มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

๔. อุตสาหกรรมหนุนเศรษฐกิจการเมืองสู่ยุคการค้าเสรี

 

อุตสาหกรรมนำโลกเจริญก้าวหน้า
แต่มาติดตันกับปัญหาการพัฒนาไม่ยั่งยืน

โลกเข้าสู่ยุคใหม่โดยการนำของประเทศตะวันตก เริ่มตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นกระบวนการที่ยาวนาน ยังดำเนินไปเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันประเทศทั้งหลายก็ยังเป็นประเทศอุตสาหกรรมกันไม่ทั่วถึง

ประเทศใดเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้ว ก็นับว่าเข้าสู่สมัยใหม่ เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

ประเทศใดยังไม่เป็นประเทศอุตสาหกรรม ก็ยังไม่ชื่อว่าได้พัฒนา แต่ก็ให้เกียรติโดยเรียกว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา (ขึ้นสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม)

อุตสาหกรรมทำให้โลกเจริญอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะมีพลังใหญ่ที่ขับดันอยู่ คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่อวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีนั้นแต่งงานกันได้ ตามที่เบคอนเสนอไว้ (เบคอน/Bacon เสนอไว้ก่อนนานแล้ว ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในระยะที่ยังปฏิวัติวิทยาศาสตร์กันอยู่) ความเจริญก้าวหน้าก็ยิ่งรวดเร็วมากขึ้น จนทำให้โลกโดยเฉพาะส่วนที่พัฒนาแล้วนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหัศจรรย์

ในเวลาเพียง ๒๕๐ ปี นับแต่เริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษถึงบัดนี้ มนุษย์สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าได้ มากกว่าอารยธรรมในยุคก่อนหน้านั้นทั้งหมด ที่ผ่านมาตลอดกาลเวลายาวนานหลายพันหลายหมื่นหลายแสนปี หรือตั้งแต่เกิดมีมนุษย์ขึ้นในโลก

พึงสังเกตว่า คำว่า “เจริญก้าวหน้า” ในความเข้าใจของชาวตะวันตกนั้น มีความหมายที่แฝงอยู่เป็นสาระสำคัญ คือความสำเร็จในการเอาชนะธรรมชาติ

ทั้งนี้เพราะว่า ชาวตะวันตกมีแนวคิดความเชื่อฝังใจมาในอารยธรรมตั้งแต่กรีกเมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ซึ่งมารื้อฟื้นขึ้นในคราวที่ตื่นตัวใหม่ ครั้ง “คืนชีพ” เมื่อ ๕๐๐ กว่าปีมานี้ว่า มนุษย์จะมีความสมบูรณ์พูนสุขเมื่อมีชัยชนะทรงอำนาจเหนือธรรมชาติ สามารถจัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนา

ด้วยความมุ่งหมายใฝ่ฝันเพียรพยายามที่จะพิชิตธรรมชาตินี้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเจริญก้าวหน้าขึ้นในโลกของชาวตะวันตกอย่างมากมาย

ชาวตะวันตกมีความภูมิใจในแนวคิดความเชื่อ และแนวทางการสร้างสรรค์ความเจริญนี้มาก ดังคำที่เขาพูดไว้ทำนองนี้ว่า

มนุษย์สามารถเลียนแบบพระผู้เป็นเจ้าได้ด้วยการสรรค์สร้าง การที่จะทำอย่างนั้นได้ มนุษย์จะต้องเรียนรู้ความลับของธรรมชาติ และจุดหมายนี้จะสำเร็จได้ก็เฉพาะแต่ด้วยการบีบบังคับธรรมชาติให้ยอมปล่อยความลับของมันออกมา โดยจะต้องทรมานธรรมชาตินั้นด้วยการเอาไฟเผา ด้วยการเคี่ยว และด้วยการยักย้ายแปรธาตุไปต่างๆ รางวัลสำหรับความสำเร็จนี้ ก็คือชีวิตและวัยงามชั่วนิรันดร์ พร้อมทั้งความหลุดพ้นจากความขาดแคลนและโรคภัยไข้เจ็บ

ความคิดนี้เป็นวิสัยทัศน์ที่กำแหงหาญ และทำให้เกิดแนวคิดความเชื่อขึ้นมาว่า ด้วยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษย์จะสามารถบิดเบนดัดแปลงธรรมชาติไปได้ตามใจปรารถนา

ทัศนะสมัยใหม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ว่าโดยสาระสำคัญเป็นอย่างที่ว่ามานี้ และควรจะต้องย้ำไว้ด้วยว่า ทัศนะนี้ปรากฏมีเฉพาะแต่ในอารยธรรมตะวันตกเท่านั้น และก็คงเป็นด้วยทัศนคติอย่างนี้นี่แหละ ที่ช่วยให้ตะวันตก หลังจากที่ต่ำต้อยด้อยกว่าตะวันออกมานานหลายศตวรรษ กลับสามารถเลยล้ำหน้าตะวันออกไปได้ในการจัดการเอาประโยชน์จากโลกแห่งวัตถุ” (“The History of Science: The rise of modern science”, Britannica, 1997)

พร้อมกับแนวคิดความเชื่อนี้ เมื่อวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เริ่มเจริญขึ้นแล้ว มนุษย์ชาวตะวันตกในยุคพุทธิปัญญา ก็มีความเชื่อและคิดหมายใฝ่ฝันไปตามคติแห่งความก้าวหน้า (idea of progress) โดยมั่นใจว่า ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น มนุษย์จะเจริญก้าวหน้ามีสันติสุขและความมั่งคั่งพรั่งพร้อมอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปๆ อย่างไม่รู้จบสิ้น

คติและอุดมคติแห่งความก้าวหน้านี้ กำกับอยู่เบื้องหลังความเจริญของอารยธรรมตะวันตกตลอดมา ซึ่งก็หมายถึงความก้าวหน้าในการพิชิตธรรมชาติด้วยนั่นเอง

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพลังหนุนอุตสาหกรรม ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว

ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายในตะวันตก เกิดมีความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุอย่างมากมาย และด้วยความเจริญเช่นนั้น ก็ได้มีกำลังอำนาจและอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ สามารถจัดสรรผันเบนโลกแห่งธรรมชาติแวดล้อมได้แทบจะเหมือนดังใจปรารถนา และแผ่ลัทธินิยมพร้อมทั้งการพัฒนาแบบของตนไปทั่วโลก

ภายในเวลาเพียง ๒ ศตวรรษครึ่ง นับแต่เริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรม อารยธรรมตะวันตกก็สามารถนำโลกแห่งมนุษยชาติก้าวเข้าสู่ยุคความเจริญแบบโลกาภิวัตน์

แต่ทั้งนี้ก็แทบจะพร้อมกันกับที่ภาวะของโลกแห่งธรรมชาติได้แสดงอาการออกมา ว่าไม่อาจรองรับความเจริญเช่นนั้นต่อไปได้ ทำให้มนุษย์เกิดความรู้ตัวสำนึกว่า ความเจริญก้าวหน้าที่ตนได้สร้างขึ้นมาอย่างกระหยิ่มลำพองใจนั้น เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

ทั้งที่โลกมนุษย์ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นประเทศที่ยังไม่ได้พัฒนา แต่ถ้าขืนก้าวหน้าในทิศทางนั้นกันต่อไป ทั้งโลกแห่งธรรมชาติ และโลกของมนุษยชาติ ก็จะประสบความพินาศไปด้วยกัน

ภาวะนี้ทำให้ผู้คนในชาติที่พัฒนาแล้ว พากันผิดหวังสับสน และสูญเสียความมั่นใจครั้งใหญ่ เป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง ที่ทำให้มนุษย์คิดแสวงหาแนวทางแห่งอารยธรรมกันใหม่

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง