การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

๓. วิธีคิด

ถ้าคนต้องคิด หรืออยากคิด เคยชินกับการคิด เป็นคนช่างคิดแล้ว เขาก็จะคิดอยู่เรื่อย แต่คิดอย่างไรจึงจะถูกทางและได้ผล ก็ต้องเรียกหาวิธีคิด เราจึงควรมีวิธีการคิดที่ดีไว้ให้ ในพระพุทธศาสนานั้น ท่านสอนวิธีคิดไว้มากมาย เราก็เอาวิธีเหล่านี้มาสนองให้

วิธีคิดที่แสดงไว้ในพระพุทธศาสนา ตามหลักโยนิโสมนสิการนั้น ได้เคยนำเสนอไว้ โดยสรุปเป็น ๑๐ วิธี คือ

๑. การคิดวิเคราะห์ หรือแยกแยะองค์ประกอบ

๒. การคิดสืบสาวเหตุปัจจัย

๓. การคิดด้วยความรู้สามัญลักษณะตามกฎธรรมชาติ (ลักษณะที่ไม่คงที่ ไม่คงอยู่ในสภาพเดิม และสภาพที่ปรากฏตัวตามเหตุปัจจัย เรียกว่า อนิจจตา ทุกขตา และอนัตตตา)

๔. การคิดแบบแก้ปัญหาตามแนวอริยสัจ ๔

๕. การคิดแบบโยงหลักการสู่จุดหมาย

๖. การคิดแบบให้เห็นครบทั้งส่วนดี ส่วนเสีย และภาวะปลอดพ้นจากบวกลบ

๗. การคิดแบบรู้ทันคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม

๘. การคิดแบบเร้ากุศล

๙. การคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน หรือมีปัจจุบันเป็นศูนย์กลาง

๑๐. การคิดแบบวิภัชชวาท คือจำแนกแยกแยะให้เห็นความจริงครบทุกแง่ด้านตามที่มันเป็น

วิธีคิดที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ทั้งหมดนี้ มีลักษณะทั่วไปที่สำคัญ ๔ ประการ คือ

๑. คิดให้เห็นทะลุตลอดลงไปถึงต้นตอรากเหง้า

๒. คิดมีขั้นตอนเป็นลำดับ

๓. คิดถูกวิธี

๔. คิดให้เกิดผล

ว่าโดยความมุ่งหมายคร่าวๆ วิธีคิดเหล่านี้ แยกเป็น ๒ แบบ คือ

แบบที่ ๑ คิดให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ให้เข้าถึงความจริง ให้รู้เท่าทัน ให้รู้ตามที่มันเป็น

แบบที่ ๒ คิดให้เกิดประโยชน์ คิดทำให้สำเร็จ หรือคิดให้เกิดผลดี เช่นว่า จะเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร จะเอาประโยชน์จากสถานการณ์ไม่ว่าร้ายหรือดีให้ได้อย่างไร เช่น การรู้จักปฏิบัติต่อเทคโนโลยีต่างๆ การมองพลิกสถานการณ์ที่ร้ายให้เห็นแง่ที่ดีหรือทางที่จะทำให้เกิดผลดี การเอาประโยชน์จากปัญหาและความทุกข์ เป็นต้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง