ปัญหาภิกษุณี: บททดสอบสังคมไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ให้พุทธบริษัทมีส่วนร่วมครบ ๔ จึงจะเป็นระบบพุทธที่ดีใช่ไหม

คุณเอ๋: แต่เมื่อก่อนนั้น สถาบันภิกษุณีเป็นคณะที่แยกออกมา ถึงแม้จะอยู่ในอารามบริเวณเดียวกัน แต่ท่านจะปกครองจัดการอะไรเอง แต่ระบบแม่ชีนี้อิงอยู่กับวัด แล้วเหมือนกับว่าการปฏิบัติธรรมมีน้อย ไม่ค่อยมีโอกาส เท่าที่ดูก็จะไปยุ่งกับงานอื่นๆ มากกว่า

ตอบ: อาจจะเป็นการค่อยๆ คลาดเคลื่อนไป หรือการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามสภาพสังคม คล้ายว่ายุคหนึ่งคนมองแม่ชีเป็นขอทาน อย่างนี้เป็นต้น สมัยหนึ่งเราไปตามถนนในกรุงเทพ แม่ชีนั่งอยู่ข้างถนนวางกระป๋องรับสตางค์ ก็เป็นอย่างนี้ คือสายตาหรือภาพที่คนมองแม่ชีนี่ไม่ดีเลย อีกยุคหนึ่งก็มองว่า แม่ชีคือคนที่อกหัก ถ้าไม่อกหักก็ไม่มาบวช ก็มองไม่ดีทั้งนั้น ทีนี้เราก็ไม่รู้ชัดว่ายุคสมัยโบราณเป็นอย่างไร และขออภัยเถอะ ยุคหนึ่งก็มีแต่นิทานเรื่องตาเถรยายชีเยอะไปหมด มันเป็นความเป็นไปของสังคมที่ว่า เรานี่รู้ไม่ตลอด ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง แล้วสังคมโบราณเคยคิดอย่างไร มีเหตุผลอย่างไร แม้แต่จะจัดการอย่างไรในเรื่องเกี่ยวกับการให้โอกาสผู้หญิง เราก็รู้กันไม่ชัดเจนพอ จึงบอกว่าเมื่อถึงยุคของเรานี้ ก็จัดวางเสียให้ดีไปเลย

อย่างกรณีที่มีผู้พูดว่า ครุธรรม ๘ ประการอาจจะบัญญัติในลังกา ก็ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะนำมาอ้างว่า ด้วยเหตุผลอย่างนี้นะ หรือเท่าที่เห็นหลักฐานว่าอย่างนั้นๆ นะ จึงสรุปว่าบัญญัติในลังกา แต่พูดเพียงคล้ายๆ ว่าอาจจะคิดอยากให้เป็นไปอย่างที่ต้องการสันนิษฐาน

ขอยกตัวอย่าง Mr. Rhys Davids ก็เป็นคนหนึ่งที่มองเรื่องนี้ว่า พุทธศาสนายุคหลังนี้อยู่ในกำมือภิกษุ ก็เลยเอนเอียง แล้วก็มีลักษณะ

  1. เป็น monastic Buddhism เป็นพุทธศาสนาแบบวัดๆ
  2. เป็นของผู้ชาย

ในแง่นี้อาจจะมีความเป็นไปได้บ้าง แต่เราก็ต้องระวัง ไม่มองแง่เดียว บางทีเราคิดไปๆ ก็มองเกินเลย จริงอยู่ เมื่อภิกษุณีสงฆ์ไม่มี มีแต่ภิกษุสงฆ์ อะไรๆ ก็มองด้วยสายตาของภิกษุ ก็จึงมีทางหนักไปได้ข้างหนึ่ง แต่วินัยดั้งเดิมจะเป็นกรอบหนึ่งที่ช่วยกันไว้ ทำให้พระต้องสัมพันธ์กับชาวบ้าน จะเป็นอย่างฤาษีชีไพรไปไม่ได้

แน่ละอิทธิพลย่อมมีได้ในแง่ว่า เมื่อภิกษุเป็นผู้ดูแลพุทธศาสนาต่อมา มันก็มีโอกาสเป็น monastic Buddhism ซึ่งมีส่วนที่เป็นจริงอยู่ จนกระทั่งทำให้คนมองว่าพุทธศาสนาเหมือนกับเป็นเรื่องของวัดไป จนกระทั่งรู้สึกว่าจะปฏิบัติธรรมก็ต้องมาบวชเป็นพระภิกษุ บางทีนึกเลยเถิดไปถึงขั้นนั้น

ทีนี้ถ้ามองหลักธรรมในพระไตรปิฎก เราจะเห็นว่าหลักธรรมนั้นกว้างกว่าเรื่องของการปฏิบัติหรือชีวิตในวัด คือครอบคลุมชีวิตพุทธบริษัท ๔ มากกว่า แต่มาในยุคหลังที่ถือตามแนวทางแบบที่เน้นในอรรถกถา จะเห็นว่าแม้แต่การปฏิบัติในหลักการของพระพุทธศาสนาก็ไปเน้นในเรื่องชีวิตแบบภิกษุมาก ยกตัวอย่างว่า พระพุทธศาสนาสายเถรวาทยุคหลัง ได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์วิสุทธิมรรคมาก จนกระทั่งเรียกได้ว่าถือวิสุทธิมรรคเป็นแบบ บางทีกลายเป็นเรียนวิสุทธิมรรคมากกว่าเรียนพระไตรปิฎก

ทีนี้วิสุทธิมรรคนั้น ในแง่ขอบเขตของการเขียน อาจจะเป็นด้วยท่านผู้เขียนเป็นพระภิกษุ ท่านก็มุ่งเขียนการปฏิบัติของพระภิกษุ และในคัมภีร์เองก็ชัดที่ท่านวางบทตั้งของคัมภีร์ไว้ว่า

สีเล ปติฏาย นโร สปฺโ จิตฺตํ ปฺฺจ ภาวยํ
อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ

นี่เป็นคาถาตั้ง หรือคาถากระทู้ของวิสุทธิมรรค เป็นคำแสดงหลักไตรสิกขา แต่ยกคาถานี้ขึ้นตั้ง คาถานี้เป็นคาถาที่ปรารภพระภิกษุ ฉะนั้นจะโดยคาถาตั้งที่ปรารภพระภิกษุ แล้วท่านจึงอธิบายตามแนวนี้ก็ตาม หรือว่าการมองของท่าน ที่ดูการปฏิบัติโดยเน้นอยู่ในขอบเขตของพระภิกษุก็ตาม ทำให้เป็นอย่างนั้น

ย้ำอีกทีก็ได้ว่า เรายึดถือแนวคำสอนของวิสุทธิมรรค จนกระทั่งเราเพลินไปว่านั่นเป็นกรอบของพระพุทธศาสนา แล้วก็ไม่ไปมองที่พระไตรปิฎก บางทีก็ลืมๆ ไป เราจึงต้องตระหนักความจริงนี้ไว้ แล้วก็มองว่าพุทธศาสนานี่เป็นของพุทธบริษัท ๔ ทั้งหมด เพื่อจะได้มองบทบาทของท่านผู้เขียนตามความเป็นจริง และให้ความสำคัญกับวิสุทธิมรรคให้ตรงพอดีกับที่ท่านประสงค์จะทำ

ความสำคัญของพระภิกษุก็แน่นอน เพราะท่านเป็นผู้อุทิศตัวให้แก่การปฏิบัติ ท่านมีเวลาและมีบทบาทในการสั่งสอนด้วย ทั้งเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติ และสั่งสอน ทั้งหมดนี้ท่านทำได้เต็มที่กว่า แต่เราก็ต้องมองให้กว้างให้ครอบคลุมพุทธบริษัท ๔ ไม่ใช่จำกัดอยู่ในแนวปฏิบัติที่เน้นพระภิกษุอย่างเดียว

แต่ที่ว่าเป็นพุทธศาสนาแบบวัด หรือเป็นของพระผู้ชายคือพระภิกษุนี้ ก็เป็นเรื่องความโน้มเอียงหรือเน้นหนักไปข้างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่หมายความว่าท่านบัญญัติอะไรขึ้นใหม่แปลกออกไปจากของพระพุทธเจ้า

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง