ถาม:
๑. เรื่องที่ระบุไว้ในพระไตรปิฎกมักจะกล่าวถึงมาตุคามในแง่ที่ไม่ดี
๒. เรื่องที่ว่าในยุคแรกไม่ให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตโดยผู้ที่จะบวชต้องรับครุธรรม ๘ ประการ มีผู้สงสัยว่า บางข้ออาจมีผู้เขียนเพิ่มเติมในหนหลังสมัยลังกา ไม่ใช่เป็นการบัญญัติของพระพุทธเจ้าเอง เช่นข้อที่ว่า ภิกษุณีแม้บวชมานาน มีพรรษามากกว่าภิกษุ ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุ และห้ามภิกษุณีว่ากล่าวตักเตือนภิกษุ ไม่ทราบว่าแม้ทำผิดด้วยหรือไม่
ตอบ: การที่จะตอบเรื่องนี้ เบื้องต้นเราต้องทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานก่อน คือ
ถ้าแยกแยะเรื่องเหล่านี้ได้ ก็จะทำความเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ความเป็นมนุษย์ และความเป็นหญิง เป็นชายนี้ โยงไปถึงการบรรลุธรรมด้วย ถ้ามองในแง่การบรรลุธรรมก็คล้ายกับว่าหมดความเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย ไม่ต้องพูดถึง เพราะทั้งหญิงและชายมีสิ่งที่เหมือนกันคือความเป็นมนุษย์
ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า แต่ละคนเกิดเป็นหญิงบ้าง เป็นชายบ้าง หมุนเวียนไป แล้วแต่กรรมของตน ในแง่นี้ทุกคนเป็นมนุษย์ จึงไม่มีอะไรต่างกัน เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายจึงมีศักยภาพในการที่จะบรรลุธรรมเช่นเดียวกัน ส่วนการที่เรามามองแยกเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชายนี้ เป็นการมองในช่วงเวลาสั้นๆ ระยะหนึ่งๆ หรือเฉพาะหน้า แต่ความจริงแต่ละคนก็มีทั้งความเป็นหญิง และความเป็นชาย ที่จะเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ