๒. Renaissance (ค.ศ.1453-1527; แต่ตำราไม่ลงกันแน่นอน บางทีก็ยืดเป็น ค.ศ.1340-1550, บางทีก็ย่นเป็น ค.ศ. 1480-1520 หรือ ค.ศ.1493-1527) แปลว่า (ยุคแห่ง)”การคืนชีพ” หมายถึงการฟื้นฟูศิลปะและวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณ ที่จมหายลับเลือนไปตลอดเวลาประมาณ ๑,๐๐๐ ปีแห่งสมัยกลางนั้น
ชื่อของยุคนี้ ก็บอกแจ้งความหมายและความรู้สึกของชาวตะวันตกต่อยุคสมัยนี้ชัดเจนอยู่แล้วในตัวว่า คนตะวันตกมองเห็นว่าในสมัยกลางพวกตนถูกปิดกั้นจากการเรียนรู้และขุมปัญญาแห่งอารยธรรมพื้นฐานเดิมของตนในอดีต และรู้สึกกลับมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพ้นยุคสมัยแห่งความอับเฉาซบเซานั้นขึ้นมาได้ เป็นยุคเริ่มต้นและช่วงต่อ เพื่อการก้าวไปข้างหน้า
ยุคคืนชีพ หรือยุคเกิดใหม่นี้ มากับแนวคิดสำคัญที่เรียกว่า “มนุษยนิยม” (humanism) ซึ่งเชิดชูคุณค่าความสามารถและความสำคัญของมนุษย์ โดยถือมนุษย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล พร้อมทั้งให้ความสำคัญแก่ตัวบุคคลหรือปัจเจกชน และสนใจในธรรมชาติตามสภาพที่เป็นจริง อันเป็นแนวคิดที่เฟื่องฟูขึ้นจากการศึกษาวรรณคดีของกรีกและโรมันโบราณ (คลาสสิก)
ศาสนจักรคริสต์ในสมัยกลางสอนกันสืบมาว่า ความสุขในโลกนี้แม้ที่สูงสุด ถ้ามิใช่เป็นกับดักของมารร้าย ก็เป็นเพียงเงาลางๆ ของชีวิตในสวรรค์
แต่นักคิดแห่งยุคคืนชีพ เถียงแบบไม่ปฏิเสธหลักศาสนาคริสต์ตรงๆ โดยบอกว่า พวกคนรุ่นเก่านั้นไปมองโลกที่พระเจ้าสร้างแต่ในด้านร้าย แล้วก็ลืมไปว่า มนุษย์ทั้งหลายนี้แหละเป็นภาพฉายที่สะท้อนพระเกียรติคุณของพระผู้เป็นเจ้า (ฉะนั้น ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ในโลกนี้จึงดีงามและสำคัญที่สุด)
พึงสังเกตว่า ตั้งแต่ ค.ศ.636 เป็นต้นมา กองทัพมุสลิมได้เริ่มโจมตีอาณาจักรโรมันตะวันออก ต่อมาศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณก็ถูกชาวมุสลิมรับถ่ายทอดไป
โดยเฉพาะตั้งแต่ ค.ศ.750 เป็นต้นมา ตำรับตำราของกรีกโรมันโบราณถูกแปลเป็นภาษาอาหรับ และชาวมุสลิมก็ได้พัฒนาศิลปวิทยาเหล่านั้นต่อมาตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 9-11 โดยเสริมด้วยความรู้ของตนและศิลปศาสตร์ที่ได้จากอินเดีย
ฉะนั้น เมื่อศิลปวิทยาการเสื่อมทรุดลงในยุโรปสมัยกลาง อาณาจักรมุสลิมจึงเป็นแหล่งบำรุงรักษาศิลปวิทยาการโบราณนั้นไว้
จนกระทั่งต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13 จึงเป็นยุคแห่งการที่ยุโรปแปลศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณ พร้อมทั้งวิทยาการของมุสลิมเอง จากภาษาอาหรับมาเป็นภาษาฮิบรูและละติน อันมีผลให้เกิดความตื่นตัวทางปัญญาที่สืบเนื่องมาถึงยุคคืนชีพ (Renaissance) นี้ โดยประจวบพอดีกับที่ในประเทศมุสลิม ศิลปวิทยาการก็กลับซบเซาเสื่อมลง
ต่อมา ตรงกับจุดเริ่มของยุคคืนชีพนี้ทีเดียว ใน ค.ศ.1453 กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ถูกตีแตก เสียแก่พวกออตโตมานเติรกส์ จักรวรรดิบีแซนตีน (Byzantine Empire คือจักรวรรดิโรมันตะวันออก) ล่มสลาย (ถึงจุดกำหนดสิ้นสมัยกลาง) นักปราชญ์และผู้ทรงความรู้จำนวนมากหนีมาอิตาลี และขนเอาตำรับตำราสำคัญมาด้วย เป็นการนำความรู้ที่สืบแต่กรีกโบราณมายังยุโรปอีกระลอกหนึ่ง