มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ท่าทีทั่วไปของพุทธศาสนาต่อลัทธิศาสนาอื่น

ที่พูดมานี้ ก็เพื่อให้เห็นว่าที่แท้แล้ว พุทธศาสนา อย่างน้อยก็ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา มีความมุ่งหมายอยู่ที่ตัวเนื้อหาสาระ และเราก็เข้าใจรูปแบบที่จัดตั้งขึ้นมาว่ามีขึ้นด้วยความจำเป็น เพื่อห่อหุ้มรักษา เพื่อเป็นสื่อหรือเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการที่จะเข้าถึงหลักการกันต่อไป

ถ้าเข้าใจกันอย่างนี้ เราก็จะไม่ค่อยมองในแง่ว่าเป็นเรื่องของศาสนาโน้นของศาสนานี้ แต่จะมองโดยสัมพันธ์กับเนื้อหา ว่าจะช่วยให้เราเข้าถึงความจริงความดีงามได้อย่างไร ซึ่งในที่สุดมันก็เป็นเรื่องของปัญญา คือเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ต้องการค้นหาตัวความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เพื่อรู้ เพื่อเข้าใจ และเพื่อทำให้เป็นประโยชน์ แล้วก็โยงมาหาชื่อตรงที่ว่าทำอย่างไรจะให้รูปแบบนี้มาเป็นสื่อแก่ปัญญาได้

เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นกันอย่างนี้แล้ว เราก็จะเห็นท่าทีของพุทธศาสนาต่อสิ่งที่เรียกว่า “ศาสนาอื่น” หรืออาจจะเรียกว่า ทัศนะอื่น

ทีนี้ จากพุทธประวัติ หรือตามที่เราดูปฏิปทา หรือพระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้า เช่นในเรื่องราวที่มีผู้มาพบพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามพระองค์ในเรื่องธรรม หรือเรื่องความจริงต่างๆ เมื่อพูดถึงทัศนะของผู้นั้น ผู้นี้ ตามปกติพระพุทธเจ้าจะไม่วิจารณ์สิ่งที่เราเรียกกันว่า “ศาสนาอื่น” หรือแม้แต่คนที่ถือศาสนาอื่น

เมื่อคนมาหาพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า “เรื่องนี้คนโน้นว่าอย่างนั้น คนนั้นว่าอย่างนี้ คนไหนจะถูก” พระองค์ก็จะตรัสว่า “เรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ฉันจะพูดธรรมให้คุณฟัง” หมายความว่า ให้เขาฟังสิ่งที่พระองค์ได้เห็น ได้รู้ แล้วก็วินิจฉัยเอาเอง พระองค์ไม่ไปตัดสินใคร

ขอยกตัวอย่างเรื่องในจูฬสาโรปมสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรในพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ ว่า

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระนครสาวัตถี ที่พระเชตวัน ครั้งนั้นพราหมณ์ชื่อปิงคลโกจฉ์เข้ามาเฝ้า และได้ทูลพระพุทธเจ้าว่า มีสมณพราหมณ์พวกนักบวชต่างๆ ซึ่งเป็นเจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ผู้มีชื่อเสียง มียศ มีศักดิ์ ได้แก่ ท่านปูรณกัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถนาฏบุตร (ที่เรียกกันว่า ครูทั้ง ๖) ศาสดาทั้ง ๖ ท่านนี้ เป็นผู้ที่ตรัสรู้เข้าถึงความจริงตามปฏิญาณของตนทุกท่าน หรือว่า บางท่านก็รู้จริง บางท่านก็ไม่รู้จริง หรือไม่มีใครรู้เลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “พราหมณ์ พักไว้ก่อนเถอะ ท่านเหล่านั้นจะรู้จริงตามปฏิญาณของตนทุกท่าน หรือทุกท่านไม่รู้จริง หรือบางท่านรู้ บางท่านไม่รู้ เอาไว้ก่อน เราจะแสดงธรรมแก่ท่าน”

(ม.มู.๑๒/๓๕๓)

นี่ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงต้องการพูดถึงเนื้อหา และเมื่อพระองค์ตรัสแสดงไป พวกเขาก็มีสิทธิใช้ปัญญาพิจารณาเอาเอง และไปวินิจฉัยเอาเอง ว่าคำสอนของพระองค์เป็นอย่างไร และที่ว่าศาสดาโน้นสอนอย่างนี้ ศาสดานี้สอนอย่างนั้น เป็นความจริงอย่างที่สอนหรือไม่ เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าไม่ต้องตัดสิน

นี่ก็เป็นท่าทีที่เป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องของการให้สิทธิในการใช้ปัญญา และเป็นลักษณะหนึ่งของการมีเสรีภาพทางปัญญา การที่ยกพุทธประวัติมาให้ดู เป็นการแสดงถึงท่าทีของพระพุทธเจ้าเอง ส่วนท่าทีทั่วไป เดี๋ยวอาจจะพูดกันอีก

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง