ถาม: ในพระไตรปิฎก มีเรื่องเกี่ยวกับการกำเนิดมนุษย์ ที่ว่าพรหมลงมากินง้วนดิน จริงๆ แล้วเป็นแค่เรื่องเล่าหรือว่าอย่างไรคะ
ตอบ: เรื่องมีในพระไตรปิฎก และก็มีคำอธิบายรุ่นหลังเสริมเข้าไปอีก เราก็ต้องไปแยกอีกทีว่า แค่ไหนในพระไตรปิฎก
ถาม: แล้วเราจะยึดถือได้จริงขนาดไหนคะ
ตอบ: จับเอาสาระว่า พุทธศาสนาถือหลักความหมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นวิวัฒนาการ ท่านไม่ใช้คำว่าพรหม แต่เวลาเล่าหรืออธิบายกันต่อมามีการพูดรวบรัดอย่างที่ว่าเมื่อกี้ว่าพรหมลงมากินง้วนดิน ในบาลีใช้แค่อาภัสรา คือสัตว์ที่มีแสงสว่างในตัว เปล่งหรือแผ่ซ่านออกมา แต่พอมาแปลในพระไตรปิฎกฉบับแปลภาษาไทยก็ใส่คำว่าพรหมลงไป นี่ละ ถ้าเราดูแค่เฉพาะพระไตรปิฎกไทยก็ยังเสี่ยง เพราะท่านแปลตามภูมิของท่าน ท่านเรียนมาอย่างไร ก็แปลอย่างนั้น คือ หนึ่ง ท่านแปลไปตามความรู้ของตัว สอง มิฉะนั้นก็เอาตามอรรถกถา แต่ในพระไตรปิฎกไม่มีคำว่าพรหม พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่าอาภัสรา อาภัสราแปลว่าผู้มีรังสีแผ่ซ่านออกไป
ถาม: ที่ท่านบอกให้ถือสารัตถะคืออะไร
ตอบ: สารัตถะก็คือความหมุนเวียนเปลี่ยนไปของสภาพที่ปรากฏในสังคมมนุษย์ ถ้าพูดแบบเทียบเคียงก็คือพุทธศาสนาถือหลักวิวัฒนาการ แล้วสาระที่สำคัญอย่างยิ่งคือตรัสเรื่องนี้เพื่ออะไร จุดสำคัญของพระสูตรนี้เพื่ออะไร ก็เพื่อแสดงความไม่ยอมรับแนวคิดของพราหมณ์ในเรื่องวรรณะ ๔ ที่ว่าพระพรหมเป็นผู้กำหนด นี่คือสาระสำคัญของพระสูตรนี้ คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัส เป้าหมายก็คือการแสดงความไม่ยอมรับระบบวรรณะ และทรงแสดงแก่ วาเสฏฐะ และภารทวาชะ ซึ่งมาบวชเป็นเณร สองท่านนี่มาจากวรรณะพราหมณ์ พอมาบวชก็ยังแม่นในแนวคิดของพราหมณ์
สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างหนึ่งก็คือ การแยกพุทธมติกับมติของพราหมณ์ โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าไม่ยอมรับเรื่องวรรณะ ที่ว่าพระพรหมเป็นผู้กำหนดควบคุม สร้างโลก สร้างมนุษย์ โดยกำหนดมาเสร็จว่า ใครเป็นวรรณะไหน พราหมณ์เขาถือว่า พราหมณ์นี่สูงสุด เป็นวรรณะที่เกิดจากพระโอษฐ์ของพระพรหม กษัตริย์เกิดจากพระพาหา คือเป็นนักรบ แพศย์เกิดจากสะโพก เป็นพวกนักเดินทางค้าขาย ศูทรเกิดจากพระบาท เป็นที่รองรับ รับใช้ เกิดมาอย่างไรก็ต้องตายไปอย่างนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
พระพุทธเจ้าไม่ยอมรับคำสอนของพราหมณ์ แต่ได้ตรัสเป็นเรื่องวิวัฒนาการของสังคม ว่ามนุษย์เกิดมาอย่างนี้ ต่อมาการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป เกิดมีสังคมขึ้น แล้วความจำเป็นทางสังคมทำให้เกิดมีการแบ่งงานอาชีพ ต่อมาเลยยึดถือเป็นวรรณะไป
ถ้าเรามองคำสอนของพระพุทธเจ้าบนพื้นฐานสังคมสมัยนั้น ก็เป็นการพลิกตรงข้ามเลย ถ้าจับจุดนี้ได้เราจะเข้าใจ ไม่ไปมัวติดยึดที่ตัวอักษร ตรงนี้แหละสาระสำคัญ คือการปฏิเสธเรื่องวรรณะ
จุดหมายของพระพุทธศาสนาไม่ยอมรับเป็นอันขาดในเรื่องวรรณะ ๔ พราหมณ์เขาถือว่าพราหมณ์เป็นวรรณะสูงสุด พระพุทธเจ้าตรัสรุนแรงในเรื่องการไม่ยอมรับว่าพราหมณ์เป็นวรรณะสูงสุด แล้วในพระสูตรนี้จะมีคำตรัสย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าธรรมสูงสุด ธรรมเป็นเครื่องตัดสิน ไม่ใช่พระพรหม
หลักที่ว่าธรรมเป็นสิ่งสูงสุดนี้ชาวพุทธไม่ค่อยจะยึดถือ ที่จริงเราต้องถือว่าธรรมเหนือเทพ พระพุทธศาสนาถืออย่างนั้น ไม่ใช่เทพสูงสุด เวลานี้ดีไม่ดีชาวพุทธเพลินไปถือเทพเป็นใหญ่ เอาละ ใครจะถือเทพเชื่อเทพก็ไม่ว่าหรอก แต่เมื่อเป็นชาวพุทธต้องถือธรรมสูงสุด ธรรมเป็นตัวตัดสินเทพด้วย เทพจะใหญ่ไปกว่าธรรมไม่ได้
แล้วคาถาสุดท้ายว่าอย่างไร บอกว่าในหมู่ชนที่ยังถือโคตรกันอยู่ กษัตริย์สูงสุด แต่ในธรรมแท้ๆ นั้น ไม่ต้องไปคำนึงแล้วว่าจะเป็นวรรณะไหน แม้แต่เทพ ไม่เอาทั้งนั้น มนุษย์ที่พัฒนาตัวเองแล้วสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะนี่แหละประเสริฐสุด ทั้งในหมู่มนุษย์และทวยเทพ นี่คือสาระสำคัญของอัคคัญญสูตร
ถาม: เรื่องการสิ้นโลกมีปรากฏไหมคะ ที่ว่าน้ำจะท่วม
ตอบ: ในอรรถกถาบอกว่า โลกจะสิ้นด้วยไฟ โลกจะสิ้นด้วยน้ำ โลกจะสิ้นด้วยลม รวมแล้ว ๓ แบบ เรื่องนี้มีมติพราหมณ์อยู่เดิม คือ พราหมณ์เขาถือว่าพระพรหมสร้างโลก แล้ววันคืนหนึ่งของพรหมเรียกว่ากัปหนึ่ง เมื่อครบกัปหนึ่งก็จะสิ้นโลกกันทีหนึ่ง โลกก็จะสลาย ทีนี้การที่โลกจะสลายนี้ สลายด้วยไฟก็มี ด้วยลมก็มี ด้วยน้ำก็มี เขาเรียกว่ากัปที่วินาศด้วยไฟ ด้วยลม ด้วยน้ำ นี่มติอรรถกถา ซึ่งไปโยงกับแนวคิดที่มีอิทธิพลของพราหมณ์อยู่
ในพระไตรปิฎกบางแห่งอาจจะกล่าวถึงอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วอรรถกถาก็อธิบายขยายความ ตัวอย่างที่ชัดก็คือ ในพุทธคุณ พระพุทธเจ้าทรงเป็นโลกวิทู รู้แจ้งโลก ในพระไตรปิฎกว่าไว้แค่นี้ ตรงนี้อรรถกถาก็อธิบายเลยว่า โลกนี้เป็นอย่างไร แล้วก็เกิดขึ้น เจริญ เสื่อม วินาศ อย่างไร ก็ว่ากันยืดยาว