มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

๒. ศาสนากับการล่าอาณานิคม

 

การแสวงอาณานิคมในยุคจักรวรรดิมุสลิม
ขยายแดนถึงไหน ศาสนาเข้าไปถึงนั่น

ภูมิหลังที่เกี่ยวกับความเจริญของอารยธรรมตะวันตก ซึ่งผูกพันอยู่กับศาสนาคริสต์ก็คือ การล่าอาณานิคม (colonization) ที่ได้กลายเป็นงานนโยบาย คือ ลัทธิอาณานิคม (colonialism)

การล่าอาณานิคมนั้นมีมาแต่โบราณ ถือกันว่า พวกฟีนิเชียน (Phoenicians) เป็นนักล่าอาณานิคมทางทะเลพวกแรก ตั้งแต่ ๑๑๐๐ ปีก่อน ค.ศ.

ต่อด้วยพวกกรีกและมาลงท้ายด้วยพวกโรมัน ซึ่งเข้มแข็งขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๒-๓ ก่อน ค.ศ. และในที่สุดเกือบทั่วทั้งยุโรปและตะวันออกกลางก็ได้ตกอยู่ใต้การปกครองของพวกโรมัน

ดังที่ทราบกันแล้วว่า จักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) เกิดขึ้นประมาณ ๒๗ ปี ก่อน ค.ศ. โดยมีโรม (Rome) เป็นเมืองหลวง

ต่อมา ค.ศ.324 พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ (Constantine I หรือ Constantine the Great) ได้เลือกเมืองกรีกโบราณชื่อว่า บิแซนเทียม (Byzantium) แล้วสร้างขึ้นใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople หรือ โรมใหม่/Nova Roma = New Rome; ปัจจุบัน คืออิสตันบุล/Istanbul ในเตอรกี) สถาปนาเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมัน และทรงเป็นจักรพรรดิโรมันพระองค์แรกที่นับถือคริสต์ศาสนา ทำให้ต่อมามิช้าศาสนาคริสต์ก็ได้เป็นศาสนาประจำชาติของจักรวรรดิโรมันใน ค.ศ.380

ต่อมาได้มีจักรพรรดิโองการห้ามนับถือศาสนาอื่นนอกจากศาสนาคริสต์ และเริ่มกำจัด (persecution) คนที่ไม่นับถือศาสนาคริสต์ ตั้งแต่ หลัง ค.ศ.391 เป็นต้นมา

ครั้นถึง ค.ศ.395 จักรวรรดิโรมันได้แตกเป็น ๒ ภาค คือ จักรวรรดิบีแซนทีน (อ่านว่า บิแซนไทน์ หรือไบแซนทีน หรือไบแซนไทน์ ก็ได้ทั้งนั้น) หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก (Byzantine Empire หรือ Eastern Roman Empire) ที่คอนสแตนติโนเปิล กับจักรวรรดิโรมันตะวันตก (Western Roman Empire) ที่โรม

จนกระทั่งต่อมา เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกสลายใน ค.ศ.476 แล้ว คอนสแตนติโนเปิล ก็ยังคงเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิบีแซนทีน (Byzantine Empire) หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออกสืบมา และนักประวัติศาสตร์ถือว่า ยุโรปเข้าสู่สมัยกลาง หรือยุคมืด แต่บัดนั้น

เมื่อจักรวรรดิโรมัน (ตะวันตก) ล่มสลาย เข้าสู่สมัยกลาง (Middle Ages) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 แล้ว ก็ไม่มีประเทศใดในยุโรปมีกำลังเข้มแข็งพอที่จะตั้งอาณานิคมขึ้นได้

ระหว่างนั้น เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ศาสนาอิสลามซึ่งเกิดขึ้นใหม่ กำลังมีพลังแรงในการเผยแผ่ ก็เข้าสู่ยุคที่ชาวอาหรับเป็นนักล่าอาณานิคมเรื่อยมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13

ยุคของศาสนาอิสลามนั้น นับแต่พระศาสดามูฮัมหมัดได้ตั้งศาสนาอิสลามขึ้นในดินแดนอาหรับ กำหนดด้วยเริ่มต้นฮิจเราะห์ศักราช (Hijrah) ใน ค.ศ.622

ครั้นพระศาสดามูฮัมหมัดสิ้นชีพใน ค.ศ.632 แล้ว พ่อตาของท่านคือ อาบูบากะร์ ได้ขึ้นเป็นกาหลิฟ (Caliph) องค์แรก ต่อจากนั้นการแผ่ขยายดินแดนของมุสลิมอาหรับก็เริ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการต่อสู้กับจักรวรรดิบีแซนทีน และจักรวรรดิเปอร์เซีย

เพียงแค่ ค.ศ.656 ดินแดนของกาหลิฟ (Caliphate) ก็แผ่ไปตลอดทั่วคาบสมุทรอาหรับ ปาเลสไตน์ ซีเรีย อียิปต์ ลิเบีย เมโสโปเตเมีย กับหลายส่วนของอาร์เมเนีย และเปอร์เซีย

ต่อมา ค.ศ.661 ศาสนาอิสลามได้แตกแยกออกเป็น ๒ สาขา คือ สุหนี่ (Sunnites) ที่เป็นส่วนใหญ่ กับ ชีอะห์ (Shiites) ที่เป็นข้างน้อย

หลังจากนั้น เมืองหลวงของกาหลิฟย้ายจากมะดินะ (Medina) ไปยังดามัสกัส (Damascus) และการแผ่ขยายดินแดนก็ดำเนินต่อไป ได้ทูนีเซียในปี 670 ขึ้นไปถึงปลายสุดด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอาฟริกาเหนือ ใน ค.ศ.710 และด้านยุโรปก็ตีได้ สเปน รุกเข้าไปไกลในฝรั่งเศส แต่ถูกตีกลับออกมาในปี 732

ส่วนทางทิศเหนือ สามารถเข้าล้อมคอนสแตนติโนเปิลได้บางครั้ง แต่ยังตีไม่แตก

ด้านทิศตะวันออก ณ ค.ศ.711 ทัพอาหรับได้บุกไปถึงลุ่มน้ำสินธุ จดแดนอินเดียและจีน เข้าไปตั้งถิ่นฐานได้บางแห่งในแคว้นปัญจาบ

ต่อมา ค.ศ.750 กาหลิฟที่ดามัสกัสถูกสังหาร กาหลิฟวงศ์ใหม่ย้ายเมืองหลวงไปยังแบกแดด (Baghdad) งานแผ่ขยายดินแดนผ่อนเบาลง หันมาส่งเสริมศิลปวิทยา ทำให้ปราชญ์มุสลิมยุคนี้มีผลงานทางวรรณคดี ปรัชญา และศาสตร์ต่างๆ ก้าวหน้ากว่ายุโรปยุคมืดนั้นมาก

ระหว่างนั้น อาณาจักรมุสลิมเตอร์กส์ พวกที่เรียกว่า เซลจูก (Seljuks) ได้เริ่มเรืองอำนาจขึ้น ขณะที่มุสลิมอาหรับอ่อนกำลังลง

(ช่วงนี้ก็พอดีกับศาสนจักรคริสต์แตกกันครั้งใหญ่ ระหว่างนิกายออร์โธดอกซ์/Orthodox Church กับโรมันคาทอลิก/Roman Catholicism ใน ค.ศ.1054)

พอถึง ค.ศ. 1055 พวกเตอร์กส์มุสลิมเซลจูก (หัวหน้าเรียกว่าสุลต่าน) ก็เข้ายึดกรุงแบกแดดได้ เข้าคุ้มครองกาหลิฟอาหรับที่ค่อยๆ กลายเป็นเพียงหุ่นเชิด แล้วก็รบชนะพวกบีแซนทีน ใน ค.ศ.1071 อันเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามครูเสด, (Crusades) ระหว่างประเทศมุสลิมกับประเทศที่นับถือคริสต์ทั้งหลาย ยาวนานเกือบ ๒ ศตวรรษ (ค.ศ.1096-1270)

ตำราฝรั่งบอกว่า ศาสนาคริสต์พบกับการเผยแผ่ของอิสลาม โดยใช้สงครามครูเสด มิใช่ใช้มิชชันนารี และแทบไม่เคยใช้ความเพียรพยายามในการสอนศาสนาแก่ชาวมุสลิมเลย (“Roman Catholicism,” Britannica, 1997)

ในช่วงเวลาอันสำคัญนั้น เจงกิสข่าน (Genghis Khan) ได้นำทัพมงโกล แผ่อำนาจเข้าบุกจีน ยึดปักกิ่งได้ ใน ค.ศ.1215 จากนั้นก็นำทัพมุ่งตะวันตก ตีจักรวรรดิของพวกเตอร์กส์ แถบอิรัก อิหร่าน และเตอร์กีสถานตะวันตกบางส่วน และรุกเข้าไปในรัสเซีย

เมื่อเจงกิสข่านสิ้นชีพ ในปี 1227 แล้ว ข่านคือกษัตริย์มงโกลที่เป็นลูกหลานของเจงกิสข่าน ได้แผ่ขยายอำนาจต่อไปอีก จนเข้ายึดและทำลายกรุงแบกแดดได้ใน ค.ศ.1258 จักรวรรดิมุสลิมก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมงโกล ยกเว้นแต่อาณาจักรของพวกมามะลูกส์ (Mamelukes) ที่ยังสามารถรักษาอียิปต์และซีเรียไว้ได้

อย่างไรก็ตาม พวกมงโกลครองอำนาจอยู่ได้ไม่นานนัก เพียง ๑๐๐ ปีเศษ อาณาจักรก็ค่อยๆ แตกสลายไปเรื่อยๆ จนถึง ค.ศ.1480 ก็หมดอำนาจจากดินแดนทั้งหลายที่ไปยึดครอง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.