แม้แต่ชื่อเรียกยุคสมัยต่างๆ แห่งประวัติศาสตร์ของตะวันตก ก็เป็นถ้อยคำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา ตั้งขึ้นโดยปรารภความเป็นไปที่เกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา หรือแม้แต่เป็นคำเรียกเหตุการณ์ในคริสต์ศาสนาโดยตรง กล่าวคือ
๑. Middle Ages หรือ สมัยกลาง (แห่งยุโรป) ค.ศ.476-1453 เป็นระยะเวลา ๑ พันปีที่คริสต์ศาสนามีกำลังและอิทธิพลเป็นเอกอันเดียวในยุโรป วัฒนธรรมมีแหล่งกำเนิดจากคริสต์ศาสนาแผ่ครอบคลุมชีวิตทุกด้านของสังคม รวมทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร
แต่ในสมัยกลางเองนั้น คำว่า “สมัยกลาง” หรือ “Middle Ages” ยังไม่เกิดขึ้น
ต่อมา เมื่อชาวยุโรปหลุดพ้นออกมาจากยุคสมัยนี้ พวกนักปราชญ์ตะวันตกผู้มองเห็นว่ายุโรปมีโอกาสหวนกลับคืนสู่ศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณอีกครั้งหนึ่ง จึงเรียกชื่อยุคสมัยที่ผ่านมา นั้นว่า “Middle Ages” (“สมัยกลาง”) ในความหมายว่าเป็นช่วงเวลาท่ามกลางระหว่างการเสื่อมสลายของศิลปวิทยาของกรีกและโรมันโบราณ จนกระทั่งศิลปวิทยานั้นกลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่อีกในยุคของพวกตน ที่เรียกว่า Renaissance
อนึ่ง ในระยะที่หลุดพ้นออกมาใหม่ๆ นั้น (จนถึงยุค Enlightenment ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘) ความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยาต่อสภาพของสมัยกลางนั้นยังเด่นแรงอยู่ คนยุโรปจึงเรียกชื่อสมัยกลางนั้นอีกอย่างหนึ่งว่า Dark Ages แปลว่า ยุคมืด หมายถึงช่วงเวลาอันยาวนาน ที่อารยธรรมคลาสสิกอันอุดมด้วยศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณได้เลือนลับไป ทำให้ยุโรปตกอยู่ในความมืดมนอับปัญญา
พวกนักมนุษยนิยม (humanists) ที่คิดศัพท์ Middle Ages ขึ้นมาใช้ มองช่วงเวลาที่ล่วงผ่านไปก่อนยุคของพวกเขาว่า เป็นพันปีแห่งความมืดมัวและโมหะ (a thousand-year period of darkness and ignorance; บางทีก็เรียกสั้นๆว่า the age of ignorance หรือ a period of intellectual darkness and barbarity คือ ยุคแห่งความโหดและโฉดเขลา หรือยุคเฉาโฉดโหดเหี้ยม) จึงเรียกว่าเป็น Dark Ages
(บางทีนักประวัติศาสตร์ก็จำกัดช่วงเวลาให้จำเพาะลงไปอีกว่า Dark Ages เป็นช่วงต้นๆ ของสมัยกลางนั้น คือ ราว ค.ศ. 500-1000 และบางทีก็จำกัดสั้นลงไปอีกเป็น ค.ศ.476-800)
ต่อมา คนสมัยหลังที่ห่างเหตุการณ์มานาน มีความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยาต่อสภาพของยุคสมัยนั้นเบาบางลง ก็เริ่มกลับไปเห็นคุณค่าบางอย่างของความเป็นไปในสมัยกลางนั้น เช่นว่า ถึงอย่างไรสมัยกลาง หรือยุคมืดนั้น ก็เป็นรากฐานที่ช่วยให้เกิด Renaissance
โดยเฉพาะที่สำคัญยิ่ง คือการที่ศาสนจักรคริสต์ได้เผชิญและผจญกับศาสนาอิสลาม ในสงครามครูเสดเป็นต้น ในหลายแห่งที่ฝ่ายคริสต์ชนะ ก็พลอยได้ตำรับตำราวิชาการต่างๆ ของกรีกและโรมันโบราณ ที่ชาวมุสลิมนำไปเก็บรักษา ถ่ายทอดและพัฒนาสืบมา
ตำรับตำราเหล่านี้ นักบวชคริสต์ได้คัดลอก เก็บรักษา หรือไม่ก็แปลกลับจากภาษาอาหรับเป็นภาษาละติน ซึ่งกลายมาเป็นแหล่งความรู้ให้แก่ยุค Renaissance (ยุคคืนชีพ)
ต่อมา ปราชญ์ชาวตะวันตกยุคหลังๆ จึงเห็นว่า ในสมัยกลางนั้น ประทีปแห่งวิทยาการยังส่องแสงอยู่บ้าง แม้จะริบหรี่ แต่ก็ไม่ถึงกับดับมืดเสียทีเดียว
ดังนั้น บัดนี้คำว่า Dark Ages จึงไม่เป็นที่นิยมใช้กันอีก (บางท่านแปลคำว่า ยุคมืด/Dark Ages นั้นให้หมายความว่าเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่เรารู้เรื่องกันน้อย)
ในสมัยกลางนี้ ผู้ที่จะเป็นจักรพรรดิก็ต้องให้องค์สันตะปาปา (Pope) สวมมงกุฏให้ จักรวรรดิโรมันที่เจ้าเยอรมันรื้อฟื้นตั้งขึ้นใหม่ ก็มาเรียกโดยเติมคำว่า “holy” เข้าข้างหน้า เป็น the Holy Roman Empire (ช่วง ค.ศ.962-1806)
การที่ศาสนาคริสต์มีอำนาจยิ่งใหญ่ครอบคลุมอย่างนี้ ก็ทำให้เกิดมีความคิดที่ให้ถือยุโรป(ตะวันตก) เป็นศาสนรัฐที่กว้างใหญ่อันหนึ่งอันเดียว เรียกว่า “Christendom” (แปลได้ว่า “คริสต์จักร” หรือ “คริสต์อาณาจักร”)
Christendom นี้ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการ ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายศาสนาธิการ (sacerdotium) ซึ่งองค์สันตะปาปา (Pope) มีอำนาจสูงสุด กับฝ่ายรัฏฐาธิการ (imperium) ซึ่งมีจักรพรรดิ (Emperor) ทรงอำนาจสูงสุด โดยทั้งสองฝ่ายปฏิบัติงานเสริมซึ่งกันและกัน (นี้เป็นเพียงทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติสองฝ่ายได้ขัดแย้งแย่งชิงอำนาจกันมาตลอด)
ในสมัยกลางนี้เช่นกัน ที่คริสต์ศาสนจักรได้รวมพลังกษัตริย์ ขุนพล และพลเมืองของประเทศทั้งหลายทั่วยุโรป ทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ หรือสงครามเพื่อพระผู้เป็นเจ้า (holy war) เพื่อปลดปล่อยดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (Holy Land คือ เมืองเยรูซาเลม) จากการยึดครองของพวกมุสลิมเตอร์กส์ อันมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ครูเสด” (Crusades) ซึ่งเป็นสงครามกับมุสลิมที่ยืดเยื้อยาวนานประมาณ ๒๐๐ ปี (ค.ศ.1096-1270) นับเป็นครูเสดครั้งใหญ่ทั้งหมด ๘ ครั้ง กับครูเสดเด็กอีก ๒ ครั้ง