มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เหนือกว่า NAFTA
เขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดของโลกจะเกิดขึ้นมาจากเอเปค/APEC

ถึงตอนนี้ ทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นดินแดนสำคัญในการค้าโลก ดูเหมือนว่ายังไม่ได้เข้าสู่ระบบการค้าเสรี ถ้าเอเชียมีระบบนี้ด้วย เศรษฐกิจก็จะใกล้ถึงขั้นเป็นตลาดโลกไร้พรมแดน

แต่แท้จริงนั้น อเมริกาได้ร่วมกับออสเตรเลียหนุนให้ชาติทั้งหลายในเอเชีย ตั้งสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่เรียกง่ายๆ ว่า “เอเปค” (Asia-Pacific Economic Coopertion/ APEC) ขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1989 แล้ว

ประธานาธิบดีคลินตัน ได้ปรากฏตัวเด่นออกมาในฐานะเป็นผู้หนุนการค้าเสรีที่แข็งขันที่สุดในรอบหลายสิบปี (“20th-Century International Relations,” Britannica, 1997) และรัฐบาลของเขาก็ได้เรียกร้องให้ประเทศในเอเชียมีมาตรการเปิดตลาด และ “การค้าที่ยุติธรรม” (“fair trade”)

หลังจากรัฐสภาสหรัฐลงมติผ่าน NAFTA ได้ ๓ วัน ประธานาธิบดีคลินตันก็ได้เป็นเจ้าภาพจัดให้ผู้นำ ๑๕ ประเทศประชุมสุดยอดครั้งแรกของ เอเปค/APEC ที่เมืองซีแอตเติล (Seattle) ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1993 และในเดือนพฤศจิกายนปีต่อมา (1994) ประเทศกลุ่ม เอเปค/APEC ซึ่งคราวนี้เพิ่มเป็น ๑๘ ประเทศ (สามประเทศเพิ่มใหม่ คือ ชิลี เมกซิโก และปาปัวนิวกินี) ก็ได้ประชุมสุดยอดครั้งที่ ๒ กัน ๒ วัน ที่อินโดนีเซีย

คราวนี้ทั้ง ๑๘ ประเทศได้ลงนามในข้อตกลงให้การค้าขายระหว่างกันบรรลุเป้าหมายแห่งการค้าเสรี ภายใน ค.ศ.2020 กับทั้งจะลดทอนเครื่องจำกัดกีดกั้นการค้าขายแม้กับประเทศอื่นๆ ที่นอกเขตแปซิฟิกด้วย

ประเทศทั้ง ๑๘ ในกลุ่ม เอเปค/APEC ได้แก่

ก) ประเทศในเอเชีย ๑๑ ซึ่งแยกได้เป็น

- ประเทศในกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN ๖ ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และบรูไน) และ

- ประเทศในเอเชียนอกกลุ่ม ASEAN อีก ๕ (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และฮ่องกง)

ข) ประเทศฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ๔ (สหรัฐ คานาดา และเมกซิโก ในอเมริกาเหนือ กับชิลีในอเมริกาใต้) และ

ค) ประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกภาคใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ๓ (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และปาปัวนิวกินี)

แต่รวมแล้วทั้ง ๑๘ ประเทศ ก็อยู่ในอ่างแปซิฟิก (Pacific Basin)

กลุ่มประเทศ APEC นี้ มีประชากรเกินกว่า ๒ พันล้านคน หรือประมาณ ๓๘% (เกิน ๑ ใน ๓) ของประชากรทั่วทั้งโลก ครอบคลุมการค้าโลก ๔๑% และทำการผลิตสินค้ากว่าครึ่งหนึ่งของโลก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) รวมกันมากกว่า ๕๐% ของทั้งโลก

ฉะนั้น (ถ้าการณ์เป็นไปตามตกลง ภายใน ค.ศ.2020) เอเปค/ APEC ก็จะทำให้เกิดเขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลกที่แท้จริง

นอกจากนี้ เอเปค/APEC ยังมีความพิเศษที่แปลกและแตกต่างจากเขตการค้าเสรีอื่นๆ เช่น ขณะที่เขตอื่นเป็นการรวมตัวกันของชาติต่างๆ ที่อยู่ในภาคพื้นทวีปเดียวกัน มีดินแดนใกล้ชิดติดกัน ที่จะประสานความร่วมมือในการรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของกันและกัน แต่ เอเปค/APEC เป็นการร่วมมือต่างถิ่นข้ามทวีปของประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในทางเศรษฐกิจ เชื้อชาติ วัฒนธรรม และระดับการพัฒนา

โดยเฉพาะรวมเอาประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยและยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการเศรษฐกิจของโลก ทั้งอันดับ ๑ และอันดับ ๒ คือ สหรัฐและญี่ปุ่นเข้ามาไว้ด้วยกัน (Britannica Book of the Year 1995) พร้อมทั้งประเทศแถบขอบตะวันตกของแปซิฟิก หรือ Pacific Rim ซึ่ง (เวลานั้น) คาดหมายกันนักว่ามีอนาคตทางเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองสุกใส รวมทั้งชาติที่เรียกกันว่าเป็น “เสือเศรษฐกิจ” ทั้งหลายด้วย

เอเปค/APEC ประชุมประจำปีกัน ๒ วัน ตอนปลายเดือนพฤศจิกายนเรื่อยมา และได้เริ่มทำงานตามแนวทางที่ตกลงกันไว้ เช่น ในการประชุมปี 1996 ณ 25 พ.ย. ที่มะนิลา ๑๘ ชาติสมาชิกตกลงให้คำมั่นว่าจะตัดทอนภาษีนำเข้าคอมพิวเตอร์และสินค้าไฮเทคทั้งหลายลงอย่างให้เห็นกันชัดเจนเป็นจริงเป็นจังภายในปี 2000

(ต่อมา รัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๗–๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๖/2003)

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง