ที่จริง ความพยายามที่จะให้การค้าดำเนินไปอย่างเสรีนี้ได้มีมานานแล้ว แต่เป็นธรรมดาที่ประเทศทั้งหลายย่อมรักษาผลประโยชน์ของตน เมื่อใดหรือแง่ใดค้าเสรีได้เปรียบ ก็ค้าเสรี เมื่อใดหรือแง่ใดค้าเสรีตัวจะเสียเปรียบ ก็ใช้ระบบคุ้มครองสินค้าของตน
อย่างสหรัฐอเมริกาเอง ก็มีชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้ระบบคุ้มครองสินค้าของตน คือเป็น protectionist มาแต่กำเนิด (Protectionism,” Britannica, 1997)
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไม่นาน ประเทศสำคัญๆ ๒๓ ประเทศ ซึ่งมีการค้าขายกันเป็น ๔ ใน ๕ ส่วน ของการค้าทั้งหมดของโลก อันมีสหรัฐรวมอยู่ด้วย ก็ได้ลงนามกันที่เมืองเยนีวา (Geneva) ณ วันที่ 30 ต.ค. 1947
ในการนี้ ได้ออกเป็นข้อตกลงทั่วไปเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade เรียกสั้นๆว่า GATT) ซึ่งมีหลักการสำคัญที่จะลดหรือตัดทอนภาษีศุลกากรและข้อจำกัดอย่างอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าขาย พร้อมทั้งกำจัดละเลิกข้อปฏิบัติที่เป็นการหวงแหนกีดกันในการค้าระหว่างประเทศ
ในยุโรป เมื่อปี 1960 อังกฤษได้ริเริ่มชวนประเทศต่างๆ ก่อตั้งสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association เรียกสั้นๆ ว่า EFTA) ขึ้น (ลงนามที่กรุงสตอกโฮล์ม) ซึ่งประกอบด้วยออสเตรีย เดนมาร์ก อังกฤษ นอร์เวย์ โปรตุเกส สวีเดน และ สวิสเซอร์แลนด์ (ต่อมา ไอร์แลนด์ และฟินแลนด์ก็เข้าร่วม)
ว่าที่จริง เรื่องการค้าขายหาผลประโยชน์ในหมู่ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ที่ยอกย้อนซับซ้อนมาก เป็นความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จากกลวิธีทางการเมืองผสมการทหาร มาเป็นกลวิธีทางการเมืองผสมวิธีการทางเศรษฐกิจ
การที่อังกฤษชวนหลายประเทศตั้ง EFTA ขึ้นนั้น ก็เพราะว่า ก่อนนั้น ในปี 1957 ประเทศบนแผ่นดินใหญ่ภาคตะวันตกของทวีปยุโรป ๖ ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เยอรมันตะวันตก อิตาลี และกลุ่มประเทศเบเนลักส์ ทั้ง ๓ (คือ เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และ ลักเซมเบอร์ก) ได้ตกลงกันตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ที่เรียกง่ายๆ ว่า “ตลาดร่วม” (European Economic Community เรียกง่ายๆ ว่า Common Market) ขึ้น
ระหว่างนั้น อังกฤษก็หาทางจัดตั้งเขตการค้าเสรี ที่จะช่วยให้อังกฤษเข้าถึงผลประโยชน์ของตลาดร่วมทางอุตสาหกรรมนั้นได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับความกระทบกระทั่งต่อความยิ่งใหญ่ในทางการเมือง แต่ไม่สำเร็จ เพราะเหตุสำคัญคือการคัดค้านของฝรั่งเศส
แต่ต่อมา ในปี 1973 อังกฤษเอง และเดนมาร์ก ก็ออกจาก EFTA เมื่อเขายอมรับให้เข้าตลาดร่วม หรือ EEC พร้อมกับไอร์แลนด์ ในปี 1973 (ต่อมา กรีซ สเปน และโปรตุเกส ก็เข้าร่วมใน EEC ด้วย)
ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป หรือ EEC ซึ่งได้เจริญก้าวหน้าต่อมา และมีการเปลี่ยนแปลงในชื่อเรียกเล็กๆ น้อย จนในที่สุดก็เรียกสั้นๆ ว่า ประชาคมยุโรป (European Community/EC) ได้ขยายนโยบายออกไป และตั้งสหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) ขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1993 โดย EC กลายเป็นหน่วยงานวางนโยบายของ EU
ต่อมา ณ วันที่ 1 มกราคม 1994 ข้อตกลงที่สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และประชาคมยุโรป (EC) ได้มีมติร่วมกันไว้ เมื่อเดือน ต.ค.1991 ที่จะตั้งเขตการค้าเสรีร่วมกัน ก็มีผลให้เกิดเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area/EEA) ขึ้น
ต่อมา ในปี 1995 ประเทศสมาชิกของ EFTA ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) EU จึงมีสมาชิก ๑๕ ประเทศ และขณะนี้หลายประเทศที่พ้นออกมาจากสหภาพโซเวียตเดิม ก็หวังจะได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปนี้ด้วย
ในทวีปอเมริกา ประเทศต่างๆ ในอเมริกากลางและใต้ ก็ได้ร่วมกันตั้งเขตตลาดร่วมการค้าเสรีของตนขึ้นบ้าง เช่น ตลาดร่วมอเมริกากลาง (Central American Common Market) ซึ่ง เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูราส นิคารากัว และคอสตาริกา ลงนามในสนธิสัญญากัน เมื่อ 13 ธ.ค. 1960 แต่ต่อมาความผันผวนปรวนแปรทางการเมือง ทำให้ตลาดร่วมนี้ไม่เป็นไปด้วยดี
อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ประเทศละตินอเมริกา ประกอบด้วยอาร์เยนตินา บราซิล ชิลี เมกซิโก ปารากวัย เปรู และอุรุกวัย ได้ลงนามตั้งสมาคมการค้าเสรีละตินอเมริกา (Latin American Free Trade Association/LAFTA) ขึ้น ณ 18 ก.พ. 1960 ซึ่งอีก ๒๐ ปีต่อมา ตั้งเป็นสมาคมประสานละตินอเมริกา (Latin American Integration Association/LAIA) ซึ่งเวลานี้มีสมาชิก ๑๑ ประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มแอนเดียน (Andean Group) ที่เป็นกลุ่มย่อยใน LAIA ซึ่งเกิดขึ้นเป็นทางการในเดือน มิ.ย. 1969 และประชาคมและตลาดร่วมคาริบเบียน (Caribbean Community and Common Market/Caricom) ซึ่งประเทศในคาบสมุทรคาริบเบียน ๑๒ ประเทศ ได้ตั้งขึ้นในปี 1973
ส่วนในทวีปอเมริกาเหนือ สหรัฐอเมริกาเพิ่งจะร่วมกับคานาดาและเมกซิโกก่อตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างกันขึ้น (เมกซิโกอยู่ใน LAIA ที่กล่าวถึงข้างต้นด้วยอยู่ก่อนแล้ว) โดยลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement/NAFTA) เมื่อปี 1992 ในเดือนสุดท้ายแห่งการบริหารของรัฐบาลประธานาธิบดีบุช ณ วันที่ 17 ธันวาคม
NAFTA จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 1994 ซึ่งจะทำให้การค้าในเขตของสามประเทศนี้ ปลอดพ้นจากการเก็บภาษีศุลกากร และข้อจำกัดกีดกั้นต่างๆ ในการลงทุนข้ามแดน และการเคลื่อนไหวของสินค้าและบริการต่างๆ ภายในปี 2005
เขตของ NAFTA นี้กว้างใหญ่กว่าตลาดร่วมยุโรปเดิมเล็กน้อย จึงเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีประชากรประมาณ ๓๙๐ ล้านคน
แต่เมื่อ EFTA กับ EU ของยุโรป ตั้ง EEA คือ เขตเศรษฐกิจยุโรปขึ้นมา โดยมีผลเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค. 1994เช่นเดียวกัน เขตการค้าเสรีทั้งสอง คือ NAFTA และ EEA ก็มีขนาดใกล้เคียงกันมาก (EEA มีประชากร รวมทั้งสิ้น ประมาณ ๓๘๕ ล้านคน)
ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1993 ที่รัฐสภาอเมริกัน (Congress) มีมติอนุมัติ NAFTA นั้น ประธานาธิบดีคลินตัน ได้กล่าวปราศรัยว่า
เมื่อ ๒-๓ นาทีที่ผ่านมานี้ สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติอนุมัติข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA)
NAFTA จะขยายปริมาณสินค้าออกของเรา สร้างงานอาชีพเพิ่มขึ้น และช่วยให้เราย้ำสำทับความเป็นผู้นำในระบบเศรษฐกิจของโลก
ข้อตกลงนี้ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์อย่างลึกซึ้งแก่สหรัฐ มันจะช่วยให้ชาวอเมริกันที่ทำงานอยู่ เป็นคนงานที่สร้างผลผลิตได้มากที่สุด คือ จะเป็นผู้ชนะในระบบเศรษฐกิจของโลก (“North American Free Trade Agreement,” Microsoft Encarta Encyclopedia, 1999)
คำกล่าวนี้ อาจจะบอกถึงความมุ่งหมายที่แท้หรือวัตถุประสงค์หลักของผู้นำของสหรัฐ หรือของประเทศสหรัฐอเมริกา ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีขึ้น