มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ค้าขายเสรี แข่งขันเสรี
บนสถานะของเศรษฐีกับวณิพก

มีเรื่องสำคัญที่ควรเล่าแทรกไว้ด้วย คือการเกิดขึ้นขององค์การค้าโลก (World Trade Organization/WTO) ซึ่งสืบเนื่องมาจากข้อตกลงทั่วไปเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและการค้า ที่เรียกกันสั้นๆ ตามอักษรย่อว่า GATT และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการค้าเสรีโดยตรง

ดังได้เล่าไว้แล้วว่า GATT นั้น เกิดขึ้นในปี 1947 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบไปไม่นาน (มีผลบังคับตั้งแต่ 1 ม.ค. 1948) โดยมีหลักการข้อสำคัญที่สุดว่า จะให้มีการค้าขายระหว่างประเทศต่างๆ อย่างปราศจากความแบ่งแยกหวงแหนกีดกัน โดยที่ประเทศสมาชิกเปิดตลาดแก่กันอย่างเสมอภาค

ตามแผนความคิดเดิมนั้น GATT จะมีอยู่เพียงชั่วคราว โดยรอให้มีการตั้งหน่วยงานของสหประชาชาติ เรียกว่า องค์การการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Organization/ITO) ขึ้นมารับงานไปทำต่อในระยะยาว แต่องค์การที่ว่านั้นก็ไม่เกิดมีขึ้น GATT ก็จึงอยู่ต่อมาเรื่อยๆ

GATT เป็นเครื่องมือที่ได้ผลมากที่สุดในการทำให้เกิดการค้าเสรีมากขึ้นๆ และขยายการค้าโลกออกไป โดยมีการประชุมกันเรื่อยมาตั้งแต่ปี 1947 ถึง 1993 รวม ๗ รอบ ทำให้ภาษีสินค้าอุตสาหกรรมของโลกโดยเฉลี่ยลดจาก ๔๐% ในปี 1947 ลงมาเหลือเพียง ๕% ในปี 1993 และทุนอุดหนุนสินค้าการเกษตรก็ถูกตัดทอนลงไป

การประชุมรอบสุดท้ายของ GATT จบลงด้วยการตั้งองค์การการค้าโลก ที่เรียกสั้นๆ ว่า WTO ขึ้นมาดังกล่าวข้างต้น และ GATT ก็สลายตัวไปพร้อมกับการปิดประชุมรอบสุดท้ายนั้น ในวันที่ 15 เมษายน 1994

องค์การการค้าโลก หรือ WTO นี้ ถือกำเนิดในวันที่ 1 มกราคม 1995 โดยมีสมาชิกก่อตั้ง ๑๐๔ ประเทศ และ ๑๒๕ ชาติได้ลงนามในข้อตกลง ซึ่งจะเป็นแบบแผนที่ควบคุมการค้าของโลก รวม ๙๐% และ WTO ก็จะทำหน้าที่คอยดูแล กำกับ จัดปรับ เพื่อให้การค้าของโลกเป็นไปอย่างเสรีตามข้อตกลงนั้น

ในการขวนขวายหนุนให้ เอเปค/APEC เกิดเป็นการเป็นงานอย่างจริงจังขึ้นมาเพื่อสร้างเขตการค้าเสรีแห่งใหม่นั้น รัฐบาลของประธานาธิบดีคลินตัน ได้เรียกร้องให้ประเทศทั้งหลายในเอเชียมีการค้าที่ยุติธรรม (fair trade)

ถ้ามองอย่างง่ายๆ ก็เหมือนกับบอกว่า การค้าที่ยุติธรรม (fair trade) จะเกิดได้เมื่อมีการค้าอย่างเสรี (free trade)

แท้จริงนั้น ถ้าไม่พูดถึงปัญหาระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยกัน (โดยเฉพาะ ระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่น) ก็น่าจะย้อนถามว่า ใครกันแน่ที่ควรเป็นฝ่ายเรียกร้องให้มี “การค้าที่เป็นธรรม”

การค้าเสรี (free trade) นี้ย่อมช่วยให้เกิดการแข่งขัน (competition) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของระบบทุนนิยม หรือตลาดเสรี (free market economy) โดยเฉพาะเป็นหลักการที่สังคมอเมริกันนิยมเชิดชูเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม การค้าเสรีระหว่างประเทศนี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจการเมือง และในทางการเมืองนั้นการค้าเสรีจะมีวัตถุประสงค์สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง คือ การสร้างเอกภาพของประเทศทั้งหลายในภูมิภาคนั้นๆ ในการที่จะร่วมมือสามัคคี เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์และความมั่นคงร่วมกัน ดังจะเห็นได้ชัดเจนในกรณีของตลาดร่วมยุโรป ตั้งแต่เป็น EEC มาเป็น EC และเกิด EU ตลอดจนร่วมกับ EFTA ตั้ง EEA ขึ้นมา

พร้อมกันนั้น เมื่อ free หรือเสรี คือมีเสรีภาพแล้ว หลักการอีกอย่างหนึ่งของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องมาด้วย กล่าวคือความเสมอภาค (equality) เช่น การที่แต่ละประเทศในเขตการค้าเสรีนั้นจะต้องเปิดตลาดให้แก่กันอย่างเสมอภาค

ถ้าการค้าเสรีเป็นไปอย่างมีความเสมอภาคกันจริง การค้าเสรีนั้นก็จะเป็นการค้าที่ยุติธรรม คือ เป็นการค้าที่ทั้งเสรีและเป็นธรรม เป็น free and fair trade เพราะการค้าที่จะ fair หรือเป็นธรรมนั้น ก็คือจะต้องไม่เอาเปรียบกัน

แต่ถ้าเสรีโดยไม่มีความเสมอภาคจริง ก็อาจจะกลายเป็นเสรีภาพในการที่จะเอาเปรียบได้มากยิ่งขึ้น หรือเป็นเสรีภาพที่ช่วยส่งเสริมโอกาสแห่งการได้เปรียบที่มีอยู่แล้ว

ในกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ GATT ได้วางไว้ให้ก่อนจะสลายตัวไปนั้น ก็มีข้อกำหนดในการส่งเสริมการค้าที่ยุติธรรม คือ fair trade ไว้ด้วย แต่ก็คงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องพิจารณาด้วยความไม่ประมาท

โดยเฉพาะสำหรับ เอเปค/APEC ประเทศสมาชิกมีความแตกต่างหลากหลายมากอย่างที่กล่าวแล้ว วัตถุประสงค์เชิงเอกภาพทางการเมืองอย่าง EU ก็คงไม่มี หรืออย่างน้อยก็ไม่เหมือนกับ EU

ถ้าวัตถุประสงค์ด้านเอกภาพไม่มี ก็ขาดเครื่องประสานที่สำคัญ หลักการอย่างอื่นจึงอาจง่อนแง่นคลอนแคลนได้ง่าย

ความเสมอภาคก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและลึกซึ้งซับซ้อนไม่น้อย ประเทศทั้งหลายใน เอเปค/APEC นั้น โดยภาวะพื้นฐานก็ไม่เท่ากันอยู่แล้ว เช่น เป็นประเทศพัฒนาอย่างสูงแล้ว โดยเป็นประเทศอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งผ่านพ้นอุตสาหกรรมไปแล้วบ้าง เป็นประเทศกำลังพัฒนาบ้าง การที่จะสัมพันธ์กันหรือปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาคจะมีแง่มุมหลายอย่างที่มองและปฏิบัติได้ยาก

แม้แต่เฉพาะในแง่เศรษฐกิจ ก็มีความแตกต่างหรือไม่เท่าเทียมกันเป็นพื้นฐานอยู่ในตัว เช่น ฝ่ายหนึ่งมีทุนมหาศาล อีกฝ่ายหนึ่งยากจนขาดแคลน หรือเสียเปรียบในเชิงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ฝ่ายหนึ่งเป็นเศรษฐีออกเงินให้กู้ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นลูกหนี้ที่กู้เงินจากเศรษฐี เพื่อเอาเงินไปซื้อสินค้าของเศรษฐี พร้อมกับที่ต้องหาเงินมาชำระค่าดอกเบี้ยให้แก่เศรษฐีนั้น

ฝ่ายหนึ่งขายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งขายสินค้ามูลฐานเช่นพืชผลและวัตถุดิบ ฝ่ายหนึ่งซื้อถูกขายแพง อีกฝ่ายหนึ่งซื้อแพงขายถูก เช่น ฝ่ายหนึ่งปลูกพืชสมุนไพรขายไป ก.ก.ละ ๘ บาท อีกฝ่ายหนึ่งซื้อพืชนั้น ก.ก.ละ ๘ บาทแล้ว นำไปเป็นวัตถุดิบ ผลิตออกมาเป็นเภสัชภัณฑ์อุตสาหกรรม ขายให้แก่ฝ่ายแรก แคปซูลละ ๘ บาท หรืออาจจะถึง ๘๐ บาท

มองดูตัวเลขในการค้าของโลก สหรัฐ คานาดา ยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่น เป็นแหล่งของสินค้าส่งออก ๒ ใน ๓ ของทั้งโลก

ส่วนประเทศที่พัฒนาน้อยทั้งหลาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ขายสินค้ามูลฐาน เป็นแหล่งของสินค้าส่งออก ๒๐% ของโลก และสินค้าส่งออกของประเทศพัฒนาน้อยเหล่านั้นเกินกว่า ๒ ใน ๓ ส่งไปยังประเทศอุตสาหกรรม (“international trade,” New Grolier Multimedia Encyclopedia, 1994)

ตัวเลขเหล่านี้ ถ้ามองลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง เช่น นำเอาภาวะที่ฝ่ายหนึ่งซื้อถูกขายแพง และอีกฝ่ายหนึ่งซื้อแพงขายถูก เข้ามาพิจารณาประกอบด้วย จะมองเห็นภาพของความเป็นจริงอีกชั้นหนึ่งที่ยิ่งห่างออกไปจากตัวเลขที่ยกมาอวดแสดงกันอย่างมากมาย

ทั้งนี้ ยังไม่ได้พูดถึงความแตกต่างในด้านคุณภาพคนหรือที่เรียกว่าทรัพยากรมนุษย์ เช่น การศึกษา ความรู้ทางวิชาการ ความสามารถเชิงเทคโนโลยี และค่านิยม เป็นต้น ซึ่งจะมองข้ามมิได้

ในการที่จะก้าวให้ถึงเป้าแห่งการค้าเสรี ก็จะมีการลดภาษีศุลกากรขาเข้า จนเลิกไม่ต้องเก็บเลย เลิกกำหนดโควต้าสินค้าเข้า ไม่ให้ทุนอุดหนุนสินค้าในประเทศที่จะส่งออก หรือที่จะกันสินค้าเข้าจากต่างประเทศ และเปิดโอกาสแก่ต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุน เป็นต้น

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ว่านั้น ก็จะต้องมีความสามารถที่จะจัดดำเนินการไม่ให้ความแตกต่างเชิงได้เปรียบและเสียเปรียบที่กล่าวข้างต้น มาทำให้การแข่งขันเสรี (free competition) ไม่เป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม (fair competition) อันจะเป็นเหตุให้การค้าเสรี (free trade) ไม่เป็นการค้าที่เป็นธรรม (fair trade)

นอกจากนั้น ที่สำคัญยิ่งคือ จะต้องระลึกตระหนักในความจริงที่ว่า ประเทศทั้งหลายที่เข้ามาร่วมเขตการค้าเสรีนั้น มีวัตถุประสงค์ข้อใหญ่ที่สุด คือการแสวงหาและรักษาผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติของตน

(อเมริกายึดแนวคิด individualism คือปัจเจกนิยมอยู่แล้ว แนวคิดนี้ ซึ่งเป็นฐานของระบบแข่งขัน ถือว่า เมื่อแต่ละคนแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง สังคมที่เป็นผลรวมก็จะพลอยเจริญไปเอง แนวคิดนี้ย่อมขยายออกมาใช้ในระดับประเทศต่อประเทศด้วย)

ไม่ต้องพูดถึงคำปราศรัยของประธานาธิบดีคลินตันที่กล่าวถึง NAFTA ข้างต้น

แม้แต่เมื่อตั้งองค์การการค้าโลก (WTO) กันได้แล้ว ในวันที่ 1 มกราคม 1995 เวลาผ่านไปไม่ทันไร สหรัฐกับญี่ปุ่นก็หวุดหวิดจะเกิดสงครามการค้า (trade war) กันในเรื่องสินค้ารถยนต์ เพราะการได้การเสียผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวกัน

เรื่องก็คือ วันที่ 11 มกราคม 1995 ประธานาธิบดีคลินตัน กล่าวย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องลดการค้าที่เกินดุลของญี่ปุ่น

ต่อมาฝ่ายสหรัฐก็วางแผนเก็บภาษีศุลกากรรถยนต์ราคาแพงของญี่ปุ่น ๑๓ รายการ ให้ได้เงิน ๕.๙ พันล้านดอลลาร์ (แทนที่จะลดหรือเลิกเก็บภาษีตามหลักการค้าเสรี) ญี่ปุ่นก็ไม่ยอม ต้องว่ากันนานจึงตกลงกันได้

เรื่องราวเช่นนี้เป็นตัวอย่างที่เตือนให้มีความรู้เท่าทันที่จะวางตัววางท่าทีต่อสถานการณ์ให้ถูกต้อง

ขณะที่ประเทศอภิมหาอำนาจกำลังนำโลกเดินหน้าเข้าสู่ยุคแห่งการค้าเสรีไร้พรมแดนนั้น พอก้าวไปได้ไม่เท่าไร การค้าของโลกก็มาเจอเข้ากับวิกฤติเศรษฐกิจที่เริ่มต้นในเอเชีย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1997 เป็นต้นมา

มนุษย์ผู้ประสบทุกข์จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ มัวแต่คิดถึงปัญหาเฉพาะหน้าของตัวจนทำท่าจะลืมไปว่า ลึกลงไปใต้ปัญหาเศรษฐกิจของตนนั้น มีปัญหาใหญ่ยืนพื้นที่จะต้องแก้ไขระยะยาวรออยู่ตลอดเวลา คือปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

พอปัญหาเฉพาะหน้าผ่อนเบาลงบ้าง ก็หลงละเลิงมัวเมา จมอยู่ในความประมาทต่อไป ไม่มีจิตสำนึกที่จะแก้ไขปัญหาและทำการสร้างสรรค์ที่แท้จริงยั่งยืน

ปัญญา คือความรู้เท่าทันและปรีชาสามารถในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนรู้จักจัดทำดำเนินการ พร้อมทั้งเจตนาอันสุจริต ที่ปฏิบัติด้วยความไม่ประมาทอย่างมั่นคงจริงจังเท่านั้น ที่จะแก้ไขปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ระยะยาวคือการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน หรือปัญหาเฉพาะหน้าแห่งวิกฤตเศรษฐกิจ

ที่ว่านี้ รวมทั้งปฏิบัติการที่จะให้การค้าเสรีเกิดผลดีตามหลักการที่ยกขึ้นมาอ้างแก่กัน และไม่ให้การค้าเสรีนั้น กลายเป็นเรื่องของ “จักรวรรดินิยมแห่งการค้าเสรี” (“The Imperialism of Free Trade”) ในทำนอง “จักรวรรดินิยมนอกแบบ” (“informal imperialism”) อย่างที่เคยมีผู้พูดไว้ (หน้า ๑๐๖)1

1ภาค ๒ นี้ยังไม่จบ เขียนค้างไว้เพียงนี้ ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๑ เฉพาะอย่างยิ่งบทสรุปใหญ่ท้ายเรื่อง ซึ่งเป็นสาระสำคัญของภาคนี้ อันจะเชื่อมโยงเนื้อหาที่กล่าวมา เข้ากับเป้าหมายของหนังสือ เมื่อยังไม่มีบทสรุปดังกล่าว ผู้ที่อ่านมาถึงตอนนี้ อาจจะแปลกใจว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นต้นในตอนท้าย จะเกี่ยวข้องกับสาระของหนังสืออย่างไร จึงเป็นอันมีพันธะที่จะต้องหาโอกาสเขียนต่อให้จบ
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง