มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เมื่อยุคอุตสาหกรรมเริ่มต้น
คนตะวันตกตื่นตัวมีชีวิตชีวาด้วยความหวังใหม่

การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษปรากฏเริ่มแรกที่อุตสาหกรรมการทอผ้า เมื่อมีผู้ประดิษฐ์เครื่องอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กระสวย หูก เครื่องปั่นด้ายอย่างใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพขึ้นมา ในช่วง ค.ศ. 1733-1785 เครื่องจักรก็เริ่มเข้ามามีบทบาททำงานแทนแรงคน

พร้อมกันนั้น ด้านพลังงานก็เป็นใจเข้ามาหนุนได้จริงจังใน ค.ศ.1765 (บางตำราว่า 1769) เมื่อเจมส์ วัตต์ (James Watt) พัฒนาเครื่องจักรไอน้ำ (steam engine) ที่มีผู้ประดิษฐ์ไว้ก่อนหน้านั้น (Thomas Savery เริ่มต้นไว้ใน ค.ศ.1698 และ Thomas Newcomen พัฒนาขึ้นอีกใน ค.ศ.1712 หรือบางตำราว่า 1705) โดยแก้ไขปรับปรุงให้ใช้พลังงานไอน้ำกับเครื่องจักรประเภทต่างๆ ในสถานการณ์ที่แปลกกันไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อุตสาหกรรมด้านต่างๆ ก็ขยายตัว มีการตั้งโรงงานเพิ่มมากขึ้นๆ

ต่อมา เรือไฟหรือเรือไอ (1807) รถไฟ (1825 ในอเมริกา และ 1829 ในอังกฤษ) และถนนหนทางอย่างสมัยใหม่ ก็มาช่วยให้การขนส่งสินค้า อาหาร และวัตถุดิบดำเนินไปได้เต็มที่

เมื่อเครื่องจักร (machine) พลังงาน (energy) และ โรงงาน (factory) เข้ามาประสานกันแล้ว ก็เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง และอุตสาหกรรมก็เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

แต่นอกจากด้านวัตถุแล้ว สิ่งที่เป็นกลไกขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง ก็คือ ระบบการแบ่งงาน (division of labor) ซึ่งเป็นไปตามความชำนาญเฉพาะด้านนั้นๆ (specialization) โดยมีการจำแนกแยกซอยงานอย่างละเอียดถี่ยิบ ตามแนวคิดของอาดัม สมิธ (Adam Smith)

อีกทั้งนโยบายปล่อยให้ปัจเจกชนแสวงหาผลประโยชน์กันไป โดยรัฐไม่เข้าไปวุ่นวายแทรกแซง (individualism และ laissez-faire) ก็เข้ามาหนุนให้ทุนนิยมอุตสาหกรรม (industrial capitalism) ขยายตัวแผ่อิทธิพลไปทั่ว

พร้อมกันนั้น ระบบอาณานิคมก็ก้าวขึ้นสู่ยุคใหม่ นโยบายการแสวงหา ยึดครองและจัดการกับอาณานิคมเปลี่ยนไป โดยมุ่งให้อาณานิคมทั้งหลายเป็นตลาดระบายสินค้า และเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบและอาหารให้แก่ประเทศอุตสาหกรรม

คนชั้นสูงในยุโรปเริ่มแต่ยุควิกตอเรียในอังกฤษ เริ่มมีชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย และมีเวลาพักผ่อนหาความสุขสำราญมากยิ่งขึ้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง