ปัญหาภิกษุณี: บททดสอบสังคมไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถ้าชาวพุทธมีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา สังคมไทยจะพ้นปัญหาแน่นอน

ชาวพุทธเรานั้น เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินตามหลักที่เรียกว่า องค์คุณของอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งตามมาตรฐานทั่วไป มีอยู่ ๕ ข้อ คือ

๑. มีศรัทธา เป็นเบื้องต้น คือมีความเชื่อ มีความมั่นใจในพระรัตนตรัย ความเชื่อของเรานี้ต้องเป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่ศรัทธางมงาย เพราะฉะนั้นจะเชื่อหรือมีศรัทธา ก็ควรจะเข้าใจความหมายของสิ่งที่ตนเชื่อด้วย

เมื่อศรัทธาในพระรัตนตรัย เราต้องรู้เข้าใจว่า พระรัตนตรัยคืออะไร มีความหมายอย่างไร การที่ศรัทธาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ยึดเอาเป็นที่พึ่งนั้น คือปฏิบัติอย่างไร

๒. มีศีล อย่างน้อยตั้งตนอยู่ในศีล ๕ ซึ่งจะทำให้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นฐานสำหรับตนเองที่จะก้าวไปสู่การปฏิบัติเบื้องสูง พร้อมกันนั้น ก็เป็นเครื่องช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม เพราะว่าผู้ถือศีล ๕ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนคนอื่น แต่ดำรงชีวิตที่สุจริต ใครตั้งอยู่ในศีล ๕ ก็ทำให้ที่นั้นมีความปลอดภัย

ถ้าทุกคนรักษาศีล ๕ ได้ สังคมของเราก็จะร่มเย็นเป็นสุข มีความมั่นคงอย่างแน่นอน เป็นหลักประกันสันติสุขของสังคมที่มั่นใจได้ เวลานี้ที่เป็นปัญหามากก็คือ สังคมนี้ขาดศีล ๕ เป็นอย่างยิ่ง

๓. อโกตูหลมังคลิกะ แปลกันว่า ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คือไม่มัวหวังผลจากความเชื่อถือนอกหลักพระพุทธศาสนา ที่เป็นความงมงาย ได้แต่หวังผลจากการดลบันดาลต่างๆ แต่ให้เชื่อกรรม คือเชื่อการกระทำที่เป็นไปตามเหตุผล ให้หวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามของตน คุณสมบัติข้อนี้จะต้องให้เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทยของเรา

เวลานี้คุณสมบัติเพียงข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ นี้ ถ้าเราเอามาตั้งเป็นมาตรฐานหรือเป็นเกณฑ์วัดละก็ คงจะเหลืออุบาสกอุบาสิกาน้อยเหลือเกิน เพราะฉะนั้นสังคมของเราจึงเห็นได้ชัดว่า มีความเสื่อมโทรม แปรปรวนไปต่างๆ มากมาย

เวลานี้ที่มีปัญหาออกมาเป็นข่าวต่างๆ มากมาย จะเห็นว่าเป็นเพราะสังคมของเราเสื่อมลงไปจากพระพุทธศาสนา กลายเป็นสังคมที่ไม่มีหลัก แค่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ นี่ก็แย่แล้ว ถ้าขาดข้อ ๒ คือเสื่อมศีล ก็ทำให้สังคมระส่ำระสาย พอขาดข้อ ๓ คือไม่หวังผลจากการเพียรทำ สังคมก็อ่อนแอ

เมื่อพลเมืองไม่เข้มแข็ง ขาดคุณภาพ ไม่รู้จักเพียรพยายามทำการต่างๆ ให้บรรลุผลด้วยเรี่ยวแรงกำลังของตนเอง ได้แต่มัวหวังพึ่งนอนรอคอยอะไรต่างๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ สังคมจะเจริญได้อย่างไร

ถ้ามีองค์คุณของอุบาสกอุบาสิกาถึงข้อ ๓ นี้เท่านั้น สังคมของเราก็เจริญมั่นคงได้แน่นอน

๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา สังคมไทยเวลานี้แปรปรวนในเรื่องนี้มาก ซึ่งก็สืบเนื่องจากข้อ ๓ นั่นเอง เมื่อถือมงคลตื่นข่าว ไปเชื่อเรื่องไม่เข้าเรื่อง แล้วเขตบุญก็ย้ายออกจากพระพุทธศาสนาไปหาเขตบุญภายนอก ก็ยิ่งไปส่งเสริมให้ความเชื่อผิดปฏิบัติผิดแพร่หลายยิ่งขึ้น และแหล่งคำสอนที่ถูกต้อง คนก็ไม่เอาใจใส่ คนก็ยิ่งห่างจากหลักพระศาสนาออกไป ไม่รู้และไม่เอาใจใส่ในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

๕. กระทำบุพการในพระศาสนานี้ หมายความว่าทำการขวนขวาย ทะนุบำรุงอุปถัมภ์พระสงฆ์ และกิจการพระพุทธศาสนา ที่จะทำให้พระธรรมวินัยเจริญมั่นคง นำกันช่วยกันดำเนินกิจการและทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นกุศลแท้จริง ที่เป็นเรื่องถูกทำนองคลองธรรม ที่จะทำให้ศีลธรรมเจริญงอกงาม

ถ้าเราเอาใจใส่ในหลักองค์คุณของอุบาสกอุบาสิกา ๕ ประการนี้ เพียงเท่านี้พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ด้วยดี สังคมไทยก็เจริญมั่นคงก้าวหน้า มีความเข้มแข็งแกร่งกล้ายิ่งขึ้นไป แต่เวลานี้มีปัญหา คนไทยขาดคุณสมบัติเหล่านี้กันมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นเราต้องมาช่วยกันแก้ไข

วันนี้ขออนุโมทนาญาติโยมชาวธรรมะร่วมสมัยที่ได้ขวนขวาย ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จึงชวนกันมาที่นี่ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการมาครั้งที่ ๒ และหวังว่าทุกท่านคงจะได้ปฏิบัติให้ครบตามหลักองค์คุณของอุบาสกอุบาสิกาทั้ง ๕ ข้อนี้ด้วย

ถ้าท่านผู้ใดปฏิบัติได้ครบ ๕ ข้อนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า เป็นอุบาสกรัตนะ และอุบาสิการัตนะ คือเป็นอุบาสกแก้ว เป็นอุบาสิกาแก้ว

แก้วในที่นี้ หมายความว่า มีคุณค่าสูง ดีงาม ประเสริฐ ไม่ใช่อย่างที่เอาไปล้อกันว่า อุบาสกก็ดื่มแก้วหนึ่ง แล้วอุบาสิกาก็อีกแก้วหนึ่ง เลยไปคนละทิศละทาง

เวลานี้คำทางพระคนเอาไปใช้ล้อกันมาก เช่นพูดว่าวันนี้ถูกเทศน์มา กลายเป็นเรื่องเสียหาย ถูกสวดก็ไม่ดีอีก แสดงถึงความคลาดเคลื่อนของสังคมของเรา จึงได้เป็นอย่างที่เห็นกันอยู่นี้ ฉะนั้นเราต้องตั้งใจว่าจะทำให้เกิดความถูกต้องกันอย่างจริงจัง

วันนี้อาตมภาพคิดว่าจะไม่พูดอะไรมาก เพียงว่าจะอนุโมทนาที่ทุกท่านมีน้ำใจได้มาทำบุญอุปถัมภ์บำรุง และพระสงฆ์ก็มีน้ำใจตอบแทน คือมีเมตตาธรรม และมุทิตาธรรม เป็นต้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง