ปัญหาภิกษุณี: บททดสอบสังคมไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ทำไมจะเป็นพระศาสดา ต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ชาย

ถาม: เรื่องที่ว่าสตรีไม่อาจเป็นพระพุทธเจ้าหรือศาสดาได้ นี่มีในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถา

ตอบ: มีในพระไตรปิฎก เรื่องเป็นพระพุทธเจ้านี้

หนึ่ง ขั้นต้นไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นหญิงเป็นชาย อยู่ที่ความเป็นมนุษย์ที่เป็นอันเดียวกัน ถ้าพูดในแง่ปัจจุบันขณะนี้ ก็ไม่มีคนไหน ไม่ว่าเป็นหญิงหรือชาย ที่เป็นพระพุทธเจ้า และบนพื้นฐานนี้ เมื่อมองในแง่ของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าเป็นหญิงหรือชาย ไม่ว่าคนไหนก็มีโอกาสที่จะเป็นได้ทั้งนั้น ในความเป็นมนุษย์นั้น มีศักยภาพที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ทุกคน

แต่สอง ตอนที่เป็นพระพุทธเจ้า จะเป็นผู้ชาย เพราะเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าเวลาเป็นพระพุทธเจ้าจะมีองค์ประกอบ ๒ อย่าง คือ

  1. การค้นพบสัจธรรม
  2. การประกาศพระศาสนา

ในขั้นก่อนจะบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า ก็มีการบำเพ็ญบารมี ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพชีวิตชนิดที่ว่าถึงไหนถึงกัน ซึ่งทำได้ยากสำหรับผู้หญิง

ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช ต้องสละวังไปอยู่ในป่าและทดลองวิธีปฏิบัติทุกรูปแบบนั้น ผู้หญิงก็ทำลำบากมาก เรียกว่าทำไม่ได้เลย ในชีวิตท่ามกลางสภาพอย่างนั้น

ต่อมาเมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว การที่จะทำงานทำการเที่ยวจาริกไปทุกแห่งทุกที่ ค้างแรมพระองค์เดียวได้ทุกแห่งหน ก็ไม่เป็นที่สะดวกเลยสำหรับภาวะของสตรี ก็เลยกลายเป็นหลักที่ว่า เวลาเป็นพระพุทธเจ้าจะเป็นในภาวะที่เป็นบุรุษ แต่ถ้าพูดถึงขณะนี้ละก็ พูดไม่ได้ว่าหญิงหรือชาย เพราะทุกคนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน และจะเกิดเปลี่ยนเป็นหญิงเป็นชายไปได้เรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นจะไปพูดว่าผู้หญิงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้เดี๋ยวจะเข้าใจผิด คือ มนุษย์ทุกคนนั่นละมีสิทธิเป็นพระพุทธเจ้าได้ แต่ในระยะบำเพ็ญบารมีไปจนถึงการตั้งพระศาสนาจะเป็นผู้ชาย

ในความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกันนั้น เมื่อมาแยกออกเป็นหญิงกับชาย มีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติภายใน และท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมอย่างไร เป็นที่คลี่คลายออกของศักยภาพอย่างไร น่าจะได้ศึกษาหาความรู้กันต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่ขึ้นต่อความรู้ ไม่ขึ้นต่อเพียงความคิดเห็น

เป็นอันว่า ความเป็นหญิงเป็นชายนี่เปลี่ยนไปเรื่อย เป็นเพียงภายนอก ส่วนที่เป็นอันเดียวกัน คือความเป็นมนุษย์ และความเป็นมนุษย์นี้เป็นตัวบ่งบอกศักยภาพที่จะบรรลุธรรมหรือเป็นพระพุทธเจ้า

เหมือนอย่างภิกษุณีรูปหนึ่ง ไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่า ในเรื่องว่ามีมารมารังควาน มารล้อว่า ผู้หญิงมีปัญญาสองนิ้วจะได้เรื่องอะไร มาอยู่อะไรที่นี่ ท่านก็ตอบไปทำนองนี้ว่า ความเป็นหญิงเป็นชายไม่มีในการบรรลุธรรม ไม่ต้องพูดถึงเรื่องหญิงหรือชาย

ถาม: มีข้อเขียนของบางคนนะคะ ว่าจริงๆ แล้วเมื่อก่อนผู้หญิงเป็นผู้นำ คือเป็นยุคของผู้หญิง แล้วพอ ๕–๖ หมื่นปีให้หลังนี้เป็นยุคของผู้ชายเป็นใหญ่ ก็ทำให้คิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงยุคผู้ชายเป็นใหญ่ ในการจะทำอะไรก็ทำให้ผู้ชายทำได้สะดวกกว่า พร้อมกว่า แต่ถ้าเป็นยุคที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ ความสามารถที่ผู้หญิงจะตั้งศาสนาจะมีโอกาสเป็นไปได้ไหม

ตอบ: เรื่องนี้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายแง่ เรื่องที่นักมานุษยวิทยา และสังคมวิทยาว่าไว้นั้น ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน และสัมพันธ์กับสภาพสังคม คือสังคมยุคแรกที่เขาว่า ผู้หญิงเป็นใหญ่ ก็เพราะว่าเป็นระบบในครอบครัว ผู้หญิงจะเป็นแกน รู้ว่าคนไหนเป็นลูก ศูนย์กลางของครอบครัวก็อยู่ที่แม่ แม่ก็เป็นใหญ่ แต่ต่อมาพอชุมชนขยายตัว มีการขัดแย้งกันระหว่างเผ่าชน หรือคนต่างกลุ่ม ผู้ชายก็เริ่มมีอำนาจขึ้นมาเพราะจะต้องต่อสู้ ผู้ชายนี่โดยโครงสร้างร่างกาย เมื่อมีการรบราฆ่าฟันจะได้เปรียบ เพราะฉะนั้นผู้ชายก็เรืองอำนาจขึ้นมา นี่ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยในเรื่องของโครงสร้างร่ายกาย มันเป็นอย่างนั้นเอง

บางคนบอกว่านี่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม แต่ถ้าเรามองว่าวัฒนธรรมเกิดจากอะไร มันก็เกิดจากตัวปัจจัย เช่นชีวิตคน สภาพแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และโอกาส ใช่ไหม ผู้ชายได้เปรียบขึ้นมา แล้วก็มาตั้งอะไรๆ เข้าข้างตน ก็เพราะมีโอกาสจากการที่มีกำลังกายเหนือกว่า

ตอนแรกก็อย่างที่ว่าแล้ว ผู้หญิงเป็นผู้ที่ลูกหลานรู้ อยู่ใกล้ชิด และเลี้ยงดูเขามา ก็เป็นที่เคารพเป็นศูนย์กลาง และมีอำนาจเป็นใหญ่ ต่อมา พอมีชุมชน มีเผ่าต่างๆ ต่างฝ่ายต่างมีกำลังกล้าแข็งขึ้น ก็ขัดแย้งกัน รบกัน ผู้ชายก็เริ่มมีอำนาจมากขึ้น แล้วผู้ชายก็กลายเป็นใหญ่ ฉะนั้นในยุคที่ผ่านมานี่ ผู้ชายจะเป็นใหญ่มาตลอด เพราะมีเรื่องของการขัดแย้ง รบราฆ่าฟัน ใช้กำลังกายกันมาก

ทีนี้ก็มองว่า เมื่อสังคมมีวัฒนธรรม มีอารยธรรมเจริญขึ้น เราก็พยายามลดการที่จะถือเอากำลังทางร่างกายเป็นสำคัญ โดยมีกำหนดกฎเกณฑ์ทางสังคมขึ้น ให้มีหลักจริยธรรม มีหลักความดี มีการให้เกียรติ มีการยกย่องกันด้วยความดีนั้น ไม่เอาแต่เรื่องของกำลังกาย และถ้าเอาแต่ใช้กำลังร่างกายข่มขี่บังคับกันก็ถือเป็นความป่าเถื่อน อันนี้ก็เป็นโอกาสของผู้หญิงเพิ่มขึ้น

แต่แม้ในขั้นอย่างนี้ ก็จะเห็นว่า พอเอาเรื่องความเสมอภาคขึ้นมาพิจารณาก็ยังมีปัญหา แม้แต่พระราชบัญญัติแรงงาน ก็ต้องบัญญัติงานบางอย่างไม่ให้ผู้หญิงทำ เช่น งานที่ขึ้นที่สูงมากเกินไป ใช้เรี่ยวแรงกำลังมากเกินไป อย่างนี้ไม่ได้ กลายเป็นว่าถ้าให้ไปทำก็เท่ากับเป็นการรังแกผู้หญิง ในแง่นี้ ถ้าเสมอภาคกัน ทำไมไม่ให้ทำเท่ากันล่ะ อย่างนี้เป็นต้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง