ปัญหาภิกษุณี: บททดสอบสังคมไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ทำไมในวินัย จึงให้ฐานะภิกษุณีไม่เต็มที่ในสังคม

ถาม: ในครุธรรม ๘ มีอยู่ ๒ ข้อที่คนไม่อยากเชื่อ คือ ภิกษุณีที่บวชมานานกว่าภิกษุ มีอาวุโสกว่า แต่ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุที่บวชเพียงวันเดียว และภิกษุณีแม้จะอาวุโสอย่างไร ก็ไม่มีสิทธิ์ตักเตือนภิกษุ แม้จะทำผิด

ตอบ: ก็อย่างที่บอกไว้แต่ต้นว่า เวลาพิจารณาเรื่องจะต้องนึกถึง

  1. เรื่องการบรรลุธรรม ที่เป็นเรื่องสภาวะ
  2. เรื่องทางสังคม ซึ่งเป็นสมมติ แต่เป็นสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไปของคณะสงฆ์ และต่อการบำเพ็ญศาสนกิจของพระพุทธเจ้าด้วย

เราต้องมองว่าสังคมยุคนั้นเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้ากำลังทรงบำเพ็ญศาสนกิจเพื่องานพระศาสนา นี่ก็เป็นภาระหนักอยู่แล้ว ทรงพยายามให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี อะไรที่ไม่จำเป็น จะมาขัดขวางงาน ก็ต้องพยายามยั้งไว้ มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับทำงานแข่งกับพวกเดียรถีย์ หรือพวกศาสดาทั้ง ๖ ทีนี้ค่านิยม ความรู้สึก ทัศนคติ ขนบธรรมเนียมประเพณีในสมัยนั้น ก็รู้กันอยู่แล้วว่าสตรีในศาสนาทั่วไปมีฐานะทางสังคมเรียกว่าด้อยมาก ดังนั้นเมื่อผู้หญิงจะมาบวช ซึ่งขณะนั้นเพิ่งเป็นปีที่ ๕ แห่งพุทธกิจ เราก็เห็นได้ชัดว่ามีเรื่องที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาใหญ่ๆ ๒ ด้าน คือ

  1. แง่สังคม สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะธรรมเนียมเกี่ยวกับเรื่องนักบวช สมัยนั้นเป็นอย่างไร
  2. แง่การบรรลุธรรม

ในตอนที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชนั้นชัด คือมีลำดับเรื่อง ๒ ขั้นตอนที่ว่า ตอนแรกไม่อนุญาต และตอนหลังจึงทรงอนุญาต ถ้าเราอ่านโดยพิจารณาจะรู้เลยว่า การที่ให้บวชก็ด้วยเหตุผลในแง่บรรลุธรรมได้ แต่ถ้าว่าโดยเหตุผลทางสังคม จะไม่ยอมให้บวช เพราะว่าขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมสมัยนั้นไม่อำนวยเลย สมัยนั้น นักบวชสตรียังไม่เป็นที่ยอมรับ และในทางสังคมสตรีก็มีฐานะด้อยอยู่

ทีนี้ในภาวการณ์ระหว่างศาสนา เมื่อค่านิยมในสังคมเป็นอย่างนี้ ถ้าผู้หญิงเข้ามาบวชก็เริ่มเป็นจุดอ่อนให้แก่ศาสนาอื่นทันที เขาก็ยกขึ้นเป็นข้อโจมตีและกดว่าศาสนานี้ผู้หญิงก็บวชได้ ก็กลายเป็นเหมือนกับว่าผู้หญิงมาดึงคณะสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นนี้ลงไปในขณะที่ยังต้องบุกฝ่าเดินหน้าอยู่ และถ้ายอมให้พระภิกษุไหว้ด้วย ก็จะยิ่งเป็นข้ออ้างให้เขาเอาไปพูดกดพระพุทธศาสนาได้เต็มที่

เรื่องมีในพระไตรปิฎกด้วย ครั้งหนึ่งพระมหาปชาบดีทูลขอว่าให้พระภิกษุกับภิกษุณีเคารพกันตามพรรษา พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต และตรัสว่า แม้แต่อัญเดียรถีย์ทั้งหลายก็ไม่ยอม นี่แหละ พระพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องอัญเดียรถีย์ เพราะถ้าไปทำเข้า ก็เหมือนกับยอมให้พุทธศาสนาถูกเขาดึงลงไปกดไว้

ในพระวินัย จะเห็นว่าพวกเถียรถีย์คอยหาแง่ที่จะกดจะข่มจะว่าร้ายพระพุทธศาสนาอยู่ แม้แต่ถ้าพระภิกษุให้ของขบฉันด้วยมือแก่นักบวชอเจลก(พวกชีเปลือย)เป็นต้น ก็จะถูกเขาหาแง่มุมว่าในทางไม่ดี จนเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุให้ของขบฉันแก่นักบวชพวกนั้นด้วยมือตนเอง

เพราะฉะนั้น จึงต้องทำความเข้าใจและตกลงกันให้ชัดก่อนว่า ถ้าจะบวชก็อย่าไปคำนึงถึงเรื่องด้านสังคมเลย เราจัดให้เหมาะตามสภาพสังคมก็แล้วกัน ให้ผู้หญิงที่จะบวชนึกมุ่งไปที่การบรรลุธรรมเป็นสำคัญ ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธตอนแรก ก็เหมือนกับว่าจะให้พิจารณาทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ว่าถ้ามองในแง่สังคม ถึงขออนุญาตอย่างไรก็ไม่ให้ แต่เมื่อมองในแง่การบรรลุธรรมจึงทรงอนุญาต

หนึ่ง เป็นการเตือนสตรีทั้งหลาย ให้รู้ว่าสภาพสังคมมันเป็นอย่างนี้ เราจะต้องตระหนักไว้ และสอง คำนึงถึงคุณค่าของการบวชที่ได้มาด้วยความยากลำบาก ว่ามุ่งที่การบรรลุธรรม แล้วก็อย่าไปคิดมากในเรื่องอื่นๆ ที่เป็นแง่ของการปฏิบัติให้เหมาะสมกับสภาพสังคมอย่างนั้น แล้วก็ทรงมอบครุธรรมมาเพื่อปฏิบัติให้เหมาะกับสังคมยุคนั้น ให้เป็นอันรู้กันว่านี่เป็นการยอมรับไปตามสภาพสังคม แต่เรามุ่งที่การบรรลุธรรม จึงไม่มาติดใจกันในเรื่องนี้

เป็นอันว่า ตอนแรกที่พระมหาปชาบดีขออนุญาต พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต ซึ่งเป็นการพิจารณาในแง่ของสังคม แต่เมื่อยกเหตุผลในแง่การบรรลุธรรม อันนี้ก็ทรงอนุญาตให้บวช ภิกษุณีก็ต้องตระหนักไว้ว่า การอนุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นนี้เพื่อเหตุผลในการบรรลุธรรม แล้วก็ให้มุ่งที่นี่ อย่าไปคำนึงถึงในแง่ของสังคม ซึ่งจะต้องทำให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ซึ่งในแง่นี้เท่ากับขอให้เห็นแก่พระศาสนาโดยส่วนรวม เพื่อให้งานพระศาสนาส่วนรวมดำเนินต่อไปได้ด้วยดี

เมื่อยอมรับเงื่อนไขทางสังคม พอให้ส่วนรวมดำรงอยู่ในภาวะปกติเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว ผู้บวชเป็นภิกษุณีเข้ามา ก็มุ่งไปที่การปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมตามศักยภาพที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ซึ่งไม่ขึ้นต่อการยึดถือของสังคม

ตามเรื่องที่เป็นมาปรากฏว่า ภิกษุณีสงฆ์เมื่อเกิดขึ้นแล้ว นอกจากเป็นที่ปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม ก็ได้ขยายตัวเป็นศูนย์กลางการศึกษามวลชนสำหรับสตรี เพราะการปฏิบัติธรรมก็คือกระบวนการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาคนนั่นเอง และวัดกับทั้งสำนักภิกษุณี ก็เป็นศูนย์กลางที่ชุมนุมพบปะทำกิจกรรมร่วมกันของพุทธบริษัททั้ง ๔ ดังนั้น การเกิดขึ้นทั้งของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ จึงเป็นการเปิดมิติใหม่แห่งการขยายโอกาสทางการศึกษาในสังคมชมพูทวีป

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง