มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปฏิกริยาของสังคมตะวันตกต่ออำนาจครอบงำของศาสนาคริสต์
ผลกระทบจากการปฏิรูปศาสนาคริสต์ต่อสังคมตะวันตก

ตามประวัติแห่งอารยธรรมตะวันตกนี้ จะเห็นว่า มนุษย์ชาวตะวันตกในอดีต มีความรู้สึกเหมือนว่าตนถูกกักขังอยู่ในความมืดมาตลอดเวลายาวนาน แถมยังถูกกดขี่ข่มเหงบีบคั้น ต้องผจญทุกข์ภัยมาโดยตลอด

แรงกดดันนั้นทำให้เกิดกำลังในการดิ้นรน และเมื่อเริ่มหลุดออกมา ๕๐๐ ปีก่อนนี้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 จึงมีความรู้สึกเหมือนกับว่าได้เกิดใหม่ ดังคำที่เขาเรียกชื่อยุคสมัยนั้นว่า “ยุคคืนชีพ” (Renaissance) ดังได้กล่าวแล้ว

ข้อสำคัญ ก็คือ ชาวตะวันตกเหล่านั้น คืนชีพขึ้นมาใหม่ในแง่ของศิลปวิทยาการ จึงเหมือนกับได้พบแสงสว่าง โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ได้เริ่มฟื้นตัวเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มองเห็นหนทางและความหวังแห่งความรุ่งเรืองข้างหน้า

ชาวตะวันตกผู้ถูกกดดันให้เกิดแรงดิ้นมากมายนั้น เมื่อยุคคืนชีพหรือเกิดใหม่นี้มาถึง จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยความหวังถึงความสำเร็จอันสดใส ที่วิทยาศาสตร์อันตามมาด้วยเทคโนโลยีจะช่วยหยิบยื่นให้

วิทยาการกรีกโบราณที่กลับฟื้นขึ้นมานั้น นำเอาแนวคิดความเชื่อที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งขึ้นมาตั้งเป็นหลักของอารยธรรมตะวันตกต่อมาด้วย คือความเชื่อว่ามนุษย์จะประสบความสำเร็จมีความสุขและอิสรภาพสมบูรณ์ ต่อเมื่อเอาชนะหรือพิชิตธรรมชาติได้ ดังที่ได้เป็นความคิดฝันของนักปราชญ์กรีก ทั้งโสกราตีส เพลโต และอริสโตเติล

ดังนั้น พร้อมกับความหวังในความเจริญก้าวหน้าที่อาศัยวิทยาศาสตร์นั้น ชาวตะวันตกก็ได้มีความใฝ่ฝันที่จะพิชิตธรรมชาติ (conquest of nature) หรือ ครอบครองธรรมชาติ (dominion over nature) หรือเป็นนายของธรรมชาติ (mastery of/over nature) เป็นแกนนำแห่งอารยธรรมของตนสืบมา

อย่างไรก็ตาม การข่มเหงบีบคั้นและการดิ้นรนต่อสู้หลบหนี มิได้จบสิ้นลงแค่ได้ขึ้นยุคคืนชีพ การพยายามครอบครองรักษาอำนาจของศาสนจักรโรมันคาทอลิกยังดำเนินต่อมา และอำนาจที่กว้างใหญ่ไพศาลนั้น ย่อมไม่หมดลงได้ง่ายๆ แต่การดิ้นรนแข็งขืนก็รุนแรงขึ้นด้วย ดังที่ได้เกิดเป็นยุคปฏิรูป (Reformation) ที่มีนิกายใหม่คือโปรเตสแตนต์เกิดขึ้น

จากนั้น ทั้งอำนาจของศาสนจักรและอำนาจการเมืองก็เข้ามาผสมผสานกันในการทำสงครามขับเคี่ยวระหว่างชาวคริสต์ ๒ นิกาย เก่ากับใหม่ และการใช้กำลังกำจัดกวาดล้างอีกฝ่ายหนึ่งในยามที่ตนมีอำนาจ ตลอดยุคปฏิรูป จนสิ้นสงคราม ๓๐ปี (ค.ศ.1648)

ภาวการณ์ทั้งนี้ เป็นเหตุให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่น และการเปลี่ยนแปลงดินแดนอย่างขนานใหญ่ รวมทั้งการหนีภัยไปหาความหวังข้างหน้าในโลกใหม่ คือ ทวีปอเมริกา ซึ่งเป็นแรงขับภายในที่หล่อหลอมให้ชนชาติอเมริกันมีความใฝ่ปรารถนายิ่งนักในความเป็นอิสระเสรี จนกลายเป็นอุดมคติเอกของชาติ คือ อุดมคติแห่งเสรีภาพ (ideal of freedom)

ระหว่างที่ความขัดแย้งทางศาสนาดำเนินไปนั้น กระแสความตื่นตัว ความนิยม และความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็มีกำลังแรงมากขึ้น ดังที่ถือกันว่าได้เกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (scientific revolution) ขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1543 สืบต่อมา จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17

นักปราชญ์ยุโรป เริ่มด้วยฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon, 1561-1626) ตามด้วยเดคาร์ตส์ (Rene Descartes, 1596-1650) เป็นต้น ได้กระตุ้นเร้าความคิดที่จะให้มนุษย์พิชิตธรรมชาติ (conquest of nature) ด้วยความรู้วิทยาศาสตร์ที่ประสานกับเทคโนโลยี ทำให้กระแสความเชื่อนี้ฝังใจชาวตะวันตก และแฝงอยู่เบื้องหลังพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดมา

ในส่วนนี้ก็จำเพาะพอดีว่า ในคัมภีร์ไบเบิลมีคำสอนที่สอดคล้องกับแนวคิดที่ให้เป็นเจ้านายครอบครองธรรมชาติ ดังความที่ว่า

ดังนั้น พระเป็นเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระองค์ . . . และพระเป็นเจ้าทรงอวยพรมนุษย์ ตรัสว่า ‘จงมีลูกหลานเพิ่มจำนวนมากมายให้เต็มแผ่นดิน และยึดครองแผ่นดินเถิด จงครอบครองปลาในทะเล (have dominion over the fish of the sea . . .) นกในอากาศ และสัตว์ทั้งหลายที่เลื้อยคลานบนแผ่นดิน’ และพระเป็นเจ้าตรัสว่า ‘เราให้ผักทุกชนิดที่มีเมล็ด ที่มีอยู่บนพื้นแผ่นดิน และต้นไม้ทั้งหลายที่ออกผลมีเมล็ด นี่แหละคืออาหารของเจ้า’. . .

(Genesis 1:28-29)

จึงปรากฏต่อมาว่า ศาสนาคริสต์ก็ส่งเสริมความใฝ่ฝันของวิทยาศาสตร์ในการที่จะพิชิตธรรมชาติ ทำให้แนวคิดของตะวันตกโดยรวม ประสานกันอย่างมีพลังในการมุ่งพิชิตธรรมชาติ

จนกระทั่งมาถึงปลายใกล้จะสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้ จึงสะดุดชะงัก เมื่อโลกเผชิญปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม และเกิดความสำนึกว่า การพัฒนาเท่าที่ดำเนินมาเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน (unsustainable development)

นักคิดนักรู้รุ่นใหม่หันกลับไปติเตียนแนวคิดพิชิตธรรมชาติ ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาร้ายแรงที่จะนำความพินาศมาสู่โลกนี้

อีกด้านหนึ่ง ปราชญ์ตะวันตกเชื่อกันมากว่า ศาสนาคริสต์ฝ่ายปฏิรูป คือโปรเตสแตนต์ ซึ่งแตกต่างออกมามากจากโรมันคาทอลิกเดิม ได้ทำให้เกิดจริยธรรมแบบโปรเตสแตนต์ (Protestant ethic) ซึ่งเป็น จริยธรรมแห่งการทำงาน (work ethic) ที่เกื้อหนุนต่อความเจริญทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และเฉพาะอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของทุนนิยมอุตสาหกรรม

จุดเด่นที่ต้องหมายไว้เป็นพิเศษ ก็คือ จริยธรรมแห่งการทำงาน (work ethic) นี้ เป็นหัวใจของลัทธิทุนนิยม (capitalism) ที่หนุนตะวันตกให้มานำโลกอยู่ในบัดนี้ โดยเป็นปัจจัยหลักที่หล่อหลอมนิสัยของนักทำงานผู้บากบั่นและสันโดษ หรือนักผลิตผู้ขยันและอดออม ซึ่งหนุนให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 และเป็นตราชูของการพัฒนาอุตสาหกรรมตลอดมา

ดังที่สังคมอเมริกันมีความภูมิใจในจริยธรรมแห่งการทำงานนี้ ว่าเป็นภูมิหลังแห่งการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จในสังคมของตน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง