๔. สมควรยิ่งที่จะกล่าวเตือนว่า ชาวพุทธและคนไทยทั่วไปไม่เห็นคุณค่าและไม่ใส่ใจที่จะมองดูคุณค่าของสิ่งดีที่ตนมี ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงพระพุทธศาสนาในแง่ที่สัมพันธ์กับการแก้ปัญหาความแบ่งแยกในหมู่มนุษย์ ดังที่ได้กล่าวมา และไม่ใส่ใจสังเกตแม้แต่การที่คนภายนอก เช่นพวกชาวตะวันตกที่มีภูมิหลังต่างจากเรา มามองเห็นคุณค่าของสิ่งดีที่เรามีนั้นอย่างไร
เพราะเหตุที่ชาวตะวันตกมีภูมิหลังต่างจากเรานั่นเอง เขาจึงมองเห็นความแตกต่างที่เป็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาข้อนี้ได้ชัดเจน คือการที่พุทธศาสนาไม่มีประวัติแห่งการบีบคั้นกำจัดผู้ไม่เชื่อ หรือผู้นับถือศาสนาอื่น (persecution) และไม่มีสงครามศาสนา (religious war) อันเป็นประวัติที่ตรงข้ามจากศาสนาของเขา
เมื่อเขาเห็นคุณค่าจากความแตกต่างนี้แล้ว เขาก็จะต้องถามต่อไปว่า เป็นอย่างนั้นเพราะเหตุใด ถึงตอนนี้ก็เป็นวาระที่ชาวพุทธ โดยเฉพาะชาวพุทธไทย จะต้องให้คำตอบ
ถ้าชาวพุทธจะแสดงภูมิปัญญา และจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ ชาวพุทธไทยควรจะต้องมีคำตอบในเรื่องนี้ที่จะให้แก่โลก
ถ้ามิฉะนั้น ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หรือถึงกับน่าอับอายว่า ทั้งที่ตนเองอยู่กับพระพุทธศาสนา และคนข้างนอกเขามาเห็นคุณค่า ในขณะที่เขาต้องการสิ่งที่ตนมีที่จะให้แก่เขาได้ ก็ยังไม่รู้และไม่ใส่ใจ แล้วจะไปทำอะไรอื่นให้แก่ส่วนรวมของโลกได้อีก
การรู้เข้าใจเรื่องนี้ จะโยงไปเองถึงการที่เราจะรู้เข้าใจอารยธรรมตะวันตกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการที่จะดำรงอยู่อย่างผู้มีการศึกษา และเป็นส่วนร่วมอันมีค่าในอารยธรรมของโลก
การที่ต้องรู้จักเขาอย่างนี้ มิใช่เพื่อจะไปติเตียนต่อว่า แต่เพื่อเข้าใจเขาตามเป็นจริง และจะได้วางท่าที ตลอดจนปฏิบัติต่อปรากฏการณ์สืบเนื่องต่างๆ ที่เป็นไปอยู่ในโลกและมาเกี่ยวข้องกับเราด้วย ได้อย่างฉลาดและมีผลดี
ขอย้ำคำถาม ๒ ข้อว่า
๑) เหตุใดพุทธศาสนาจึงไม่มีประวัติศาสตร์แห่งการกำจัดบีบคั้นห้ำหั่นบีฑา (persecution) และสงครามศาสนา (religious war)
๒) มีหลักการอะไรบ้างที่พุทธศาสนาสามารถนำเสนอ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความแบ่งแยกขัดแย้งและทำลายล้างกันในหมู่มนุษย์
อาจจะต้องตอบเพิ่มอีก ๒ ข้อ คือ
๑) เหตุใดในประวัติศาสตร์แห่งอดีต พุทธศาสนาจึงไม่สามารถรักษาตนให้หลุดรอดจากการถูกบีบคั้นกำจัดในทางศาสนา (religious persecution)
๒) พุทธศาสนาสามารถทำได้เพียงใด ในการที่จะชักจูงให้ลัทธิศาสนาทั้งหลายละเลิกการเบียดเบียนบีฑาทางศาสนา และหันมาดำเนินในทางแห่งความปรองดองสามัคคี
ในที่สุด พุทธศาสนิกชนควรจะยอมรับจุดอ่อนในวงการชาวพุทธ โดยเฉพาะชาวพุทธไทยยุคปัจจุบัน ที่มองศาสนาของตนว่าเป็นศาสนาแห่งปัญญา และมีความใจกว้าง ให้เสรีภาพทางศาสนาเต็มที่ แต่ท่าทีนี้กลายเป็นความเรื่อยเปื่อย ไม่จริงจัง อย่างไรก็ได้ ไม่มีหลักการและข้อปฏิบัติอันชัดเจน ที่จะแสดงถึงความเป็นชาวพุทธ เลยกลายเป็นกลุ่มคนที่อ่อนแอ กระจัดกระจาย รวมกันไม่ติด และตกอยู่ในความประมาท
ยิ่งได้อยู่มาในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สุขสบาย และมีภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่ขาดแรงบีบคั้นเร่งรัดจากภาวะทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็ยิ่งมีความโน้มเอียงที่จะเฉื่อยชา เพลิดเพลิน ติดจมในความประมาทยิ่งขึ้น
ปัญญานั้นคู่กับศรัทธา เรารู้กันดีว่า ศรัทธาทำให้มีกำลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนและพุ่งไป ทำให้เข้มแข็งจริงจัง แต่ก็อาจจะเกินเลยไปโดยง่าย และกลายเป็นความรุนแรง ดังที่ได้เป็นเหตุสำคัญของการบีบคั้นเบียดเบียน ขัดแย้ง และสงครามศาสนามากมายในประวัติศาสตร์
ท่านจึงให้ศรัทธานั้นมาด้วยกันกับปัญญา และมีปัญญาคุม เพื่อไม่ให้เป็นความงมงาย กลายเป็นกำลังของคนตาบอด ถูกล่อหลอกชักจูงไป หรือต้องคอยพึ่งพา
แต่ในทำนองเดียวกัน ปัญญาก็ควรจะมีศรัทธามาช่วยเริ่มตั้งต้นจับจุดให้ และเสริมกำลังให้เจาะลึกจริงจัง เพื่อมิให้กลายเป็นคนชนิดที่ปัญญาแท้ก็ยังไม่มี ได้แต่จับจด ฉาบฉวย แตะอะไรๆ อย่างผิวเผิน แค่ผ่านๆ
จึงควรนำหลักความเสมอพอดีกันแห่งอินทรีย์ต่างๆ โดยเฉพาะศรัทธากับปัญญา มาปฏิบัติกันในชีวิตจริง
ให้ชาวพุทธไทยได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้จากพระพุทธศาสนา มิใช่เป็นเพียงผู้มีความภูมิใจที่เลื่อนลอย รู้จักพระพุทธศาสนาก็ไม่จริง มีแต่จะพาให้ทั้งพุทธศาสนาและสังคมเสื่อมโทรมลงไปๆ