มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ภาค ๓
ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา ต่อสัจธรรมด้วยปัญญา

 

ลักษณะที่เด่นและสำคัญ
แห่งวิถีทางสร้างสันติภาพแบบอเมริกัน

เวลานี้สหรัฐอเมริกาได้รับการยอมรับเป็นแบบอย่างหรือตามอย่าง ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และในทางสังคม ทั่วไปในโลกนี้อย่างกว้างขวาง ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

แต่ก็ควรจะตั้งคำถามให้พิจารณากันว่า วิถีทางแห่งเสรีภาพในระบบประชาธิปไตยตามความเข้าใจที่สืบกันมาในภูมิหลังของคนอเมริกันนี้ จะแก้ปัญหาความแตกแยกในหมู่มนุษย์ ทำให้มนุษย์สามัคคีรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นำโลกไปสู่สันติสุข เริ่มตั้งแต่แก้ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาได้หรือไม่

ในขั้นนี้ ขอให้ตั้งข้อสังเกต ๒ ประการ

๑. ความคิดถูกหล่อหลอมจากภูมิหลังที่เน้นการปกป้องพิทักษ์ตัว: ลักษณะของคนอเมริกันที่ใฝ่ฝันบูชาเสรีภาพนั้น เกิดจากภูมิหลังที่ถูกบีบคั้นทำร้ายให้เกิดความรู้สึกเชิงปฏิกิริยา ที่เบื่อหน่าย เอือมระอา ตลอดจนเกลียดชังการจำกัดกีดกั้นบังคับ แล้วต้องการผละออกไปหาภาวะที่ตรงข้าม กลายเป็นความใฝ่ปรารถนาต่อเสรีภาพ จุดเน้นของความคิดอยู่ที่

ก) ความมั่นคงปลอดภัยของตนเอง เริ่มแต่ความอยู่รอดปลอดภัยของตน จนถึงการที่ตนเองจะได้สามารถทำหรือไม่ทำอะไรๆ ตามที่ปรารถนา คือจุดเน้นอยู่ที่ตัวตนของตนเอง ดังที่ชาวอเมริกันมีวัฒนธรรมเด่นในแง่ของการพิทักษ์สิทธิและผลประโยชน์ของตน มิให้ใครล่วงละเมิด รวมทั้งการเน้นในเรื่อง privacy โยงลึกลงไปถึงการยึดถือใน individualism ที่โดยพื้นฐานเป็นลัทธิตัวใครตัวมัน

ข) จากข้อ ก) ก็โยงต่อไปในแง่ความสัมพันธ์หรืออยู่ร่วมกันกับผู้อื่น วิถีชีวิตอเมริกันจึงเน้นการไม่ละเมิด โดยเคารพสิทธิของกันและกัน การที่ต่างคนต่างก็ดำรงอยู่ และดำรงรักษาสิทธิของตน พร้อมกันนั้นก็มีอิทธิพลความเชื่อในลัทธิดาร์วินเชิงสังคม (Social Darwinism) เสริมย้ำลงไปอีก ตามหลักใครดีใครอยู่ หรือใครเก่งก็รอด (the survival of the fittest) จึงเน้นความสามารถในการแข่งขัน ให้ต่างคนต่างดูแลตัวเอง ส่วนคนอื่นก็เอาแค่อย่าไปละเมิดกัน

แนวคิดอเมริกันไปถึงแค่ความเคารพสิทธิของกันและกัน ไม่ละเมิดต่อกัน ให้ต่างคนต่างรับผิดชอบตัวเองอยู่ไปได้ และอยู่กันได้ ไม่มีจุดเน้นในแง่ของความรักกัน เอาใจใส่ต่อกัน หรือความช่วยเหลือสมัครสมาน ดังนั้น ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือเอกภาพจึงเกิดได้ยาก

๒. ปฏิบัติการที่เด่นในการวางระบบควบคุมจากภายนอก: เพื่อให้การปกป้องพิทักษ์ตัวและสิทธิของตัวได้ผล และเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ดี โดยอยู่ในขอบเขตที่จะไม่ละเมิดต่อกัน ตามภูมิหลังแห่งการต่อสู้แข่งขันกัน สังคมอเมริกันจึงเป็นตัวอย่างของสังคมมนุษย์ที่ชำนาญพิเศษในการจัดตั้งวางกฎกติกา

ทั้งนี้ เพื่อเป็นขีดขั้นขอบเขตแห่งพฤติกรรมของแต่ละบุคคลแต่ละฝ่าย ตามหลักการที่สังคมอเมริกันก็ภูมิใจตนเองว่า เป็นสังคม rule of law คือ ปกครองและอยู่กันด้วยกฎกติกา ถือกฎหมายเป็นใหญ่

ก) กฎกติกาและกฎหมายนั้น ก็มาสนองแนวคิดในการป้องกันการละเมิดต่อกัน เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละคนที่ตัวใครตัวมันนั้น มีอิสรภาพที่จะดิ้นรนต่อสู้ได้อย่างเต็มกำลัง และเมื่อมาประสานเข้ากับลัทธิทุนนิยม โอกาสในการดิ้นรนต่อสู้นั้นก็มีความหมายพิเศษที่มุ่งไปในการแสวงหาผลประโยชน์สนองความต้องการของตน เพียงเท่าที่ไม่ไปรุกล้ำหรือละเมิดต่อผู้อื่น freedom ของอเมริกันเป็น freedom ของตัวบุคคลผู้เดียว (individual liberty) ไม่ใช่ freedom ที่จะชื่นชมร่วมกัน

ข) จากภูมิหลังที่อยู่กันมาด้วยกฎกติกาหรือกฎหมายเป็นเวลานาน และเห็นผลดีของกฎกติกานั้น ก็ชักจะทำให้หลงเข้าใจไปชั้นเดียวแง่เดียวว่า ที่สำเร็จผลก็เพราะกฎ และเมื่อให้มีกฎแล้วผลที่ต้องการก็จะสำเร็จ

แต่แท้จริง การที่กฎเป็นตัวทำให้สำเร็จได้ ก็เพราะลึกลงไปในใจของคนมีความใฝ่ปรารถนาเป็นพลังผลักดันอยู่

กฎกติกาเป็นรูปปรากฏที่สำแดงออกมาของคุณสมบัติในจิตใจหรือในตัวคน เช่นการรักความเป็นธรรม แรงความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สังคมที่มีระเบียบ เป็นต้น เมื่อทั้งแรงดันภายในและรูปสำแดงภายนอก ยังมีพร้อมสืบทอดกันอยู่ ผลสำเร็จก็เกิดขึ้น ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

แต่กฎกติกาเป็นรูปแบบทางรูปธรรมที่มองเห็นง่าย สืบต่อกันมาตามวิธีปฏิบัติทางสังคม ส่วนคุณสมบัติภายในเกิดขึ้นจากแรงกระตุ้นผลักดันหรือชักจูงของเหตุการณ์ต่างๆ ในภูมิหลังของสังคม

เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ คุณสมบัติหรือแรงใจนี้ ถ้าไม่มีปัจจัยที่เอื้อคอยกระตุ้นไว้ ก็จะค่อยจางลางเลือนไป

คนรุ่นหลังๆ อาจจะอยู่กับกฎเกณฑ์กติกาและกฎหมาย โดยที่ในตัวของเขาไม่มีพลังคุณสมบัติในใจที่จะรักษาเจตนารมณ์ของกฎกติกาเหล่านั้น กฎกติกานั้นก็จะเป็นเพียงรูปแบบที่ได้ผลน้อยลงไป (ทำนองเดียวกับที่รูปแบบระบบการทำงานแบบอุตสาหกรรมยังคงอยู่ หรือแม้แต่ปรับให้ดีขึ้น แต่ work ethic ในตัวคนอเมริกันก็เสื่อมลง) พร้อมกับที่อาจจะเพี้ยนความหมาย ตลอดจนถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่นเพื่อการหาผลประโยชน์ ดังที่ได้เริ่มเกิดเป็นปัญหาในสังคมอเมริกันเอง (เช่นที่ทนายความสมคบกับลูกความ ทำคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเพื่อนบ้าน)

ค) ถึงอย่างไร ในที่สุด กฎกติกากฎหมายก็เป็นรูปแบบระบบภายนอกที่แก้ปัญหาได้เพียงในระดับหนึ่ง ถ้าปัญหานั้นๆ เป็นเรื่องระดับเดียวในขั้นรูปธรรมภายนอก การแก้ไขก็อาจสำเร็จไปได้

แต่หลายปัญหาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก่อนจะปรากฏออกมาภายนอก มีรากฐานลึกซึ้งสะสมอยู่ภายในจิตใจ (เช่นความรู้สึกรังเกียจ ความดูถูกดูแคลน ความชิงชัง) และในทิฏฐิ (เช่นความเชื่อ การยึดถือทางวัฒนธรรม การยึดมั่นในหลักการอุดมการณ์หรือคำสอนของศาสนา เป็นต้น) การแก้ปัญหาด้วยกฎเกณฑ์กติกาไม่เพียงพอที่จะให้ได้ผลจริงและยั่งยืน

ดังตัวอย่างปัญหาใหญ่ในสังคมอเมริกันที่เป็นมาและเป็นอยู่ ซึ่งจะเป็นต่อไป และคนอเมริกันก็วิจัยกันว่าจะเลวร้ายหนักหนายิ่งขึ้น คือปัญหาความแบ่งแยกแตกพวกระหว่างคนผิวขาวผิวดำ

สังคมอเมริกันได้พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยกฎหมาย ที่ตั้งข้อกำหนดในการให้เสรีภาพและความเสมอภาค และคุ้มครองป้องกันไม่ให้รุกล้ำละเมิดกัน แต่จนบัดนี้แม้ดูว่าคนจะเสมอกันเท่าเทียมกัน รวมกันได้ตามระบบที่จัดให้ อันแสดงว่ากฎหมายได้ผลมาก แต่ใจคนหารวมกันไม่

เมื่อใจไม่โน้มมาในทางที่จะรวมกัน ช่องว่างระหว่างกันก็ขยายความแบ่งแยกให้กว้างออกไปเรื่อยๆ รอเพียงว่าเมื่อไรผลร้ายแรงจะระเบิดขึ้นมา ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นกฎกติกาก็จะพลอยหมดความหมาย

เพียงปัญหาความแบ่งแยกระหว่างคนขาวกับคนดำที่มีอยู่แล้วในสังคมของตนเอง และเอาเพียงอย่างเดียวนี้ วิธีการของอเมริกันที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอที่จะแก้ไข จึงไม่สามารถเป็นความหวังของมนุษยชาติในการที่จะสร้างสามัคคีเพื่อสันติสุขของมวลมนุษย์

ขอเน้นบางจุดที่สำคัญ แห่งลักษณะของภูมิธรรมภูมิปัญญาอเมริกันที่สัมพันธ์กับเรื่องนี้ว่า

๑) คุณสมบัติพิเศษของอเมริกันได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อมุ่งปกป้องคุ้มครองตัวให้อยู่รอดปลอดภัยมีความมั่นคงและเจริญไปได้ โดยมิให้มีการรุกล้ำละเมิดต่อกัน และความหมายของเสรีภาพอิสรภาพ (freedom) ก็จำกัดอยู่ในด้านนี้

๒) สังคมอเมริกันขาดการพัฒนาคุณธรรมในเชิงความสัมพันธ์แบบสมัครสมานเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขมีสามัคคี เช่น เมตตา ไมตรี ความเอาใจใส่ น้ำใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความมุ่งหรือใฝ่ที่จะช่วยเหลือกัน แต่เน้นหลักตัวใครตัวมัน

๓) สังคมอเมริกันเน้นการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางรูปธรรม โดยเน้นหนักไปทางด้านรูปแบบหรือระบบอย่างเดียว จึงแก้ปัญหาด้วยการวางกฎกติกา และปกครองกันด้วยกฎหมาย ซึ่งแม้จะได้ผลดีมาก แม้แต่ขยายกว้างออกมาช่วยโลกได้มาก แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ

ความถนัดจัดเจนในการจัดตั้งวางระบบแบบแผนและบัญญัติกฎกติกาที่สะสมสืบมาของชาวตะวันตกนี้ ทำให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างมาก แม้แต่ในการจัดรวมคนให้ทำกิจกรรมหรือกิจการร่วมกัน ซึ่งบางทีแม้ว่าแต่ละคนอาจมีคุณภาพไม่ถึงกับดีมากนัก ก็ช่วยให้กิจการงานนั้นดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสำเร็จผลอย่างดี

แต่ความได้ผลนั้น ก็เป็นไปเพื่อความสำเร็จของธุรกิจการงาน มิใช่สำเร็จผลในด้านการสร้างเอกภาพของคน คือเป็นการจัดการคนเพื่อผลของงาน มิใช่การสมัครสมานคนเพื่อสันติสุขของโลก

ประสบการณ์ในภูมิหลังแห่งการต่อสู้ดิ้นรนในอารยธรรมตะวันตก ช่วยให้ชนชาติอเมริกันก้าวหน้ามาได้มากในการจัดตั้งวางระบบแบบแผนต่างๆ เพื่อให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัยและให้สังคมมีความเจริญมั่นคงในด้านรูปธรรม

แต่ความสำเร็จในทางสันติของอารยธรรมตะวันตกนั้น อยู่เพียงในขั้นป้องกันและคุ้มครองจากการรุกล้ำละเมิดกัน โดยมีกฎกติกาเป็นกรอบกั้น ซึ่งในแง่ดีก็นับว่าได้มีส่วนช่วยปกป้องสันติภาพให้แก่โลก พอจะมีหลักประกันให้มนุษย์มีอิสรภาพ คือ freedom จากการเบียดเบียนข่มเหงกันในขั้นสำคัญระดับหนึ่ง

แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะขจัดการแบ่งแยกในสังคมมนุษย์ ยังเป็นเพียงจริยธรรมเชิงลบ

ถ้าจะให้โลกมีสันติภาพที่ยั่งยืน ให้มนุษย์มีสันติสุขอย่างแท้จริง และมีอิสรภาพ คือ freedom ที่แท้ ซึ่งมิใช่เป็นอิสรภาพชนิดที่ต้องคอยป้องกันการรุกล้ำซึ่งกันและกัน มนุษย์จะต้องก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ให้ถึงหลักการที่จะอำนวยจริยธรรมเชิงบวก

พูดสั้นๆ ว่า อารยธรรมอเมริกันถนัดในการจัดวางระบบที่จะป้องกันคนที่แยกพวกกันไม่ให้รุกล้ำกัน แต่ไม่มีเครื่องมือที่จะทำให้คนที่แบ่งแยกกันนั้นเข้ามาประสานรวมเป็นอันเดียวกัน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.