มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

น่าชมฝรั่งดี ที่มีความใฝ่รู้ ทำให้พบเรื่องพระเจ้าอโศก
น่าเห็นใจฝรั่ง ที่ไม่มีพื้นฐาน ต้องใช้เวลานานจึงเข้าใจอโศก

ขอย้อนกลับไปพูดถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชเพิ่มเติมว่า

เมื่อครั้งมีการศึกษาเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชกันใหม่ๆ ตอนนั้นยังค้นพบศิลาจารึกอโศกไม่ได้มากอย่างปัจจุบัน นักปราชญ์ทั้งหลาย ซึ่งจำนวนมากเป็นชาวตะวันตก (เรื่องพระเจ้าอโศก และจารึกอโศก ฝรั่งเป็นผู้เริ่มต้นขึ้น) อ่านจารึกอโศกแล้ว เห็นว่ามีเนื้อความสอนเรื่องการทำความดีต่างๆ โดยไม่ได้มีคำระบุถึงพุทธศาสนา

บางพวกก็ลงความเห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราชไม่ได้นับถือพุทธศาสนาเป็นพิเศษกว่าศาสนาอื่นๆ หรอก พระองค์ก็ทรงปฏิบัติดีและอุปถัมภ์บำรุงทุกศาสนาเหมือนกัน (คล้ายกับบอกว่าชาวพุทธตู่เอาเองว่า พระเจ้าอโศกนับถือพุทธศาสนา)

แต่ต่อมาเมื่อมีการค้นพบศิลาจารึกทั่วถึงมากขึ้น พร้อมทั้งหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ ที่ระบุหรือแสดงชัดว่าพระเจ้าอโศกทรงนับถือพุทธศาสนา เสียงนั้นจึงหายไป เวลานี้ตำรับตำราต่างๆ ก็เขียนลงกันทั่วไปว่า พระเจ้าอโศกมหาราชนับถือพุทธศาสนา

ถึงกระนั้นก็ตาม ฝรั่งก็ยังตั้งแง่อีกว่า ถึงแม้พระเจ้าอโศกจะนับถือพุทธศาสนา แต่ก็ทรงถือเป็นเรื่องส่วนพระองค์ ดังจะเห็นว่า เมื่อทรงทำศิลาจารึกสั่งสอนแนะนำประชาชน ก็ทรงกล่าวถึงการทำความดีเป็นกลางๆ โดยไม่ได้อ้างพุทธศาสนา

การที่ฝรั่งเข้าใจอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ ก็เพราะเขาอยู่ใต้อิทธิพลแห่งภูมิหลังทางวัฒนธรรมตามประวัติศาสตร์ของตะวันตก ที่เรื่องของความเชื่อถือ คำสอนและการปฏิบัติเป็น dogma คือเป็นข้อกำหนดตายตัว เป็นเทวบัญชาออกมา จะต้องหมั่นกล่าวถึงพระเป็นเจ้าและคอยอ้างอิงโองการของพระองค์อยู่ไม่ให้ขาด

เขาไม่เข้าใจความรู้สึก ไม่รู้จักวิธีคิดและวิธีแสดงออกแบบพุทธ เช่นว่า

ก) คำสอนในทางพุทธศาสนาเป็นการพูดถึงความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ และกล่าวถึงความประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ที่ถูกต้องสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้น

ตำรับตำราในพุทธศาสนาบางทีทั้งบททั้งตอนกล่าวถึงธรรมคือหลักการหรือหลักความจริง พร้อมทั้งอธิบายขยายความไป จนจบบทจบตอน โดยไม่เอ่ยถึงพระพุทธเจ้าเลยก็มี

(ตำราหรือคัมภีร์เหล่านี้ เมื่อแปลเป็นภาษาไทย ได้มีความนิยมสืบต่อกันมาว่า ผู้แปลจะเติมนามของท่านผู้กล่าวหรืออธิบายความนั้นไว้ด้วย เช่นเติมคำว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า” เป็นต้น)

ปัจจุบัน ในประเทศไทยนี้เองก็เห็นได้ชัด มีการนำหลักธรรมในพุทธศาสนา ไปจัดวางเป็นหลักการบางอย่างบ้าง นำไปอธิบายขยายความบ้าง บางทีเลือกเอาบางส่วนบางข้อไปใช้บ้าง โดยไม่บอกเลยว่ามาจากพุทธศาสนา ซึ่งบางทีก็ไปไกลกว่าวิธีของพระเจ้าอโศก

ว่าที่จริง เวลานี้ในทางวิชาการก็ถือกันนักว่า เมื่อนำวาทะของใครมากล่าว ก็ควรอ้างแหล่งที่มาไว้ด้วย เพื่อเป็นการแสดงความซื่อสัตย์ทางวิชาการ เพื่อแสดงความเคารพต่อท่านผู้กล่าว และเพื่อแสดงว่าข้อเขียนนั้นมีหลักฐานที่มาที่ไป ไม่เลื่อนลอย

ไฉนเราจะนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาว่าเอาตามชอบใจ เหมือนดังไม่เคารพพระองค์

ถ้าทำกันอย่างนี้ ก็จะมีผู้ตำหนิได้ว่า ทีวาทะของปราชญ์ตะวันตกละก็ชอบอ้างชื่อเขานัก แต่วจนะของพระพุทธเจ้ากลับแกล้งละเลย ไม่ยอมอ้างอิง

(ยิ่งกว่านั้น บางทียังเอาไปตัดต่อดัดแปลงตามความคิดของตนเอง หรือตามชอบใจอีกด้วย ทำให้เกิดความผิดพลาดโดยรู้ไม่เท่าถึงการณ์)

ข) สืบเนื่องจากข้อก่อน หลักคำสอนในพุทธศาสนาจึงไม่เป็น dogma คือไม่เป็นข้อกำหนดตายตัว ที่บังคับให้ต้องเชื่อถือปฏิบัติโดยไม่อาจถามหรือสงสัยได้ คือไม่ต้องนำเสนอในรูปแบบของคำสั่งหรือคำบัญชาจากท่านผู้เป็นเจ้าของอำนาจท่านนั้นท่านนี้ จึงมีการนำหลักธรรมมาสั่งสอนอธิบายกันอย่างเป็นอิสระมาก (ซึ่งก็เสี่ยงอันตรายต่อการที่จะมีการดัดแปลงคำสอน)

จนไปๆ มาๆ ดังที่ปรากฏในเมืองไทยเวลานี้ กลายเป็นธรรมะของพระอาจารย์องค์นั้น ธรรมะของพระอาจารย์องค์นี้ แทนที่จะเป็นของพระพุทธเจ้า

(สำหรับของพระเจ้าอโศก ฝรั่งบางคนก็ใช้ทำนองนั้นเหมือนกันว่า Asoka’s Dharma)

ค) ฝรั่งเหล่านั้นยังไม่ได้ศึกษาค้นคว้า ด้วยการตรวจสอบสืบค้นอย่างเพียงพอ เมื่อไม่มีการอ้างอิงไว้ในศิลาจารึกเอง เราจะต้องนำหลักการและข้อปฏิบัติต่างๆ ที่แนะนำไว้ในจารึกอโศกนั้น มาสืบค้นดูในคัมภีร์พุทธศาสนา โดยเฉพาะคือพระไตรปิฎก ให้กว้างขวางเพียงพอ จึงจะบอกได้ว่าส่วนไหนมาจากคำสอนในคัมภีร์แห่งใด

มีทางเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งด้วยว่า ก่อนจะมาถึงศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกนี้ คำสอนในพระไตรปิฎก ได้ออกมาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวพุทธที่สืบต่อกันมาเป็นปกติอยู่ก่อนแล้ว จากสภาพพื้นเพภูมิหลังอย่างนั้น จึงมาถ่ายทอดออกในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง