ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมีการถกเถียงกันคราวนี้ เพียงฟังและพิจารณาเล็กน้อย ก็จะเห็นได้ว่า มีการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รู้เข้าใจเรื่องราวกันมากทีเดียว หลายท่านก็พูดให้ทั้งตัวเองและคนอื่นยิ่งสับสน แล้วปัญหาก็เลยยิ่งสับสนแก้ไขยาก
บางคนพูดทำนองว่า ทำไมจึงไม่ให้ผู้หญิงมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี บางคนถึงกับอ้างรัฐธรรมนูญ
บางคนว่าไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ก็ให้ภิกษุสงฆ์บวชให้ภิกษุณีสิ
บางคนก็พูดทำนองว่า เถรวาทใจแคบ ทำไมไม่ทำอย่างในฝ่ายมหายานที่บวชภิกษุณีได้
บางคนว่าองค์กรปกครองคณะสงฆ์ คือมหาเถรสมาคม ทำไมไม่รับรองการบวชเป็นภิกษุณี
ความจริงก็เป็นเรื่องชัดเจนง่ายๆ ผู้หญิงเคยมีสิทธิบวชในสมัยพุทธกาลอย่างไร ปัจจุบันผู้หญิงก็ยังมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณีอยู่เช่นนั้น แต่ความติดขัดอยู่ที่ไม่มีคนที่มีสิทธิบวชให้ หรือคนที่มีสิทธิบวชสตรีให้เป็นภิกษุณีนั้น เวลานี้ไม่มี
ที่บางคนจะให้ภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณีโดยไม่ต้องมีภิกษุณีสงฆ์นั้น เป็นเพราะไม่รู้ขั้นตอนการบวชภิกษุณีนั้นว่า ทำอย่างไรบ้าง ตรงนี้แหละควรจะพูดเสียเลยว่า ภิกษุสงฆ์ไม่มีสิทธิบวชสตรีให้เป็นภิกษุณี
แม้แต่บวชสามเณรี พระภิกษุก็บวชให้ไม่ได้ พระภิกษุบวชเด็กผู้ชายเป็นสามเณรได้ พระภิกษุณีก็บวชเด็กผู้หญิงเป็นสามเณรีได้ ฝ่ายไหนฝ่ายนั้น ภิกษุณีไม่บวชสามเณร ภิกษุก็ไม่บวชสามเณรี
ดังที่ทราบกันอยู่ว่า แต่เดิมมีภิกษุสงฆ์เกิดขึ้นก่อน ต่อมาภิกษุณีรูปแรก คือพระมหาปชาบดีโคตมีนั้น พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เอง ส่วนสตรีท่านอื่นที่ติดตามพระมหาปชาบดีโคตมีมา พระพุทธเจ้าทรงให้ภิกษุทั้งหลายบวชให้ คือบวชโดยภิกษุสงฆ์
เมื่อมีภิกษุณีสงฆ์ขึ้นแล้ว และภิกษุณีก็มีจำนวนมากขึ้น พระพุทธเจ้าได้ทรงให้ภิกษุณีสงฆ์บวชภิกษุณีก่อน แล้วจึงมาบวชที่ภิกษุสงฆ์ต่อภายหลัง กลายเป็นว่าภิกษุณีบวชจากสงฆ์สองฝ่าย
เมื่อถึงตอนนี้ ภิกษุสงฆ์จะประชุมบวชภิกษุณีได้ ต่อเมื่อภิกษุณีนั้นบวชเสร็จจากภิกษุณีสงฆ์มาแล้ว ขั้นตอนการบวชที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้บวช ที่ศัพท์พระเรียกว่าสอบถามอันตรายิกธรรมต่างๆ นั้น ต้องทำโดยภิกษุณีสงฆ์
การที่ภิกษุสงฆ์จะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้จะบวชเป็นภิกษุณีนั้น พระพุทธเจ้าทรงระงับตัดไปแล้ว การที่จะยอมรับคุณสมบัติของสตรีที่ขอบวช ทรงให้เป็นเรื่องที่เสร็จสิ้นไปในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์
เป็นธรรมดาตามหลักกฎหมาย เมื่อมีบัญญัติใหม่ บัญญัติเก่าที่ขัดกันก็ระงับไป
การบวชภิกษุณีแทบจะสมบูรณ์มาแล้ว ในขั้นตอนของภิกษุณีสงฆ์ ขั้นตอนของภิกษุสงฆ์เรียกได้ว่าเหลือแค่รับทราบและยอมรับตามที่ภิกษุณีสงฆ์ดำเนินการมา ภิกษุสงฆ์จึงไม่มีสิทธิบวชสตรีเป็นภิกษุณี ถ้าภิกษุณีสงฆ์ยังไม่ได้บวชให้
ต่อมาทรงอนุญาตแม้กระทั่งว่า เมื่อสตรีบวชเป็นภิกษุณีเสร็จในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์แล้ว ถ้ามีเหตุติดขัด เช่นการเดินทางอาจมีอันตราย การบวชในขั้นภิกษุสงฆ์ เจ้าตัวภิกษุณีนั้นจะไม่มาเองก็ได้ เพียงให้มีผู้แจ้งแทน เรียกว่าการอุปสมบทโดยทูต (ทูเตนอุปสัมปทา)
ถ้าภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณี หรือภิกษุบวชสามเณรี ดีไม่ดี อีกไม่ช้า คนที่ทวงสิทธิสตรี ก็จะท้วงว่า พระภิกษุถือสิทธิอะไรมาเป็นผู้บวชให้แก่สตรี ทำไมสตรีจะต้องไปให้ภิกษุบวชให้
การยกเอารัฐธรรมนูญมาอ้างว่า สตรีต้องมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณีนั้น ไม่มีสาระอะไรเลย เพราะผู้หญิงมีสิทธิบวชอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าไม่มีผู้มีสิทธิบวชให้แก่สตรีนั้น
การอ้างรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ ก็เหมือนกับว่า ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไม่มีโรงเรียนแพทย์ หรือไม่มีคณะแพทยศาสตร์ แล้วมีคนหนึ่งมาอ้างว่าตนต้องมีสิทธิได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนั้น หรืออะไรทำนองนั้น
(รัฐธรรมนูญนี้อ้างกันจนชักจะเลอะ และเลยเถิด จนบางคน ต่อไปรับประทานอาหารแล้ว ก็คงต้องอ้างว่ารัฐธรรมนูญให้กระเพาะและลำไส้ของฉันมีสิทธิย่อยอาหารได้)
เวลานี้ เมื่อบวชเป็นภิกษุณีในสายเถรวาทไม่ได้แล้ว ไม่ได้หมายความว่ามีมหายานที่ไหนจะบวชเป็นภิกษุณีที่นั้นได้ พุทธศาสนามหายานมีนิกายย่อยแยกออกไปมากมาย มหายานบางแห่งบางนิกายยังมีภิกษุณี มหายานหลายแห่งก็ไม่มีภิกษุณี การที่จะบวชเป็นภิกษุณีมหายานก็บวชได้กับมหายานบางแห่งบางนิกายเท่านั้น
ส่วนเรื่องคณะสงฆ์ โดยเฉพาะมหาเถรสมาคมนั้น เมื่อเป็นเรื่องหลักพระธรรมวินัย ท่านทำได้แค่ให้ความรู้และท่านก็ต้องปฏิบัติตาม จะให้คณะสงฆ์มาตั้งตัวเป็นพระพุทธเจ้าเสียเองไม่ได้
ตามเรื่องที่ปรากฏและเถียงกันอยู่นี้ เห็นได้ว่า คณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคม ไม่มีอำนาจ ไม่ว่าโดยพระธรรมวินัย หรือโดยกฎหมายของรัฐ ที่จะรับรองการบวชภิกษุณีนั้น จะทำได้ก็แค่รับรู้การบวช และให้ความรู้แก่ประชาชน
การให้ความรู้แก่พุทธศาสนิกชนนี้เป็นหน้าที่ยืนตัว ที่ควรทำตลอดเวลา
รวมแล้วก็ต้องย้ำว่า การจะแสดงความคิดเห็นเรื่องอะไร ก็ควรจะได้ศึกษาหาความรู้ในเรื่องนั้นบ้าง มิฉะนั้น พูดกันไปพูดกันมาก็ไม่ได้อะไร มีแต่ยิ่งสับสน