศ. 1620 และมาตั้งรกรากอยู่ที่ Plymouth ในรัฐ Massachusetts1
การกำจัดทางศาสนาในอังกฤษ ไม่ได้จบแค่สมัยพระนาง Mary I และ Elizabeth I เท่านั้น แต่มีต่อๆ มา และดังได้กล่าวแล้วว่า อังกฤษมิใช่กำจัดเฉพาะพวกคาทอลิกเท่านั้น แต่กำจัดโปรเตสแตนต์พวกอื่นที่ไม่ใช่นิกายอังกฤษด้วย
พวก Puritans อพยพมาอเมริกาครั้งใหญ่อีก ในช่วง ค.ศ. 1630-1640 ต่อมาพวกอพยพหนีภัยศาสนาก็อพยพมาอเมริกากันเป็นระลอก เช่น พวก Baptists ที่มาก่อนปี 1640 พอหลังปี 1660 ในอังกฤษมีการกำจัดอีก ก็มีพวก Baptists อพยพมาเพิ่มอีก
พวกคาทอลิกมาตั้งที่ Maryland ตั้งแต่ 1634 พวกเควกเกอรส์ (Quakers หรือพวก Society of Friends) ก็มาในช่วงทศวรรษแห่ง ค.ศ. 1660 และมาตั้งรกรากกันใน New Jersey, Pennsylvania รวมทั้ง Massachusetts และ Rhode Island
ในฐานะที่อเมริกาเป็นอาณานิคม รัฐบาลอังกฤษได้ตามมาออกกฎหมายให้คริสต์ศาสนานิกายอังกฤษเป็นศาสนาราชการใน Virginia, Maryland, New York, North และ South Carolina, และ Georgia
ในรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) เจ้าหน้าที่อาณานิคม ซึ่งอยู่ข้างนิกายอังกฤษ ก็เกิดปัญหาขัดแย้งกับพวกเพรสไบทีเรียน พวกแบพติสต์ และนิกายอื่นๆ
ฝ่ายชาวอาณานิคมเอง ทั้งที่ได้ประสบภัยเบียดเบียนทางศาสนาในยุโรปมาอย่างหนักแล้ว เมื่ออพยพมาได้ที่พักพิงในอเมริกาดีแล้ว บางกลุ่มก็ยังมากำจัดข่มเหงเบียดเบียนกันในอเมริกาต่ออีก
เมื่อพวกตัวอยู่ไหน ก็ยังจะเอาแต่พวกของตัว เช่น ในรัฐแมสสาจูเซททส์ ก็มีการกำจัดพวกเควกเกอรส์ และพวกแบพติสต์ รวมทั้งมีการล่าและฆ่าผู้ที่ถูกสงสัยว่าเป็นแม่มด
ชาวคาทอลิกที่หนีมาอยู่ในอเมริกา เมื่อเทียบกับชาวโปรเตสแตนต์แล้ว กลายเป็นคนข้างน้อยอย่างยิ่ง (ต่างจากคานาดาในยุคนั้น ที่ฝรั่งเศสได้อาณานิคมมาก และรัฐบาลฝรั่งเศสออกกฎหมายห้ามมิให้มีนิกายโปรเตสแตนต์)
แม้แต่ที่ Maryland ที่มีคาทอลิกมากที่สุด ตอนนั้นก็มีจำนวนไม่เกิน ๓,๐๐๐ คน คนเหล่านี้ต้องพบกับการข่มเหงขนาดเบาๆ ตามกฎหมายของรัฐ Maryland ใน ค.ศ. 1691 คนที่นับถือนิกายคาทอลิกถูกตัดสิทธิทางการเมือง และห้ามมิให้ประกอบพิธีทางศาสนา เว้นเฉพาะแต่ในบ้านส่วนตัวของตนเอง
พวกยิวซึ่งก็เป็นชนข้างน้อย ส่วนมากอยู่ในตัวเมืองนิวยอร์ค ก็ถูกจำกัดไม่ให้มีสิทธิออกเสียง ไม่มีสิทธิได้รับตำแหน่งราชการ และจะปฏิบัติกิจศาสนาของตนอย่างเปิดเผยไม่ได้ มีแต่รัฐ Rhode Island แห่งเดียวที่ยอมให้ทำ
(Rhode Island เป็นถิ่นอาณานิคมที่ตั้งขึ้นโดยมีหลักการแห่งความมีขันติธรรมมาแต่ต้น จึงเป็นถิ่นที่นอกจากยิวแล้ว ผู้ถือนิกายอย่างเควกเกอรส์ที่ถูกข่มเหงในที่อื่นก็มาอยู่ได้โดยปลอดภัย)
แม้ว่าในอเมริกาช่วงตั้งดินแดนใหม่จะมีการกำจัดกวาดล้างกันบ้าง แต่เมื่อเทียบกับถิ่นเดิมในยุโรป ก็นับว่าดีกว่าเบากว่าอย่างมากมาย สาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะทุกฝ่ายทุกนิกายต่างก็เป็นผู้อพยพพลัดถิ่นหนีภัยมาด้วยกัน มีหลายพวกหลายนิกายหลายชาติมาอยู่ใกล้ๆ กัน ต่างก็ต้องปรับตัวใหม่
ในเรื่องนี้ Compton’s Encyclopedia of American History, 1994 (Chapter 3) กล่าวว่า
ความมีขันติธรรมเจริญงอกงาม (ในอเมริกา) อย่างที่ไม่มีชาติใดในยุโรปจะมาเทียบได้ แต่ทั้งนี้มิใช่เพราะชาวอเมริกันเพียรหาทางคิดสรรค์สร้างขันติธรรมขึ้นไม่ แต่เป็นเพราะสภาวการณ์เป็นเงื่อนไขกำหนดให้ต้องเป็นไปอย่างนั้น โดยแท้
อย่างไรก็ตาม จากภูมิหลังแห่งประวัติศาสตร์อันขมขื่นที่ยาวนานในยุโรป ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า คนอเมริกันมีจิตสำนึกซึ่งฝังลึกในใจที่สำคัญ คือความใฝ่ปรารถนาและเชิดชูบูชาเสรีภาพหรือความเป็นอิสระเสรี (freedom หรือ liberty) เป็นอย่างยิ่ง
ต่อมาเมื่อได้อิสรภาพที่จะปกครองตนเองแล้ว ก็ได้ถือเรื่องเสรีภาพนี้เป็นหลักการสำคัญยิ่ง และกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีอิสรเสรีภาพในด้านต่างๆ รวมทั้งเสรีภาพทางศาสนา (freedom of religion)
ยิ่งกว่านั้น เมื่อหลายนิกายตกลงกันไม่ได้ว่าจะถือนิกายใดเป็นใหญ่ หรือจะถือหลักศาสนาร่วมกันได้อย่างไร อเมริกาก็วางหลักการแห่งการแยกศาสนจักรกับอาณาจักร ออกจากกัน (separation of church and state)
เป็นธรรมดาว่า เหตุการณ์เลวร้ายหรือความทุกข์ ย่อมก่อให้เกิดผลทั้งร้ายและดีในด้านต่างๆ แล้วแต่เหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งท่าทีของมนุษย์ผู้เผชิญกับทุกข์ภัยเหล่านั้นด้วย
ทุกข์ภัยที่เรียกว่า persecution และ religious wars ที่ชาวตะวันตกได้ผ่านมามากมาย เมื่อว่าในด้านดี ก็เป็นปัจจัยร่วมสำคัญที่หล่อหลอมอารยธรรมตะวันตกให้เป็นอยู่อย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน โดยมีทั้งคุณสมบัติและคุณวิบัติด้านละหลายประการ อย่างน้อยผลที่มองเห็นได้ง่าย คือ
ก. ทำให้มีการเดินทางไกล และการอพยพย้ายถิ่นอย่างมากมายกว้างขวาง รวมทั้งการผจญภัย ซึ่งทำให้พบถิ่นดินแดนและสิ่งแปลกใหม่
ข. เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่ต้องเผชิญกับภัยอันตรายอยู่เสมอ จะฝึกตนเอง แม้โดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่ประมาท เข้มแข็ง เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา และกระฉับกระเฉงว่องไว ยิ่งกว่านั้น เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่จะต้องหาทางแก้ไขอยู่เสมอ ก็ทำให้พัฒนาสติปัญญาความสามารถและความจัดเจนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
ค. การขัดแย้ง รุกล้ำ ละเมิด เบียดเบียนกันระหว่างมนุษย์ เมื่อมีอยู่เสมอไม่เลิกรา ก็ทำให้มนุษย์หาทางปกป้องคุ้มครองตนเอง และยับยั้งป้องกันกันและกันไม่ให้ละเมิดหรือเอารัดเอาเปรียบ
ผลอย่างหนึ่งของความเพียรพยายามในด้านนี้ก็คือ การบัญญัติจัดวางกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ซึ่งจะเห็นว่าอารยธรรมตะวันตกเจริญก้าวไปค่อนข้างมากในด้านนี้ แม้โดยทั่วไปจะยังอยู่ในระดับของจริยธรรมเชิงลบ
ง. เป็นธรรมดาเช่นกันว่า การดิ้นรนแก้ไขปัญหาและหลบหลีกทุกข์ภัยที่มากมาย ก็หมายถึงการได้ทำกิจกรรมต่างๆ อยู่เสมอ จึงทำให้เกิดมีกิจกรรมและกิจการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือเป็นสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง และอารยธรรมก็จะก้าวอยู่เสมอ (ไม่ว่าทางดีหรือทางร้าย)