สุขจากเสพที่ว่ามานั้น เป็นความสุขเมื่อได้รับ ด้วยการบำเรอตัว ต้องหามาเพื่อตัว นอกจากทำให้อ่อนแอ และสุขได้ยากขึ้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้แย่งชิงกัน เพราะต้องมีต้องหาสิ่งเสพบริโภคมากขึ้นๆ ขณะที่สิ่งเสพบริโภค ตลอดจนทรัพยากรภายนอกมีจำนวนจำกัด (ปัจจุบันนี้ มีน้อยลงๆ หายากขึ้นๆ ด้วย) การแย่งชิง เบียดเบียน ข่มแหง เอาเปรียบกัน ก็แก้ไขให้หมดไปไม่ได้ มีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ แค่นี้ก็ชัดอยู่แล้วว่า จะมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายมากขึ้นๆ
ทีนี้ ถ้ามนุษย์ติดอยู่กับสุขจากเสพ ถ้ามนุษย์ยังมีความสุขอยู่แค่ระดับเสพนี้อย่างเดียว จะให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดี จะให้อยู่อย่างเกื้อกูลกัน อย่างที่นักแก้ปัญหามักจะพูดนั้น ก็เป็นไปไม่ได้ ปัญหาของชีวิตและปัญหาสังคมจะมีแต่มากขึ้นๆ ตัวบุคคลก็เอาดีอะไรจริงไม่ได้ โลกมนุษย์ก็มีแต่ยิ่งวุ่นวาย เมื่อมองรวมแล้ว ก็เป็นเครื่องแสดงว่า แท้จริงแล้ว มนุษย์หาได้พัฒนาไม่ และเมื่อมนุษย์รู้จักแค่ความสุขระดับเดียวจากการเสพ ติดจมอยู่แค่นั้น แนวคิดทางการศึกษาที่ว่ากันไว้อย่างสวยงามสูงส่ง ก็เป็นจริงไปไม่ได้
จึงต้องเข้าใจให้ชัดว่า การพัฒนามนุษย์นั้น หมายถึงการพัฒนาศักยภาพในด้านความสุขด้วย ยิ่งในยุคบริโภคนิยมนี้ ที่ล่อและดึงคนให้จมอยู่ในความสุขแบบเสพบริโภค ก็ยิ่งต้องเน้นเรื่องการพัฒนาความสุขให้มาก
หลักการของพระพุทธศาสนาเน้นมากในเรื่องความสุข คนมักเข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องทุกข์ ซึ่งเป็นจุดพลาดอย่างมหันต์ ความเข้าใจผิดนั้น เกิดจากการมองหลักธรรมอย่างผ่านเผิน ไม่ดูให้ชัดเต็มความหมาย และไม่รู้จักแยกแยะ
เริ่มตั้งแต่หลักใหญ่ที่ครอบคลุมเลย คือ อริยสัจ ๔ พอเห็นข้อ ๑ ว่าทุกข์ นั่นก็เป็นทุกข์ นี่ก็เป็นทุกข์ ก็คิดสรุปมองเป็นภาพพุทธศาสนาผนวกไว้กับความทุกข์ไปเลย ไม่ได้ดูว่าท่านสอนให้มองทุกข์ ให้มีท่าทีและปฏิบัติต่อทุกข์นั้นอย่างไร
ขอพูดสั้นๆ ว่า ท่านสอน อริยสัจ ๔ โดยสอนหน้าที่ต่ออริยสัจไว้ด้วย คู่กันไปในแต่ละข้อ (เรียกว่า กิจต่ออริยสัจ) เริ่มด้วยบอกว่าทุกข์นั้นมีอยู่ และหน้าที่ที่เราจะทำกับมัน คือรู้ทัน (เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ แต่ให้เอาปัญญามาเจอมัน) ขอให้ดูหลักการนี้ คือ
๑. ทุกข์ สภาวะของทุกข์ - กิจต่อทุกข์ คือ ปริญญา (รู้เท่าทัน)
๒. สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ - กิจต่อสมุทัย คือ ปหานะ (ละ, กำจัด, แก้ไข)
๓. นิโรธ ภาวะไร้ทุกข์ - กิจต่อนิโรธ คือ สัจฉิกิริยา (ประจักษ์แจ้ง, ทำให้สำเร็จ, บรรลุ)
๔. มรรค ทางดับทุกข์ - กิจต่อมรรค คือ ภาวนา (ลงมือทำ)
มองตามหลักกิจต่ออริยสัจนี้ ใครเรียนเรื่องทุกข์ หรือพูดถึงทุกข์แล้ว มีทุกข์ เป็นทุกข์ หรือแม้แต่ใจไม่สบาย ก็แสดงว่าผิด ท่านสอนเรื่องทุกข์เพื่อให้รู้จักแล้วจะได้ก้าวไปแก้ไข ให้พ้นไปจากทุกข์ไปสู่จุดหมายที่ไม่มีทุกข์
ทีนี้ ในระหว่างที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ทุกข์หมดสิ้นไปนั้น ก็จะมีความสุขพัฒนาเพิ่มขึ้นมาๆ เพราะฉะนั้น เรื่องความสุขและการพัฒนาความสุข จึงเป็นเรื่องที่ควรเอาใจใส่ พร้อมไปด้วยกันกับการรู้เข้าใจในเรื่องความทุกข์ ที่เราแก้และกันด้วยความรู้เท่าทันมัน ดังนั้น การเรียนพุทธศาสนาอย่างเป็นระบบ ในขั้นพื้นฐาน จึงให้รู้จักขันธ์ ๕ หรือนามรูป (นามธรรม และรูปธรรม) ซึ่งเป็นที่ตั้งของทุกข์ เหมือนกับแพทย์จะบำบัดโรคให้ได้ผลจริงอย่างเป็นระบบ ก็ต้องเริ่มด้วยการเรียนให้รู้จักร่างกายและระบบการทำงานของมัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรค
ถ้าไม่รู้หน้าที่ต่ออริยสัจสี่ ความเข้าใจไขว้เขวก็จะเกิดขึ้น พระพุทธศาสนาเริ่มด้วยการรับรู้ปัญหาสู้หน้าความจริง เป็นความจริงตามธรรมดาว่า ชีวิตคน ก็เหมือนกับสิ่งทั้งหลายอื่น ที่เป็นอยู่นี้ ก็คือเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลางประดาปัจจัยที่ขัดแย้ง ถ้าเราจะอยู่ให้ดี ก็ต้องรู้จักจัดการกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารชีวิตให้ก้าวดำเนินไปให้ดีที่สุด หลักอริยสัจ ๔ บอกระบบวิธีที่จะจัดการโลกบริหารชีวิตให้ได้ผลโดยใช้ความรู้เข้าใจโลกและชีวิตนั่นแหละเป็นฐาน พอเราเริ่มปฏิบัติโดยจัดการกับปัจจัยทั้งภายในภายนอกอย่างถูกต้อง แค่ปรับทิศปรับทางให้ถูก เราก็บริหารชีวิตไปได้ปลอดโปร่งโล่งเบา ความทุกข์ความเศร้าก็มีแต่จะลดน้อยห่างหาย และเราก็เดินไปในทางของความสุข
พูดสั้นๆ อริยสัจ ๔ ให้หลักการบริหารชีวิต ซึ่งช่วยให้เราก้าวเดินไปในโลก ด้วยจิตใจที่เข้มแข็งสดใส สัมพันธ์กับทุกอย่างที่เกี่ยวข้องพบผ่านอย่างกลมกลืนเกื้อกูล โดยมีปัญญาที่รู้เข้าใจถึงและทันกับสิ่งทั้งหลาย ทลายละสิ่งชั่วร้าย นำไปในวิถีแห่งความไร้ทุกข์ ลุถึงความสุขที่ทวีขึ้นโดยลำดับ
ดังนั้น ในวิถีของพุทธศาสนานี้ ในภาคปฏิบัติจึงมีแต่คำสอนเรื่องความสุข พอปฏิบัติเข้าสู่ทางแล้ว ก็เจอความสุข แล้วความสุขก็พัฒนาไปเรื่อย เริ่มต้นก็มีปราโมทย์ ร่าเริงบันเทิงใจ เบิกบาน แจ่มใส แล้วก็มีปีติ ปัสสัทธิ สุข และสมาธิ ตามมาเป็นชุด
ท่านให้ทุกคนมีปราโมทย์เป็นคุณสมบัติประจำใจ เรียกว่าให้เป็นพื้นใจเลยทีเดียว มีพุทธพจน์ว่า ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์ จะลุถึงความสุขซึ่งเป็นที่หมาย (ใจความของธรรมบทคาถาที่ ๓๘๑) เด็กๆ นักเรียนทั้งหลายก็เหมือนกัน ต้องมีปราโมทย์เป็นพื้นใจ ต้องมีจิตใจสดใสร่าเริงเบิกบาน แล้วก็พัฒนาในวิถีของความสุขต่อไป ให้มีครบชุดคือ ปีติ ปัสสัทธิ (ความสงบเย็นผ่อนคลาย) สุข และสมาธิ ซึ่งเป็นเครื่องวัดผลการศึกษาว่าได้พัฒนาคนอย่างถูกต้อง เพราะคุณสมบัติของจิต ๕ อย่างนี้ ถือว่าจะต้องมีประจำใจของคนที่มีชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง เป็นเครื่องบ่งบอกว่าการปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้า (พระพุทธเจ้าตรัสคุณสมบัติ ๕ ข้อชุดนี้แทบทุกที เมื่อตรัสถึงการปฏิบัติธรรม) ควรจะต้องเอามาเน้นกัน
ถ้าเด็กเล่าเรียนไป คุณสมบัติ ๕ ข้อชุดนี้ไม่พัฒนาขึ้นมาในใจ แม้แต่ปราโมทย์ก็ไม่มี พึงสงสัยว่า การศึกษาคงจะผิดทาง ต้องรีบแก้ไข