มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ทัพมุสลิมทะลวงตะวันตก ทะลุตะวันออก

หันไปดูทางด้านอินเดีย ได้กล่าวแล้วว่าทัพอาหรับบุกถึงลุ่มน้ำสินธุตั้งแต่ ค.ศ.711 แม้จะยังบุกลึกกว่านั้นเข้าไปไม่ได้ แต่ก็มีการเดินทางค้าขายติดต่อกัน และการสังสรรค์ทางวัฒนธรรม

โดยเฉพาะในคริสต์ศตวรรษ 9-10 ที่อินเดียมีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา เช่น นาลันทา รุ่งเรืองอยู่แล้ว ทำให้ชาวมุสลิมที่แบกแดดได้รับถ่ายทอดความรู้ด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ จากอินเดีย อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่ายุคนี้ ปราชญ์มุสลิมมีศิลปวิทยาก้าวหน้ากว่ายุโรปมาก

แม้แต่ตัวเลขอาระบิก (1 2 3 . . . 0) ที่ฝรั่งใช้และเผยแพร่ไปทั่วโลกเวลานี้ ก็เกิดขึ้นในอินเดียตั้งแต่ราว ๒๐๐ ปีก่อน ค.ศ. เวลาผ่านมานานจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 7-8 ชาวมุสลิมอาหรับจึงได้รับตัวเลขอินเดียไปใช้ แล้วจากนั้นชาวยุโรปก็นำไปใช้ต่อ โดยเข้าใจว่าเป็นของอาหรับ (จึงเรียกว่า “อาระบิก”) เท่าที่พบใช้ครั้งแรกในเมืองฝรั่ง เมื่อ ค.ศ.976

ในช่วง ค.ศ.1000 ชาวมุสลิมที่เข้ามาในอินเดีย ไม่ใช่เป็นพวกอาหรับอย่างยุคก่อน แต่เป็นพวกเตอร์กส์ อาฟข่าน เปอร์เซีย และมองโกล

การรุกรานครั้งใหญ่เริ่มขึ้นในช่วง ค.ศ.1001-1027 โดย มะหะหมุดแห่งฆาซนี (Mahmud of Ghazni) แม่ทัพมุสลิมเตอร์กส์ จากอาฟกานิสถาน ซึ่งใช้วิธีทำลายล้างอย่างรุนแรง ทั้งฆ่าไม่เลือก เผา และปล้นทรัพย์ เขาสามารถผนวกแคว้นปัญจาบเข้าในอาณาจักรของตน

ครั้งนั้น คนฮินดูวรรณะต่ำ และชาวพุทธได้เปลี่ยนมาเป็นมุสลิมจำนวนมาก

แม่ทัพเตอร์กส์มุสลิมที่สืบอำนาจต่อมา ได้รุกอินเดียลึกเข้ามาเรื่อยๆ จนถึง ค.ศ.1206 ก็ชนะตลอดจนสุดแดนภาคตะวันออกของอินเดีย ได้ครอบครองตั้งแต่ปัญจาบไปจนถึงแคว้นพิหาร (เทียบปัจจุบันถึงบังคลาเทศ) และสถาปนาอาณาจักรสุลต่านแห่งเดลี (Delhi Sultanate) ขึ้นเป็นรัฐมุสลิมแรกแห่งอินเดีย (อยู่ในช่วงระยะเดียวกับที่เจงกิสข่านบุกตะวันตก)

การรุกรานของกองทัพเตอร์กส์มุสลิม ช่วงสุดท้ายนี้ ได้กวาดล้างพระพุทธศาสนาให้สูญสิ้นไปจากชมพูทวีป ด้วยการฆ่า ปล้นทรัพย์ บังคับให้เปลี่ยนศาสนา และโดยเฉพาะเผาทำลายศูนย์กลางใหญ่ๆ คือวัด และมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทั้งหลาย เช่น นาลันทา วิกรมศิลา เป็นต้น ในช่วง พ.ศ.๑๗๐๐ (ค.ศ. ช่วงใกล้ 1200)

อาณาจักรสุลต่านแห่งเดลีปกครองอินเดียสืบต่อกันมาชั่ว ๓๔ สุลต่าน ท่ามกลางความโหดเหี้ยมทารุณ การล้างผลาญชีวิต และการแย่งชิงอำนาจกัน

จนกระทั่ง ค.ศ.1526 แม่ทัพมุสลิมเชื้อสายเตอร์กมงโกล จากเปอร์เซีย ก็ได้ตั้งราชวงศ์โมกุลอันยิ่งใหญ่ขึ้นในอินเดีย ซึ่งปกครองอินเดียมาอย่างยาวนานจนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และสิ้นสุดวงศ์ใน ค.ศ.1858

ย้อนกลับมาทางด้านตะวันตก เมื่ออาณาจักรมงโกลชั้นลูกหลานของเจงกิสข่าน เริ่มเสื่อมอำนาจลงตั้งแต่ใกล้ ค.ศ.1330 พวกเตอร์กส์มุสลิมก็เริ่มมีอำนาจแข็งกล้าขึ้นมาแทนที่ ในช่วง ค.ศ. 1300 อุสมานที่ ๑ ได้ตั้งราชวงศ์ออตโตมานเตอร์กส์ขึ้น แล้วแย่งชิงเมืองน้อยใหญ่จากจักรวรรดิบีแซนทีน

ลูกหลานของอุสมานที่ ๑ นั้น แผ่ขยายดินแดนต่อมาจนถึง ค.ศ.1453 ก็ทำลายจักรวรรดิบีแซนทีนลงได้ และยึดเอาเมืองคอน-สแตนติโนเปิลมาเป็นเมืองหลวงแห่งจักรวรรดิออตโตมาน (Ottoman Empire)

ฝรั่งมักถือว่า การสลายของจักรวรรดิบีแซนทีน หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก ใน ค.ศ.1453 นี้ เป็นจุดกำหนดการสิ้นสุดแห่งสมัยกลางของยุโรป (Middle Ages)1

ต่อจากนั้น จักรวรรดิออตโตมานได้แผ่ขยายอำนาจขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ เข้าไปในยุโรป ยึดครองยูโกสลาเวีย และฮังการีได้ สามารถมาปิดล้อมกรุงเวียนนาถึง ๒ ครั้ง คือ ใน ค.ศ. 1529 และ ค.ศ.1683

หลังจากนั้น จักรวรรดิออตโตมานได้เสื่อมลงเรื่อยมา โดยเฉพาะในช่วงใกล้จะสิ้นคริสต์ศตวรรษ 19 ได้สมญาว่าเป็น “บุรุษซมโรคแห่งยุโรป” (Sick Man of Europe) จนกระทั่งสิ้นสลายลงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ กลายเป็นสาธารณรัฐเตอรกี ใน ค.ศ.1923

การเรืองอำนาจขึ้นมาของจักรวรรดิมุสลิมเตอร์กส์ เป็นอุปสรรคกีดขวางการแผ่ขยายดินแดนของประเทศตะวันตก เป็นเหตุให้ประเทศตะวันตกเหล่านั้น เริ่มแต่สเปนและโปรตุเกส ต้องหันไปแสวงหาอาณานิคมและเผยแผ่ศาสนาด้วยการเดินทัพทางทะเล รวมทั้งไปค้นพบโลกใหม่ คืออเมริกา

ดินแดนที่ทัพมุสลิมยึดครองได้ในประวัติศาสตร์นั้น กว้างขวางยิ่งใหญ่ ตั้งแต่สเปนไปจนถึงอินเดียและจดแดนจีน

1บางตำราว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่ (modern era) ด้วย (“Byzantine Empire,” The Concise Columbia Encyclopedia, 1983) แต่พึงเทียบความหน้า ๘๐ และ ๑๑๓ ด้วย
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง