ถาม: มีผู้บอกว่า การบัญญัตินี้เป็นการบัญญัติในชั้นหลัง โดยผ่านผู้ชายหรือภิกษุเองในสมัยลังกา ท่านเจ้าคุณมีความคิดเห็นอย่างไร
ตอบ: ก็คงจะหาทางพูดเอานั่นละ ซึ่งไม่มีหลักฐานอะไร ตามประวัติเท่าที่มีหลักฐาน ตอนแรกพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต แต่เมื่อขอในแง่ของการบรรลุธรรมก็อนุญาต ถึงอย่างนั้นก็ทรงแสดงข้อเป็นห่วงพระศาสนาไว้ เมื่อสตรีบวช พระองค์ทรงเปรียบไว้หลายข้อ เช่นว่า
เหมือนกับบ้านเรือนที่มีบุรุษน้อย มีสตรีมาก จะถูกภัยภายนอกเข้ามาได้ง่าย คล้ายว่าสงฆ์ส่วนรวมก็จะอ่อนกำลังลง และพระภิกษุที่มุ่งทำงานอยู่ก็จะต้องแบ่งกำลังมาคุ้มครองภิกษุณีสงฆ์ด้วย เพราะสตรีนอกจากมีปัญหาเชิงสังคม เรื่องที่วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีสมัยนั้นไม่ยกย่องสตรีในระดับเดียวกับบุรุษแล้ว โดยภาวะของสตรี ก็มีความไม่ปลอดภัยต่างๆ มากด้วย
ตอนหนึ่งภิกษุณีอยู่ป่า ก็ถูกคนร้ายมาข่มเหง พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงบัญญัติสิกขาบทไม่ให้ภิกษุณีอยู่ป่า คือชีวิตที่จะบำเพ็ญสมณธรรมแบบผู้ชายนี้ทำได้ยาก ภิกษุจะบุกเดี่ยวบุกป่าฝ่าดงถึงไหนถึงกัน แต่ภิกษุณีไปไม่ได้
แม้แต่เพียงภิกษุณีอยู่ลำพังรูปเดียวก็ไม่ได้ เกิดปัญหาอีกแล้ว จึงต้องมีบัญญัติเช่นว่า ภิกษุณีจะประพฤติมานัต ตามปกติการประพฤติมานัตอยู่กรรมก็ต้องอยู่รูปเดียว แต่สำหรับภิกษุณีต้องมีเพื่อนอยู่ด้วย พระพุทธเจ้าก็ต้องบัญญัติสิกขาบทให้ภิกษุณีสงฆ์ตั้งภิกษุณีรูปอื่นมาเป็นเพื่อนให้อยู่ได้ อย่างนี้เป็นต้น
ในแง่ชีวิตพรหมจรรย์ที่ว่าต้องพร้อมที่จะอยู่ป่าอยู่เขาคนเดียว และจาริกไปได้ทุกหนทุกแห่ง ในแง่นี้ภาวะเพศหญิงก็ไม่เหมาะเท่าเพศชาย และกลายเป็นปัญหาหนัก ทำให้ฝ่ายพระภิกษุต้องเป็นกังวล พลอยห่วงด้วย
ตามปกติภิกษุกับภิกษุณีเดินทางไกลไปด้วยกันไม่ได้ ถ้าไปด้วยกันชาวบ้านก็เพ่งมอง เพราะมีพระผู้หญิงพระผู้ชาย ชาวบ้านเขาก็มองว่านี่เป็นแฟนกันหรืออะไร เพราะชีวิตนักบวชนั้น คนอินเดียรู้กันอยู่แล้วว่า นักบวชไม่ว่าศาสนาไหนก็ถือว่าต้องอยู่พรหมจรรย์ พอมีภิกษุณีขึ้นมาก็แปลกแล้ว ไม่เข้าตาเขา ทีนี้พอเดินทางไปด้วยกันคนก็เพ่งก็จ้องว่า เอ๊ะ! พระในศาสนานี้มีภรรยาด้วยนะ อะไรอย่างนี้
มีเรื่องที่พระภิกษุกับพระภิกษุณีเดินทางเป็นคณะไปด้วยกัน ผู้คนพากันมาดูและล้อเลียน ทำให้พระพุทธเจ้าต้องบัญญัติสิกขาบท กันไม่ให้ภิกษุและภิกษุณีเดินทางร่วมกัน แต่พอเดินทางแยกกัน เมื่อไปเฉพาะภิกษุณีแม้จะหลายรูปก็ถูกข่มเหง ก็ต้องมีพุทธานุญาตว่า ไม่ให้เดินทางด้วยกัน เว้นแต่เดินทางไกล ที่มีภัยอันตรายอย่างนี้เป็นต้น อย่างน้อยก็เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นในการที่จะทำงานพระศาสนา
ขอย้อนอีกนิดว่า ที่ว่าไม่ให้ภิกษุณีว่าภิกษุ ในอรรถกถาท่านอธิบายว่า ไม่ให้ตั้งตัวเป็นเจ้าเป็นนายหรืออะไรทำนองนั้น ถ้าจะพูดเชิงตำหนิหรือแนะนำก็พูดแบบให้เกียรติ เช่น ภิกษุทำอาการไม่สำรวม ภิกษุณีก็อาจจะพูดว่า พระผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือ ท่านไม่แสดงอาการอย่างนี้… แต่ถึงฝ่ายภิกษุก็มีวินัยบัญญัติว่าภิกษุที่จะว่ากล่าวให้โอวาทภิกษุณีต้องได้รับการแต่งตั้งจากสงฆ์
ภิกษุณีสงฆ์นั้นเกิดขึ้นทีหลัง เป็นของใหม่ ก็ให้ปฏิบัติไปตามวินัยของภิกษุ เพราะบัญญัติไว้แล้ว แต่เมื่อภิกษุณีมีเรื่องใหม่ๆ ขึ้นมา ก็ทรงบัญญัติสิกขาบทใหม่เป็นข้อๆ เพิ่มเข้าไป
ตอนแรกที่ภิกษุณีบวชเข้ามาก็ไม่รู้ว่าวินัยที่มีอยู่แล้วเป็นอย่างไร ก็ทรงให้ภิกษุเป็นผู้สวดปาฏิโมกข์ให้ฟัง ต่อมาก็มีปัญหาว่าภิกษุมาสวดหลายครั้งเข้า คนก็ติเตียนภิกษุว่าอย่างนั้นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสห้ามไม่ให้ภิกษุมาสวดปาฏิโมกข์ให้ภิกษุณีฟัง และให้ภิกษุณีสวดเอง แต่ภิกษุณียังไม่รู้ธรรมเนียมวิธีปฏิบัติ ก็ต้องให้ภิกษุสอนให้ อย่างนี้เป็นต้น
ตอนแรกๆก็มีการปรับตัวอย่างนี้ คือเรื่องนี้เป็นของใหม่ที่แปลกสำหรับสังคม คนก็ต้องเพ่ง ต้องจ้อง จะมีข้อตำหนิอะไรอยู่เรื่อย และภิกษุณีเองก็ไม่สบายใจ มีเรื่องเช่นว่า มีผู้ชายมาไหว้ ภิกษุณีก็ไม่สบายใจ เกิดความสงสัยว่านี่เรายินดีการไหว้ของบุรุษได้หรือเปล่า ก็ไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าได้ อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็อีกแง่หนึ่ง แต่ปัญหาระยะยาวก็คือภาวะชีวิตร่างกายที่ไม่เอื้อต่อการอยู่ป่าอยู่เขาจาริกไปตามลำพัง
ขอให้นึกถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ พอตั้งขึ้นแล้วก็มีเรื่องราวที่ต้องเป็นห่วงเป็นกังวลอะไรเยอะ แต่เป้าอยู่ที่ว่า เอาละอย่ามัวเกี่ยงข้อปฏิบัติด้านสังคมเลย มุ่งไปที่การบรรลุธรรมเถิด อันนี้คือตัวเหตุผลที่แท้
ข้อสำคัญอยู่ที่ความมุ่งหมายของการบัญญัติครุธรรมนี้ ที่ตรัสว่า เพื่อป้องกันความอ่อนแอและภัยที่จะเกิดแก่พระศาสนา เหมือนสร้างทำนบกันน้ำไหลบ่าล้น เราอาจจะมัวไปมองกันในแง่อื่นๆ และคิดอย่างโน้นอย่างนี้เลยไป ขอให้พิจารณาจุดนี้กันให้ดี