ปัญหาภิกษุณี: บททดสอบสังคมไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ตั้งหลักไว้: ให้ผู้หญิงก็ได้ และธรรมวินัยก็ไม่เสีย

ข้อที่ ๒ ความปรารถนาดีและความต้องการของเรานี้จะได้แค่ไหน ก็ต้องขึ้นต่อหลักการ

เราต้องดูว่าหลักการเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธบัญญัติไว้อย่างไรในเรื่องการบวชเป็นภิกษุณี เมื่อหลักการเป็นอย่างนี้ ทำได้เท่าไหนก็เท่านั้น

การปฏิบัติในเรื่องการบวชเป็นภิกษุณีนี้ ถึงจะมีรายละเอียดมาก แต่ถ้าว่าโดยหลักการกว้างๆ เราทราบกันแล้วว่า การที่จะบวชเป็นภิกษุณีนั้นต้องมีอุปัชฌาย์เป็นภิกษุณี แต่ข้อนี้ยังไม่สำคัญเท่าไร เพราะว่าอุปัชฌาย์นั้นยังไม่ทำให้สำเร็จความเป็นภิกษุณีได้

การบวชเป็นภิกษุณีหรือภิกษุก็ตาม สำเร็จด้วยสงฆ์ ตรงนี้เป็นข้อสำคัญ และเป็นตัวตัดสิน คือต้องมีภิกษุณีสงฆ์ ทำอย่างไรจะให้มีภิกษุณีสงฆ์มาบวชให้ ในเมื่อภิกษุณีสงฆ์ขาดตอนไปแล้ว

ในเรื่องนี้ ไม่ว่าภิกษุหรือภิกษุณีก็เหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะภิกษุณี ภิกษุถ้าไม่มีภิกษุสงฆ์ก็บวชไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเกิดเหตุการณ์ อย่างในประวัติศาสตร์ของลังกา ภิกษุสงฆ์หมดไปตั้ง ๒ ครั้ง ซึ่งทำให้ในลังกากุลบุตรบวชเป็นภิกษุไม่ได้

แต่พอดีว่าในประเทศไทยและพม่า ซึ่งเป็นประเทศเถรวาทเหมือนกัน ยังมีภิกษุสงฆ์อยู่ ทางศรีลังกาจึงได้ส่งทูตมาขอพระภิกษุสงฆ์ ไปบวชกุลบุตรชาวลังกา เกิดมีพระภิกษุขึ้นใหม่

ต่อมาภิกษุสงฆ์หมดอีก ก็ขอใหม่อีก ก็เป็นอย่างนี้ ถ้าภิกษุสงฆ์ในประเทศอื่นไม่มี ภิกษุก็บวชใหม่ไม่ได้ ก็จบสิ้นเหมือนกัน

ทีนี่ภิกษุณีสงฆ์ในสายเถรวาทขาดตอนหมดไปแล้ว เราเลยบอกว่า ไม่รู้จะเอาภิกษุณีสงฆ์ที่ไหนมาบวชผู้หญิงให้เป็นภิกษุณี ถึงแม้ภิกษุสงฆ์จะมีอยู่ ก็บวชให้ไม่ได้ เพราะการที่จะบวชภิกษุณีได้นั้น ความสำคัญอยู่ที่ภิกษุณีสงฆ์ มีภิกษุสงฆ์อย่างเดียวบวชให้เป็นภิกษุณีไม่ได้ องค์ประกอบสำคัญก็คือภิกษุณีสงฆ์นี่แหละ

ตอนนี้มีคำถามว่า ที่ประเทศมหายานเช่นไต้หวันนั้นมีภิกษุณีสงฆ์ เพราะฉะนั้น ก็บวชภิกษุณีได้ใช่ไหม ก็ตอบง่ายๆ ชัดเจนว่าบวชได้ คือ บวชเป็นภิกษุณีมหายาน เพราะเมื่อบวชโดยภิกษุณีสงฆ์มหายานและภิกษุสงฆ์มหายาน ก็ต้องเป็นภิกษุณีมหายาน เป็นเรื่องธรรมดา บวชอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

ถ้าบอกว่าภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันนั้นเป็นภิกษุณีสงฆ์เถรวาท เพราะสืบต่อมาจากสายเถรวาท ก็ต้องไปสืบประวัติกันให้ชัดออกมา คือตรงไปตรงมา ให้ชัดลงไปว่าเป็นมาอย่างไร เกิดขึ้นเมื่อไร

นอกจากนั้น ยังจะมีปัญหาอีกขั้นหนึ่งว่า ถ้าภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันเริ่มต้นโดยเกิดจากภิกษุณีสงฆ์เถรวาทจริง แต่ต่อจากนั้นมา เวลาบวชภิกษุณีก็กลายเป็นว่า สงฆ์ ๒ ฝ่ายที่บวชให้นั้น ภิกษุณีสงฆ์เป็นเถรวาท ภิกษุสงฆ์เป็นมหายาน ภิกษุณีที่บวชใหม่ ก็จะกลายเป็นลูกครึ่ง คือเป็นภิกษุณีที่เป็นกึ่งเถรวาทกิ่งมหายาน

ที่ว่ามานี้เป็นข้อที่จะต้องยกมาพิจารณาตามหลักการ ซึ่งต้องว่ากันเป็นขั้นเป็นตอน เป็นการยกตัวอย่างให้ฟังว่า การจะทำอะไรก็ต้องรู้ก่อนว่า ถ้าปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักจะต้องทำอย่างไร

แต่ขั้นที่หนึ่ง เรามีความรู้สึกที่ดี มีเจตนาดี ปรารถนาดี ต่อจากนั้นก็หาทางว่าจะทำได้เท่าไร คือความต้องการต้องถูกจำกัดด้วยหลักการ หลักการเปิดให้เท่าไรเราก็พยายามหาทางทำให้เต็มที่เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะปิดกั้น

เจตนาไม่ได้อยู่ที่จะปิดกั้น แต่เจตนาจะหาทางให้ แต่หาทางให้เท่าที่หลักการจะเปิดให้ แล้วก็มาช่วยกันพิจารณา

ถ้าตั้งจิตอย่างนี้ และทำตามหลักแล้ว คงจะไม่ต้องมามัวเถียงกันมาก เป็นการยกตัวอย่างหัวข้อที่จะพิจารณาก็แล้วกัน ในเมื่อจะไม่พูดยืดยาวนัก

อาจจะสรุปอย่างสั้นที่สุดว่า เราควรทำโดยวิธีที่ว่า “ผู้หญิงก็ได้ ธรรมวินัยก็ไม่เสีย

การจะทำได้อย่างนี้ ก็ต้องมีความรู้เข้าใจเรื่องที่จะทำ โดยเฉพาะหลักธรรมวินัยเกี่ยวกับการบวชภิกษุณี

ถึงแม้จะคิดแก้ไข จะไม่ทำตามหลัก ก็ต้องรู้เข้าใจหลักที่มี อยู่ก่อนแล้วนั้นให้ดี

แล้วก็ต้องตั้งตัวให้ดี ไม่ใช่ว่าหลักการอะไร จะใช้ได้หรือไม่ก็อยู่ที่ว่า ฉันชอบใจหรือไม่ชอบใจ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง