การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

- ๒ -
เก่ง และ ดี อย่างมีความสุข1

ที่ท่านอาจารย์ปรารภถึงเรื่องเด็กเยาวชนยุคนี้ ว่าวิถีชีวิตจะไม่ค่อยเป็นพุทธอะไรนี่ อาตมภาพว่ามันก็เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมานาน ที่จริงนั้น กว่าจะมาถึงยุคของเรานี้ วิถีพุทธที่เราได้รับมาก็อยู่ในสภาพที่เหมือนกับขวดที่ข้างในเนื้อไม่มี เหลือแต่ขวด หมายความว่า เหลือเพียงรูปแบบ เนื้อในอาจจะกลายไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่ดี เมื่อขวดคือรูปแบบยังอยู่ ก็ยังดีที่ขวดยังอยู่ เพราะยังมีโอกาสที่จะเอาเนื้อกลับมาใส่ใหม่ ดีกว่าขวดหมดไป สำคัญแต่ว่าตอนนี้ ในขวดนั้น นอกจากว่าเนื้อในได้หายไปเกือบหมดแล้ว ยังมีเนื้ออื่นแปลกปลอมเข้ามาปนเยอะแยะ หรือเข้ามาแทนที่เสียอีก อันนี้แหละที่มันทำให้วิถีพุทธหายไป

แล้วยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ ตอนนี้ นอกจากเนื้อหายไปแทบหมดหรือหายไปมากแล้ว คนของเราก็ชักไปชอบขวดอื่นอีกด้วย ก็เลยมีปัญหาซ้อนขึ้นมาว่า คนพวกเรานี้เอง ไปเห็นภาชนะอื่นที่สวยกว่า แม้แต่ขวดเดิมที่ตัวมีอยู่ ก็อยากจะทิ้งเสียแล้ว จึงยิ่งไปกันใหญ่

แล้วอีกอย่างหนึ่ง แม้แต่ตัวขวดเอง คือรูปแบบ เราก็ต้องรู้จักปรับบ้างเหมือนกัน แต่ข้อสำคัญก็อยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้เนื้อหาสาระที่มีอยู่ หรือที่เอากลับมาใส่นั้น เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมได้จริง

ทีนี้ ที่ท่านอาจารย์และคณะนักวิจัยมาวันนี้ ตามที่มีหนังสือแจ้งมา และท่านอาจารย์ ดร.นิเชต ก็ส่งคำถามมาเยอะเลย วันนี้ อาตมภาพคงตอบไม่ไหว และก็ไม่มีความรู้จะตอบด้วย คิดว่าคงจะตอบเป็นแบบข้อคิดข้อสังเกตมากกว่า ว่าจะดำเนินการไปในลักษณะไหนดี จะคุยกันไปดีไหม

เริ่มต้นแต่ข้อแรก ท่านอาจารย์บอกว่า คุณลักษณะหรือคุณสมบัติของเด็กไทยในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร แค่ข้อนี้ก็ใช้เวลานานทีเดียว ที่ว่าจะคุยกันแบบเป็นข้อคิดข้อสังเกตนั้น ไหนๆ มาเจอเรื่องนี้เป็นข้อแรกแล้ว ก็ขอพูดสักนิดหน่อย คือไม่ได้ตั้งใจจะเอาเป็นเรื่องใหญ่

1พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ให้สัมภาษณ์แก่คณะกรรมการดำเนินงานวิจัยเรื่อง “การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทยด้วยนวัตกรรมแนวพุทธ” ณ วัดญาณเวศกวัน เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๘
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง