มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ญี่ปุ่นผงาด ตามด้วยขบวนเสือแห่งเอเชียก้าวเด่นขึ้นมา
แต่ไม่ทันช้า ทั้งหมดก็พากันซบเซา

ญี่ปุ่นเมื่อแพ้สงครามโลกในปี 1945 แล้ว การเมืองและการทหารอยู่ในการควบคุมดูแลของสหรัฐ ก็ตั้งหน้าฟื้นฟูประเทศและพัฒนาด้านเศรษฐกิจจนเจริญอย่างรวดเร็ว

แม้หลังจากการยึดครองของอเมริกันจบไปแล้ว การเมืองก็มั่นคงอยู่ภายใต้พรรคการเมืองเดียวคือพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP=Liberal Democratic Party) พอถึงทศวรรษ 1970s ก็กลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออกดังกล่าวแล้ว

ยิ่งถึงปลายทศวรรษ 1980s เศรษฐกิจที่เจริญของญี่ปุ่นก็ถึงขั้นเป็นที่หวาดกังวลของอเมริกาอย่างหนัก ดังที่มีหนังสือแสดงความรู้สึกด้านนี้ออกมามาก (เช่น Yen: Japan’s New Financial Empire and Its Threat to America (1988) ของ Daniel Burstein และ The Coming War with Japan (1991) ของ George Friedman & M.Lebard)

อย่างไรก็ตาม เรื่องการคอรัปชันภายในพรรค LDP ได้เริ่มอื้อฉาวขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้พรรค LDP ง่อนแง่นลง จนในที่สุดเสถียรภาพทางการเมืองของญี่ปุ่นก็จบสิ้นลง เมื่อพรรค LDP ซึ่งครองญี่ปุ่นมา ๓๘ ปี (เริ่มก่อตั้ง พ.ย. 1955) ได้หมดอำนาจลงเมื่อรัฐบาลแพ้คะแนนเสียงถูกลงมติไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 1993 และเดือนต่อมาก็แพ้ในการเลือกตั้งใหม่

จากนั้น ญี่ปุ่นเปลี่ยนรัฐบาลแล้วๆ เล่าๆ จนใครๆ ไม่อาจทำนายอนาคตของญี่ปุ่นได้

การขาดเสถียรภาพทางการเมือง และการที่เงินเยนแข็งมีค่าขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในเดือนกันยายน 1993 ขึ้นมาแตะ ๑๐๐ เยนต่อดอลลาร์ เป็นเหตุให้เศรษฐกิจทรุด จนกระทั่งในปี 1993 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกลายเป็น 0 ซึ่งตกต่ำที่สุดนับแต่เกิดวิกฤติการณ์น้ำมันใน ค.ศ. 1974

แต่ถึงแม้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะตกต่ำลง ในปี 1993 นั้น ญี่ปุ่นก็ยังมีการค้าเกินดุลถึง ๑ แสน ๔ หมื่นล้านดอลลาร์

ค่าของเงินเยนพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่งตอนต้นปี 1995 โดยขึ้นถึง ๘๐ เยนต่อดอลลาร์ ในเดือนเมษายนปีนั้น ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ต่อจากนั้นค่าของเงินเยนก็ตกลงมาเรื่อยๆ จนกลายเป็น ๑๑๓ เยนต่อดอลลาร์ ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1996

การค้าของญี่ปุ่นที่เกินดุลมายาวนาน ก็ตกฮวบลงจากแสนกว่าล้านดอลลาร์ จนคาดหมายว่าเมื่อถึงสิ้นปี 1996 จะเหลือเพียงประมาณ ๖,๕๐๐ ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เสื่อมทรุดไปมากนั้น ได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นใหม่ ตั้งแต่ครึ่งหลังของ ค.ศ. 1995 จนทำให้ ค.ศ. 1996 เป็นช่วงที่ดีที่สุดในระยะ ๕ ปี โดยมีอัตราความเจริญเติบโตที่หนักแน่นที่สุดในรอบ ๒๐ ปี

วงการเศรษฐกิจกล่าวว่า เป็นครั้งแรกในช่วงเวลาหลายปี ที่ประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดทั้งสองของโลก คือสหรัฐ กับญี่ปุ่น มาถึงจุดบรรจบที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประสานสอดคล้องกันมากขึ้น (Britannica Book of the Year 1997)

แต่เมื่อมองเชิงเปรียบเทียบโดยภาพรวม ก็เป็นการบรรจบที่ไม่ไปด้วยกัน ในขณะที่ สหรัฐอยู่ในขาขึ้น ส่วน ญี่ปุ่นอยู่ในขาลง

ความตกต่ำทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเหมือนจะถูกซ้ำอีกครั้งหนึ่งเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย เริ่มแต่ปี 1997

ส่วนประเทศที่พัฒนาน้อย หรือด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า “โลกที่สาม” (Third World) นั้น หลังทศวรรษ 1970s มาแล้ว บางประเทศได้เจริญทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งต่อมาได้มีคำเรียกเกิดขึ้นใหม่ว่า เป็น “นิค” (NIC) คือเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (newly industrialized country หรือ newly industrializing country)

บางตำราแยกเป็น “นิคส์ชั้นนำ” โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ กับ “นิคส์อย่างว่า” เช่น บราซิล มาเลเซีย เมกซิโก และประเทศไทย (“Newly Industrializing Country,” Oxford Interactive Encyclopedia, 1997) โดยที่นิคส์แท้หรือนิคส์ชั้นนำ ล้วนอยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก เช่นเดียวกับจีน และญี่ปุ่น ซึ่งมีความสำคัญในเศรษฐกิจโลกอย่างมาก

ในทศวรรษ 1980s เป็นต้นมา ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกได้ย้ายจากยุโรปและอเมริกาเหนือมายังย่านเอเชีย-แปซิฟิก นโยบายของสหรัฐก็ให้ความสนใจแก่ญี่ปุ่นและจีนมากขึ้น พร้อมกับเอาใจใส่ด้านยุโรปน้อยลง

ในช่วงต้นๆ แห่งทศวรรษ 1990s ที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายมีเศรษฐกิจซบเซากันโดยทั่วไป ประเทศที่พัฒนาน้อยทั้งหลาย (less developed countries/LDC) กลับมีเศรษฐกิจที่เจริญขยายตัวดีกว่ามาก

โดยเฉพาะประเทศขอบมหาสมุทรแปซิฟิกฟากตะวันตก ที่เรียกกันว่า “Pacific Rim” กลายเป็นกลุ่มประเทศที่เจริญรวดเร็วที่สุดในโลก

ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ ซึ่งเดินตามรอยญี่ปุ่น และได้อาศัยเสถียรภาพในภูมิภาคซึ่งเกิดจากสงครามเย็น ที่สหรัฐกับโซเวียตแข่งอำนาจกันเป็นร่มเงาให้เช่นเดียวกัน ได้สร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย ดังที่ได้เป็น “นิคส์ชั้นนำ” แล้วนั้น และได้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้นจนเรียกกันว่าเป็น “เสือ” แห่งเอเชีย (Asian “Tigers” หรือ “Tiger Economies”)

ตำรับตำราและสารคดีของฝรั่งจำนวนมากพากันตื่นเต้นสนใจดินแดนแถบนี้ และพยากรณ์ว่า ประเทศกลุ่มนี้จะรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างนั้นอย่างนี้ (เช่น “20th-Century International Relations,” Britannica, 1997 และหนังสือของนักทำนายอนาคต เช่น Megatrends 2000 (1990) ของ John Naisbitt เป็นต้น)

ในปี 1996 ประเทศไทยก็พลอยได้มีชื่อเป็นเสือเศรษฐกิจ (Tiger Economy) ไปด้วย (Britannica Book of the Year 1997) และในปีนั้น ธนาคารโลกจัดอันดับประเทศไทยว่ามีเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ ๒๓ ของโลก

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายชื่นชมเพลิดเพลินอยู่กับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากประเทศใหญ่ๆ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ และระบบการค้าเสรี (free trade) ที่ได้เริ่มแพร่ขยายมาแต่ปลายปี 1993 คราวเคราะห์ก็มาถึง

โดยไม่คาดฝัน ประเทศเหล่านี้ทั้งหมดพากันล้มคว่ำและจมดิ่งลงในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย (Asian Economic Crisis) ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อประเทศไทยประกาศค่าเงินบาทลอยตัว ในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐/1997

ประเทศพัฒนาน้อยทั้งหลายในโลกแถบอื่น แม้โดยทั่วไปจะมีเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่อาจจะเรียกว่าดี

ในปี 1993 ประเทศแถบละตินอเมริกา มีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ ๓.๕-๔% (เมกซิโกประสบภาวะวิกฤติ เงินเปโซ (Peso) ค่าตกฮวบอย่างหนักในเดือนธันวาคม ปี 1994)

ในอาฟริกา นับว่าค่อนข้างซบเซา เศรษฐกิจขยายเพียง ๑.๕%

ในตะวันออกกลาง ประเทศที่เศรษฐกิจแข็งหน่อย คือ อิหร่าน ก็อยู่แถว ๕% น้ำมันก็ล้นเกินความต้องการของโลก ราคาน้ำมันจึงตกลงไป นับจากต้นปี 1993 ถึงสิ้นปีนั้น ราคาน้ำมันตกลงไป ๒๓% ซึ่งต่ำสุดในระยะเวลาเกิน ๕ ปี

ความด้อยในด้านต่างๆ ทำให้ประเทศพัฒนาน้อยทั้งหลาย ต้องกู้หนี้ยืมสินจากประเทศที่พัฒนาแล้ว จนถึงขั้นเกิดวิกฤติหนี้ (debt crisis) ซึ่งเป็นไปอย่างหนักในละตินอเมริกา ตั้งแต่ ค.ศ. 1982 เรื่อยมาจนกระทั่งในระหว่างปี 1993 หนี้ต่างประเทศของประเทศพัฒนาน้อย (LDC) ทั้งหลาย เพิ่มขึ้นประมาณ ๖% รวมเป็นจำนวนเงินทั้งหมดถึง ๑,๔๗๖,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ และ IMF ได้คาดหมายไว้ว่าในปี 1995 จะเพิ่มขึ้น ๘% เป็น ๑,๘๕๒,๐๐๐ ล้านดอลลาร์

รวมแล้ว เมื่อก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย โลกแถบที่มีเศรษฐกิจเจริญเติบโตมากที่สุด ก็คือ ประเทศทั้งหลายในแถบเอเชีย ซึ่งมีอัตราขยายตัวในปี 1993 ประมาณ ๘.๗%

ในบรรดาประเทศเอเชียเหล่านั้น ประเทศที่เจริญไวที่สุด ก็คือ จีน ซึ่งมีเศรษฐกิจที่เจริญขยายรวดเร็วที่สุดทั้งในเอเชียและในโลกมาตลอดทศวรรษ 1980s โดยมีอัตราขยายตัวเกิน ๑๐% ต่อปี (ในปี 1993 จีนมีอัตราขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้น/GDP เกือบ ๑๓%)

สงครามเย็นจึงจบลง ในขณะที่จีนกำลังเติบใหญ่ขึ้นมาทางเศรษฐกิจ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง