ปัญหาภิกษุณี: บททดสอบสังคมไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สังคมจะดี ประชาธิปไตยจะมีคุณค่า หนีไม่พ้นว่า ทุกคนต้องถือธรรมเป็นใหญ่

อย่างเรื่องของภิกษุณีนี้ ไม่ว่าจะได้แค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏออกมา ซึ่งควรยกมาพิจารณาก็คือ การที่ได้ถกเถียงกันมานั้น ทำเพียงด้วยความชอบใจไม่ชอบใจ หรือทำด้วยความรู้ความเข้าใจ แล้วก็มีการแสวงหาความรู้ให้เห็นเหตุปัจจัยหรือไม่

ถ้าทำได้อย่างนี้เราก็ได้ฝึกตัวเองไปในตัว ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมา เราก็ได้ประโยชน์

อย่างที่พูดไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ในการชี้แจงตอบปัญหาต่างๆ เราต้องทำโดยมีเมตตา เรียกว่าตั้งเมตตาธรรม อย่างที่ภาษาพระเรียกว่าเป็น ปุเรจาริก คือเอาเมตตาความปรารถนาดีต่อกันมานำหน้า ส่วนจะได้แค่ไหน ก็ต้องว่าไปตามหลัก

ถ้าเราทำอย่างนี้ เราก็ฝึกตัวเองไปด้วย การพูดจากันก็เป็นเหตุเป็นผล และพูดสุภาพไม่หยาบคาย

เอาละ เรื่องภิกษุณีสงฆ์ก็คงจะได้จุดเน้น ๓ ข้อ คือ

  1. ขอให้ตั้งจิตเมตตาปรารถนาดี ต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง
  2. หาทางทำให้ดีที่สุดเท่าที่หลักการเปิดให้ โดยไม่ให้ความต้องการมาล้มหลักการ ไม่เอาความต้องการของเราเหนือหลักการที่พระพุทธเจ้าวางไว้ ไม่ใช่ว่าคราวนี้พระพุทธเจ้าตรัสอย่างไรฉันไม่ฟังแล้ว ต้องเอาอย่างที่ฉันว่าก็แล้วกัน
  3. เรื่องราวกิจการที่เรามีอยู่แล้ว ขอให้สังคมไทยแสดงความสามารถออกมา โดยจัดการให้ดี มิฉะนั้นมันจะฟ้องว่า ต่อไปเธอรับสิ่งใหม่มาก็คงไม่ได้เรื่องอีกนั่นแหละ

แม่ชีมีอยู่แล้ว ก็แก้ไขปรับปรุงจัดทำให้ดี ให้แน่นอนเสียก่อน ส่วนเรื่องใหม่จะได้หรือไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่เพิ่มเข้ามา

ขอให้ช่วยเอาใจใส่เรื่องแม่ชีด้วย เราชาวพุทธด้วยกัน ทำไมไม่เอาใจใส่ ถ้าแม่ชีเป็นอะไรไป ก็ทำความเสื่อมเสียแก่พุทธบริษัทด้วย เพราะฉะนั้น เราจะต้องเอาใจใส่รับผิดชอบ ช่วยกันหนุนในทางที่ดี ส่งเสริมทั้งประโยชน์ตนของแม่ชีเอง และประโยชน์ผู้อื่นที่แม่ชีจะช่วยได้ แก่พระศาสนา และแก่สังคมประเทศชาติ

เมื่อทำได้อย่างนี้ เราก็ปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นการฝึกตัวไปเรื่อยๆ เพราะการปฏิบัติธรรมก็คือการดำเนินชีวิตที่เป็นอยู่ตลอดเวลานี้ให้ถูกต้อง

เราก็มาดูว่าเมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ หรือพบปัญหาต่างๆ เราปฏิบัติต่อสถานการณ์นั้นอย่างไร จัดการปัญหานั้นอย่างไร ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง เราก็ปฏิบัติธรรม เราก็ได้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา เราก็พัฒนาตัวเอง ก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ ผลดีก็เกิดทั้งแก่ตนเองและแก่สังคม พร้อมไปด้วยกัน

แต่ถ้าเราไปเอาความชอบใจไม่ชอบใจมาเป็นที่ตั้ง เราก็ไม่ได้ฝึกไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย ชีวิตก็เสีย สังคมก็ไม่ได้

การปฏิบัติตามหลักอย่างนี้ ก็เพื่อไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททุกคน ซึ่งนอกจากทำให้ พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคงแล้ว ก็ช่วยให้สังคมร่มเย็นเป็นสุขด้วย

สังคมจะร่มเย็นเป็นสุข ก็คือ การที่เราได้แผ่ขยายธรรม คือความดีงามนี้ ให้กระจายออกไปทั่วถึง จนกระทั่งคนมายึดถือตั้งอยู่ในธรรม

สังคมจะอยู่ดีได้นั้น หลักพระพุทธศาสนาก็บอกแล้วว่าเรา ต้องมีธรรมเป็นใหญ่

ถ้าคนไม่มีธรรมเป็นใหญ่ ถึงแม้จะเป็นประชาธิปไตยคือมีประชาชนเป็นใหญ่ มันก็ไม่ไปไหน

ถ้าประชาชนเป็นใหญ่ แต่ไม่มีธรรมเป็นใหญ่ เช่นประชาชนจำนวนมากเป็นคนขี้ยา ประชาชนส่วนมากเป็นคนเห็นแก่การเสพบริโภค มัวเมาลุ่มหลง ติดอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตัว ตกอยู่ในความประมาท หวังผลจากสิ่งที่เหลวไหล ไม่หวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายาม มัวแต่จ้องหาผลประโยชน์ ขัดแย้งแย่งชิงกันอยู่อย่างนี้ ถึงประชาชนเป็นใหญ่ แต่เมื่อประชาชนไม่มีคุณภาพ ไม่มีธรรม มันก็ไปไม่รอด ประชาธิปไตยก็เสื่อมโทรม บ้านเมืองก็ไม่ก้าวหน้า ไม่ร่มเย็นเป็นสุข

ถ้าเป็นประชาธิปไตยแบบนี้ ก็เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีคุณภาพ เพราะประชาชนไม่มีคุณภาพ

ประชาชนจะมีคุณภาพ ประชาธิปไตยจะดี ก็ต้องมีธรรม เป็นใหญ่

เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยู่เหนือประชาธิปไตย และต้องเป็นแกนของประชาธิปไตย ก็คือ ธรรมาธิปไตย

ต้องให้ธรรมาธิปไตย มาเป็นแกนให้แก่ประชาธิปไตยอีกที จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ดี เพราะประชาชนตั้งอยู่ในธรรม

ฉะนั้น เราจะต้องช่วยกันปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องนี้ อย่าไปภูมิใจแค่ประชาชนเป็นใหญ่ แค่นั้นไปไม่รอดหรอก ถ้าไม่มีธรรมเป็นใหญ่

ฉะนั้น เข้ามานำเอาหลักพระพุทธศาสนาไปช่วยประชาธิปไตย ชาวพุทธจะต้องช่วยกันให้ธรรมเป็นใหญ่

อาจจะเลี่ยนศัพท์ที่เขาเคยพูดก็ได้ เขาเคยพูดว่าประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เราก็บอกว่า ต้องให้ธรรมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน จึงจะมีความร่มเย็นงอกงามและเป็นสุขแท้จริง

จะพูดว่าประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ก็ได้ แต่ต้องพูดให้เป็นขั้นเป็นตอน คือ ต้องให้ธรรมเป็นใหญ่อยู่ในหัวใจของคน แล้วให้ประชาชนที่มีธรรมอยู่ในใจนั้นเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

อย่างนี้จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ดี คือเป็นประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นแกน หรือประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนฐานของธรรมาธิปไตย

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง