การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถ้าใช้สมาธิเป็น จะไม่ขาดปัญญา

อาจารย์: มีอยู่ตอนหนึ่งที่สำคัญมากๆ ที่พระเดชพระคุณพูดถึงเรื่องสมาธิ กระผมใคร่ขอกราบเรียนถามว่า ปัญญาจะเกิดขึ้นในขณะฝึกสมาธิได้หรือไม่

ท่านเจ้าคุณ: อ้าว นี่แหละ เราต้องนึกไปถึงสมาธิของท่านอุททกดาบส รามบุตร ซึ่งเป็นสมาธิขั้นสูงสุด ทำไมไม่เกิดปัญญาล่ะ นี่ต้องถามแล้ว ก็หมายความว่า สมาธิไม่จำเป็นต้องให้เกิดปัญญา แต่มันสร้างความพร้อมที่จะให้เกิดปัญญา หรือเป็นสภาพเอื้อ คือให้จิตอยู่ในภาวะที่เอื้อ หนึ่ง ต่อการทำงานของปัญญา และ สอง ต่อการเกิดขึ้นของปัญญา

ในแง่หลังนี้ เป็นความจริงของธรรมดาว่า ปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงนี่ มันพร้อมจะปรากฏอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่นว่า ธรรมชาติแวดล้อมเรา หรือสิ่งทั้งหลายที่เรามองเห็นนั้น ที่จริง มันไม่ได้ปิดบังตัวมันเลย มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น มันก็เป็นของมันตามสภาวะ แต่เราเองนี่แหละมีกิเลสอยู่ในใจ แล้วก็มองเห็นสิ่งทั้งหลายไปตามกิเลสนั้น เราจึงเรียกว่าถูกกิเลสปิดบัง ทำให้เรามองไม่เห็นความจริง

ทีนี้ พอมีสมาธิมาช่วย คือพอจิตเป็นสมาธิ กิเลสเหล่านั้นก็สงบเงียบไป จิตก็โปร่งใส ตอนนี้ก็ไม่มีอะไรบัง ไม่เป็นฝ้าเป็นสี จึงเป็นภาวะที่เอื้อต่อการปรากฏของปัญญา นี่ก็เรื่องธรรมดาของธรรมชาติ อันนี้หนึ่งละ

ต่อไป ที่ว่าเอื้อต่อการทำงานของปัญญา ก็คือว่า จิตของคนทั่วไปนั้นมักจะวอกแวกซ่านส่าย บางทีก็ถึงกับวุ่นวายพลุ่งพล่าน หรือไม่ก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวอารมณ์โน้นเข้ามา เดี๋ยวอารมณ์นี้ขึ้นมา เรื่องนู้นมาที เรื่องนี้มาที เหมือนน้ำในแก้วที่ไม่นิ่ง ถูกกวนถูกเขย่าหรือโคลงเคลง ก็ขุ่นมัว เศษผงที่ลอยอยู่ในนั้น ก็ลอยขึ้นลอยลง ผ่านแซงสวนกัน พล่านไป วุ่นมา ทีนี้ ถ้ามีของอย่างหนึ่งอันเล็กๆ อยู่ในแก้วนั้น ที่เราต้องการจะมอง แต่ผงธุลีและเศษของชิ้นอื่นมากมายก็ไม่อยู่นิ่ง ลอยไปลอยมา อันนั้นมาบังที อันนี้ก็มาบังที เดี๋ยวอันนี้ผ่านไป ของที่เราจะดูโผล่มานิดหนึ่ง แต่อันนั้นมาบังอีกแล้ว เห็นแค่แว่บๆ เลยไม่ชัดสักที นี่ก็เหมือนจิตใจที่ไม่เป็นสมาธิ มีอารมณ์เยอะแยะ จะคิดพิจารณาอะไรสักหน่อย เดี๋ยวเรื่องนู้นเข้ามา เดี๋ยวเรื่องนี้ขึ้นมา มองดูไม่ต่อเนื่อง เห็นเดี๋ยวหนึ่งๆ ก็ไม่ชัดสักที ยิ่งถ้ามีกิเลสมาปั่นด้วย ก็ยิ่งขุ่นหนักขึ้นไปอีก ทั้งบังทั้งขุ่น ก็เลยไม่ชัดเลย บางทีเหนื่อยมาก แต่ไม่ได้ผล

ทีนี้ พอจิตสงบ สมาธิเกิด อารมณ์ต่างๆ ที่มาวุ่นวายพลุ่งพล่านกันอยู่ทั้งหมด หายเงียบไปเลย เพราะมันลงนอนก้นหมด ตกตะกอนหมด น้ำก็ใส ไม่มีอะไรบัง ทีนี้ ก็มองเห็นของที่ต้องการนั้นได้ชัดเจน นี่คือสมาธิเอื้อต่อการทำงานของปัญญา หรือต่อการที่จะมองด้วยปัญญา

แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือว่า สมาธินี้เป็นองค์ธรรม คือคุณสมบัติอย่างหนึ่งในจิตใจของเรา ซึ่งทำให้จิตใจอยู่ในภาวะที่พร้อมสมบูรณ์เต็มที่ ตรงข้ามกับจิตที่ไม่มีสมาธิ ซึ่งวอกแวก ฟุ้งซ่าน ขุ่นมัว ไม่สบาย อาจจะเกิดความหดหู่ ท้อแท้ ว้าวุ่น พลุ่งพล่าน อะไรพวกนี้ ซึ่งทำให้จิตไม่พร้อมที่จะทำงาน คิดการอะไรก็ไม่ดี ปัญญาพัฒนาไม่ได้ ร้ายกว่านั้นก็เห็นบิดเบือน เพราะมีโลภะ โทสะ เป็นต้น มาแต่งแต้มระบายสี เพี้ยนไปหมด

ทีนี้ พอสมาธิเกิดขึ้น ความฟุ้งซ่าน ขุ่นมัว ท้อแท้ หดหู่ ก็หายไปหมด จิตใจสดใส สงบ เข้มแข็ง แน่ว โปร่งโล่ง เบา คล่องแคล่ว ท่านเรียกว่าจิตเหมาะแก่งาน (เป็น กัมมนีย์) หมายความว่า สมาธิทำให้จิตอยู่ในภาวะที่เหมาะแก่การใช้งาน คือทำงานได้ดี พอจิตเหมาะแก่การใช้งาน คราวนี้จะใช้จิตทำงานอะไร ก็ทำได้ดี โดยเฉพาะในทางปัญญา จะคิด จะนึก จะพิจารณาอะไร ก็ได้คล่อง ชัดเจน สว่าง โล่ง

เป็นอันว่า การเจริญสมาธิ ท่านมุ่งที่ความเกื้อหนุนปัญญาใน ๒ ประการ คือ หนึ่ง เอื้อต่อการปรากฏหรือเกิดขึ้นของปัญญา สอง ให้ปัญญาทำงานได้สะดวกได้ผลดีมีประสิทธิภาพสูงสุด

สรุปว่า ประโยชน์แท้ที่ต้องการของสมาธิ อยู่ที่ทำให้จิตเหมาะแก่การใช้งานในการพัฒนาหรือทำให้เกิดปัญญา แต่สำนักสมาธิต่างๆ ที่ว่ามีมาก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น เขานึกว่า ด้วยการทำจิตให้สงบนิ่งมีสมาธิอย่างเดียวนี่ ในที่สุดก็จะบรรลุจุดหมาย กลายเป็นเรื่องของการที่จิตไปดูดดื่ม กลมกลืนหายเข้าไปในภาวะนั่นนี่ ไปจบที่นั่น ดังจะเห็นว่าพวกลัทธิสมาธินั้น พอพูดถึงจุดหมายท้ายสุด ก็จะมีว่า จิตแน่วดิ่งดูดดื่ม ดูดกลืนหายเข้าไป หรือรวมเข้าไปในภาวะอะไรอย่างหนึ่ง สมาธิก็ไปจบที่นี่ ส่วนในพระพุทธศาสนา เมื่อเอาจิตมาเป็นที่ทำงานให้เกิดปัญญารู้แจ้งความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย สมาธิก็เลยไม่พอไม่จบ และต้องแยกออกมาก่อนที่จิตจะดิ่งดูดกลืนหายเข้าไปในภาวะอะไรๆ แล้วก็เอาสมาธิเป็นฐานที่จะก้าวต่อไปสู่จุดหมายที่แท้จริง

สำหรับเด็กนักเรียนทั่วไป ประโยชน์ที่ต้องการ ซึ่งเป็นจุดที่พึงระลึกตระหนักไว้ ก็คือ ทำอย่างไรจะให้สมาธิเป็นคุณสมบัติที่มีที่ใช้ได้ในชีวิตจริง ไม่ใช่เพียงแต่ไปนั่งอยู่เฉยๆ จะต้องมองให้สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตที่แท้จริง

การที่เรามาจัดนั่งสมาธิอะไรนั้น ก็คือเป็นการฝึกส่วนหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่า ตามปกติเราไม่มีเวลาที่จะทำจิตให้สงบอย่างนี้ เราจึงหาโอกาสและสภาพแวดล้อมที่เอื้อ เช่น ที่สงบเงียบ แล้วก็ไปฝึกทำจิตให้สงบนิ่ง เป็นวิธีฝึก และเมื่อฝึกได้ผลทำให้จิตสงบเป็นสมาธิได้จริงอย่างนั้นแล้ว ก็ให้มีจิตที่เป็นสมาธิได้อย่างนั้นในชีวิตจริงที่เป็นอยู่ประจำวันนี้ ถ้านำมาใช้ในชีวิตที่เป็นจริงไม่ได้ ก็ยังไม่สำเร็จผลที่มุ่งหมาย

ในแง่หนึ่ง จะเปรียบเทียบ ก็เหมือนกับคนที่จะว่ายน้ำ ถ้าไปหัดว่ายน้ำอยู่แค่ในสระว่ายน้ำที่เขาจัดให้ แล้วก็ว่ายอยู่นั่นแหละไม่ไปไหนสักที ลงแม่น้ำก็ไม่ได้ ไปทะเลก็ไม่ได้ ก็หมายความว่ายังว่ายน้ำไม่เป็น ยังใช้การว่ายน้ำให้เป็นประโยชน์จริงไม่ได้ ถ้าจะให้ถูกก็คือ เมื่อหัดว่ายน้ำในสระจนว่ายได้ว่ายเป็นจริงๆ แล้ว ก็ต้องสามารถไปว่ายในแม่น้ำจนถึงในทะเลได้ต่อไป นั่นก็คือให้ใช้ในชีวิตจริง ในสถานการณ์จริงได้นั่นเอง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง