ถาม: ในเรื่องของสถานภาพแม่ชีล่ะคะ
ตอบ: อันนี้อาตมาเห็นด้วยว่าควรจะเปิดโอกาสให้กับผู้หญิง ในสังคมไทยที่เป็นมา เมื่อภิกษุณีสงฆ์ไม่มี ในเมื่อเรายังมีปัญหากันอยู่ว่า เราจะมีภิกษุณีสงฆ์มาบวชได้อย่างไร เพราะวินัยมีข้อกำหนดอยู่ว่าภิกษุบวชก็ยังต้องมีภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีถึงแม้จะต้องให้ภิกษุสงฆ์ยอมรับด้วย แต่อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นต้องมีภิกษุณีสงฆ์ ทีนี้ในเมื่อเรายังหาภิกษุณีสงฆ์ไม่ได้ ในสังคมไทยก็จึงยังไม่มีภิกษุณี
ทีนี้จะทำอย่างไร ที่จะให้โอกาสแก่สตรี โบราณก็หาทางออกโดยเป็นอนาคาริก เป็นอุบาสิกานุ่งห่มขาวรักษาศีล ที่เรียกเป็นแม่ชี แต่ในสังคมโบราณ สังคมเป็นไปอย่างหลวมๆ เพราะเป็นชุมชนเล็กๆ จบในตัว ก็ไม่ค่อยมีปัญหา
แต่ทีนี้พอเป็นสังคมใหญ่อย่างปัจจุบันขึ้นมา ก็มีกฎกติกาสังคม มีกฎหมายอะไรต่างๆ สถาบันสังคมมีความซับซ้อน อาตมาว่าต้องมาตกลงกันจัดวางให้เหมาะกับยุคนี้ คือต้องตรงไปตรงมา ถ้าจะบวชภิกษุณีก็ต้องให้มีภิกษุณีสงฆ์ ก็จบเท่านั้น ถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์เราบวชภิกษุณีไม่ได้ แต่เราอยากให้ผู้หญิงมีโอกาสได้ประโยชน์จากพระศาสนา ในภาวะที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว และภาระกังวลทางด้านชีวิตภายนอกของคฤหัสถ์ เป็นผู้ไม่ครองเรือน เราจะวางหลักเกณฑ์อย่างไร เราก็มาตกลงกัน
อันนี้คิดว่าตรงไปตรงมาดีที่สุด หมายความว่าตอนนี้เรายังหาภิกษุณีสงฆ์มาบวชภิกษุณีไม่ได้ เรามาตกลงกันดีกว่าว่าสังคมของเราอยากให้โอกาสแก่ผู้หญิง เราจะทำอย่างไร แล้วเราก็จัดให้เหมาะ ให้ได้ประโยชน์แก่ผู้หญิงตามวัตถุประสงค์ด้วย และไม่ผิดพุทธบัญญัติด้วย นี่เป็นวิธีที่น่าจะดีที่สุด ไม่ต้องมัวมาเถียงกันอยู่
ถาม: แล้วระหว่าง ๒ ทางออก คือ การให้มีแม่ชีในเถรวาท กับการที่จะเปิดให้มีภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายมหายาน อันไหนจะมีข้อดีข้อเสียมากกว่ากัน
ตอบ: ไม่ใช่เป็นทางออก ๒ อย่าง ที่จะต้องเลือก และไม่เกี่ยวกับการเอามาเปรียบเทียบกันเลย แม่ชีเป็นเรื่องที่เรามีอยู่แล้ว และดีอยู่แล้ว แต่เราค่อนข้างปล่อยปละละเลยไปเสีย ก็มาตั้งใจส่งเสริมจัดให้ดีไปเลย ส่วนเรื่องภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายมหายานที่ยังไม่มี ก็เป็นเรื่องที่จะพิจารณาเป็นอีกประเด็นหนึ่งต่างหากกัน ถ้าพูดว่าอย่างไหนจะดี ก็ไม่ตรงประเด็น และจะเป็นปัญหาขัดแย้งนอกเรื่อง
เมื่อนำภิกษุณีฝ่ายมหายานเข้ามา ก็ต้องเอาหลักคำสอน ข้อยึดถือของฝ่ายมหายานมา แต่ถ้าเราตั้งเป็นระบบของเราขึ้นมา ก็เป็นนักบวชที่เรายอมรับว่าไม่ใช่อันที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เท่าที่ช่องทางของธรรมวินัยมีอยู่ แล้วเราก็วางแนวปฏิบัติอะไรต่ออะไรให้เหมาะสม
ถาม: แม่ชีเกิดในสังคมไทยนานเท่าไร
ตอบ: คงเกิดนานมากแล้ว มีเรื่องเล่ามาตลอด ซึ่งแสดงว่าสังคมไทยเดิมก็มีวิธีการหาทางออกให้ผู้หญิง
ถาม: แม่ชีมาอยู่ตามวัดจะถูกมองว่าเป็นเหมือนคนรับใช้ และไม่สามารถจะรับบิณฑบาตได้ ไม่สามารถจะทำพิธีสังฆทานได้
ตอบ: แม่ชีนี่เรียกว่าอุบาสิกา แต่ก่อนผู้ชายก็มี เขาเรียกผ้าขาว ก็เหมือนกัน ไม่มีสิทธิ์อะไรพิเศษ หมายความว่าชีก็สืบมาจากโบราณ อย่างที่ฝ่ายชายก็มีชีปะขาวหรืออะไรทำนองนั้น ในแบบเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายก็อยู่วัด เป็นอนาคาริก เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา มีฐานะแบบเดียวกัน แต่ต้องการมีชีวิตแยกจากความเป็นคฤหัสถ์ เพื่อจะได้มีความหลีกเร้น ปลีกตัวสงบมากขึ้น ก็มุ่งผลเพียงเท่านั้น ทีนี้สังคมมันเปลี่ยนไป เราจึงต้องบอกว่าควรจะจัดอย่างไรให้เหมาะสม
ถาม: โอกาสที่จะเป็นภิกษุณีอย่างเถรวาทนี่ ตามวินัยเป็นไม่ได้ใช่ไหมคะ
ตอบ: ตามวินัย ถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์ก็บวชภิกษุณีไม่ได้
ถาม: แต่ถ้าจัดขึ้นมาเองล่ะค่ะ
ตอบ: ก็เป็นของเทียม ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า ถ้าอย่างนั้นเราก็บวชพระภิกษุกันเองได้ ไม่ต้องบวชตามวินัยของพระพุทธเจ้า จะเอาอย่างนั้นหรือ
ที่จริง ถ้าเราจัดขึ้นมาเองเราก็เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่ง ไม่ต้องไปปลอมของท่าน อย่าไปทับพุทธบัญญัติ มันไม่ดี ไม่ถูก ก็เหมือนลังกาเมื่อพระภิกษุหมดไปเขาก็ยอมรับว่าภิกษุสงฆ์ของเขาหมด เขาก็ต้องส่งทูตมาขอจากไทยไป ก็ไปมีสยามวงศ์ขึ้นมา แล้วก็ขอจากพม่า มีนิกายมรัมมะ และอมรปุระขึ้นมา เขาเคารพพุทธบัญญัติ ก็ไม่จัดภิกษุสงฆ์ขึ้นมาเอง
ท่านสุรเดช: ที่จริงปัญหาเรื่องแม่ชีไม่ได้รับการยอมรับทางสถานะ ถ้าลองเปรียบเทียบกับภิกษุณีในสมัยพุทธกาล ก็น่าจะเอาความรู้สึกมาเปรียบเทียบกันได้ แม้กระทั่งภิกษุณีเอง เมื่อจะบวชพระพุทธเจ้าก็ทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ประการ เพื่อให้ตระหนักแบบท่านอาจารย์ว่า แม้กระทั่งแม่ชีเอง ถ้ามองย้อนกลับไปที่ต้นแบบ ก็ต้องยอมรับได้ว่าฐานะจริงๆ ในเรื่องการปฏิบัติ หรือเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ได้หมายความถึงเรื่องปลีกย่อย อย่างเรื่องบิณฑบาต การขึ้นรถ ค่าโดยสาร แต่ในเรื่องความรู้สึกของฐานะทางฝ่ายผู้หญิงน่าจะพิจารณา