มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

อเมริกาพาโลกก้าว เข้าสู่ยุคการค้าเสรี

ส่วนสหรัฐอเมริกา ประเทศอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกปัจจุบันนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่า ได้ก้าวขึ้นสู่ทศวรรษ 1990s ในภาวะที่ประเทศกำลังเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจและสังคมต่อเนื่องมาอย่างหนักยิ่ง

ในประเทศมีแต่เสียงคร่ำครวญถึงความเสื่อมโทรมของชาติและเสียงหวนละห้อยร้องหาวันบ้านเมืองดีในอดีต ดังที่มีหนังสือที่ชาวอเมริกันเขียนขึ้นมาแสดงความรู้สึกอย่างนี้กันมากมาย (เช่น The End of the American Century ของ Steven Schlossstein, 1989; The Twilight of Common Dreams ของ Todd Gitlin, 1995; Taking Back America ของ Michael W. Haga, 1995; ฯลฯ)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้พลิกกลับ ขณะที่คู่แข่งที่น่ากลัว คือ เยอรมันกับญี่ปุ่นเสื่อมทรุดลง อเมริกากลับฟื้นตัวขึ้น

บิลล์ คลินตัน (William Jefferson Clinton) ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ ๔๒ ของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 1993 โดยแจ้งถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขความชะงักงันทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สืบเนื่องมาตลอดเวลา ๑๒ ปี แห่งการปกครองของพรรครีปับลิกัน

เขามุ่งแก้ปัญหาภายในประเทศ ที่หมักหมมมานานจนโทรมไปหมด และโอกาสก็เปิดให้ เพราะสงครามเย็นก็จบ โซเวียตก็ล่มสลาย

แต่เมื่อถึงเวลาจริง พอสิ้นปี 1994 ปรากฏว่า ความสำเร็จของบิลล์ คลินตัน กลับไปอยู่ที่กิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะชัยชนะในการแผ่ขยายระบบตลาดเสรีระดับโลก (global free-market system หรือ world capitalism)

เศรษฐกิจของอเมริกาเริ่มจะฟื้นตัวตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดีบุช (George Herbert Walker Bush, ม.ค.1989 -ม.ค.1993) แต่ประชาชนมารู้สึกชัดขึ้นต่อเมื่อถึงปลาย ค.ศ.1993

ในปี 1993 นั้น อเมริกากลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดีที่สุด เจริญเร็วที่สุด ในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด ขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย ตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซากันทั่วไป

ในปี 1994 คนในอเมริกาได้งานใหม่เฉลี่ยเดือนละประมาณ ๒๗๕,๐๐๐ คน รวมแล้วปีละ ๓.๕ ล้านคน ผลิตภัณฑ์ส่งออกทั่วโลกที่เป็นส่วนของสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นเป็น ๑๖% (ขณะที่ญี่ปุ่นกับเยอรมันกำลังทรุดลง) การทำงานล่วงเวลาเพิ่มมากขึ้นเกือบสัปดาห์ละ ๕ ชม.

บริษัทเยเนราล มอเตอรส์ (General Motors) ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของอเมริกาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เคยขาดทุนเมื่อปี 1991 ถึง ๔.๙ พันล้านดอลลาร์ แต่มาในปี 1994 เพียงครึ่งปี ได้กำไรถึง ๒.๘ พันล้านดอลลาร์ (มากกว่ากำไรตลอดปี 1993 ทั้งปี)

ครั้นถึงปลายปี 1996 อัตราคนว่างงานของสหรัฐ ก็ลดเหลือเพียง ๕.๓% ซึ่งต่ำสุดนับแต่ทศวรรษ 1970s (เคยสูงสุดเมื่อเดือนธันวาคม 1982 ถึง ๑๐.๘% และในปี 1992 ก็สูงถึง ๗.๕%)

เศรษฐกิจภาคที่ได้ผลที่สุด คือ พวกไฮ-เทค (high-tech) โดยเฉพาะด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีมูลค่าสูงขึ้น ๒๐๐-๓๐๐ เท่า ทำให้เกิดเศรษฐีรายใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นแถว หุ้นดาวโจนส์ (Dow Jones) ก็ขึ้นไปๆ ต้นปี 1995 ผ่าน ๔,๐๐๐ พอถึงปลายปี ผ่าน ๕,๐๐๐ พอถึงปี 1996 ก็ผ่าน ๖,๐๐๐ จุดไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะฟื้นตัวดีขึ้นมาก แต่การค้าก็ยังคงขาดดุลสืบเนื่องมา ดังในปี 1994 ขาดดุล ๑ แสน ๕ หมื่นล้านดอลลาร์ และในปี 1995 ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น ๒ แสนล้านดอลลาร์

ระหว่างนี้ อเมริกาได้ก้าวออกไปดำเนินบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก คือ การแผ่ขยายระบบทุนนิยมระดับโลก ด้วยการส่งเสริมระบบการค้าเสรี (free trade) ให้เกิดผลเป็นจริง และแผ่ขยายออกไปให้กว้างขวางครอบคลุมทั่วโลก

การค้าเสรี (free trade) นี้ มีหลักการที่จะปล่อยให้สินค้าต่างๆ ไหลไปอย่างคล่องเสรีระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของกันและกัน และทำให้เกิดความสามัคคีระหว่างชาติ โดยทำให้ประเทศที่ค้าขายได้พึ่งพาอาศัยกันในทางพาณิชย์

ทั้งนี้เป็นการสอดคล้องกับแนวคิดของอาดัม สมิธ (Adam Smith) ในเรื่องของหลักการแบ่งงาน (division of labor) ซึ่งในที่นี้ หมายถึง การแบ่งงานในระดับระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้แต่ละประเทศมีความชำนาญพิเศษ (specialization) ในการผลิตสินค้าที่ตนถนัด แล้วก็จะมีประสิทธิภาพในด้านนั้นๆ มากยิ่งขึ้น และสามารถผลิตได้ผล ทั้งมากมาย และดียิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ นโยบายการค้าเสรีจึงต้องห้ามมิให้เก็บภาษีศุลกากร หรือจำกัดโควต้าสินค้าเข้า (ไม่กีดกันสินค้าเข้า) และมิให้อุดหนุนช่วยเหลือสินค้าส่งออก คือ ตรงข้ามกับระบบคุ้มครองสินค้าของตน (protectionism) โดยปล่อยให้การค้าขายดำเนินไปตามกลไกของตลาดจริงๆ

ดังนั้น การค้าเสรีนี้ ก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (free market economy) หรือ ทุนนิยม (capitalism) หรือที่บางทีเรียกว่า ระบบลงทุนเสี่ยงสู้เสรี (free enterprise) ได้เข้าถึงความสมบูรณ์เต็มตามความหมายยิ่งขึ้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง