การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เด็กเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่เพื่อตามใจ แต่เพื่อให้เขาได้ทำ

ในเรื่องการศึกษานั้น เวลานี้ คนเข้าใจความหมายของหลักการบางอย่างคลุมๆ เครือๆ หรือเพี้ยนไปเลย อย่างเรื่อง child-centered education (การศึกษาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง) ก็ว่ากันสับสนนัวเนีย บางคนถึงกับเข้าใจไปว่า เป็นการคอยเอาใจเด็กไปก็มี

ตามเรื่องที่เป็นมานั้น แม้แต่ จอห์น ดิวอี้ ซึ่งเป็นผู้นำสำคัญคนหนึ่งในแนวคิด progressive education ที่มีหลัก child-centered education อยู่ด้วย ก็เคยประสบปัญหาจากลูกศิษย์ของตัวเองที่เข้าใจไม่ชัดเจนเพียงพอ แล้วทำให้เกิดภาวะเลยเถิดและความบกพร่องขึ้นใน progressive education โดยเข้าใจผิดไปว่า การเอาใจเด็กตามใจเด็กให้เด็กสนุกสนานบันเทิงแล้วจะเป็นการศึกษาที่เรียกว่าเด็กเป็นศูนย์กลาง ซึ่งไม่ถูก มันไม่ใช่อย่างนั้น เขาถึงกับเขียนไว้ในหนังสือ Experience and Education (1938) ว่ากล่าวอย่างแรงต่อพวกนักการศึกษาที่มุ่งแต่จะล่อเร้าให้เด็กสนใจหรือให้สนุกสนานบันเทิง แล้วก็เอาแต่กิจกรรมโดยไม่ใส่ใจเนื้อหาบทเรียน1

นี่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับครูจำนวนมากทั่วประเทศและคนทั่วไป เนื่องจากเรื่องที่เรียกกันว่าเป็นปรัชญาที่ลึกลงไปนี้ จะให้เขาเข้าใจให้ชัดทั่วกันนั้น ก็ยากอยู่ บางทีก็จับได้แค่ความเข้าใจที่ผิวเผินหรือผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป ตอนนี้จึงต้องมาย้ำในเรื่อง ความเข้มแข็ง เพราะเด็กของเราอ่อนแอลงไปๆ หลายปีมาแล้ว มีสัญญาณบ่งชี้มาเรื่อยๆ

เมื่อหลายปีก่อนตอนที่อาตมภาพยังออกไปข้างนอกอยู่ ได้ไปที่โรงเรียนมัธยมใหญ่เก่าแก่แห่งหนึ่ง คุณครูบอกหรือบ่นว่า เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยเอาอะไรเลย อะไรยากหน่อยก็ไม่สู้ นั่นตั้งประมาณ ๑๐ ปีแล้ว เดี๋ยวนี้สภาพอ่อนแอนั้นก็เห็นกันชัด เด็กก็เป็นอย่างนี้ ไม่มีความเข้มแข็ง บทเรียนอะไรยากก็ไม่สู้ ต้องทำงานอะไรหน่อยก็ไม่เอา

แล้วเรื่องนี้ก็โยงไปถึงความสุข นี่ก็หมายความว่า เราไม่ได้พัฒนาคนในเรื่องความสุข เราได้ปล่อยให้คนติดจมอยู่กับความสุขจากการเสพบริโภค ที่เรียกง่ายๆ ว่า “สุขจากเสพ” หรือ สุขต่อเมื่อได้เสพ ยิ่งมาเข้ายุคบริโภคนิยมอีกด้วย ความสุขจากการเสพก็เลยยิ่งเด่น จนแทบจะกลบบังความสุขแบบอื่นเสียหมด บางคนไม่รู้จักความสุขอย่างอื่นเลย เหลือไว้ให้รู้จักแต่สุขจากเสพอย่างเดียว

ที่จริงนั้น ความสุขมีหลายอย่างและหลายระดับ การพัฒนามนุษย์นั้น เป็นการพัฒนาความสุขไปด้วย เมื่อมนุษย์พัฒนาถูกทาง เขาจะรู้จักความสุขอีกมากมายที่ประณีตสูงขึ้นไป แต่ถ้าเขาไม่เคยมี ไม่เคยสัมผัส ไม่เคยรู้จักความสุขที่ซึ้งกว่าที่สูงขึ้นไป เขาก็รู้จักอยู่อย่างเดียวแค่เพียงความสุขจากการเสพบริโภค แล้วก็จมอยู่แค่นั้น อะไรอื่นที่ไม่มีการเสพก็กลายเป็นเรื่องทุกข์ไปหมด หาความสุขอย่างอื่นไม่เป็น ถ้าไม่มีอะไรสนองความต้องการที่เขามีอยู่แบบเดียว ก็สุขไม่ได้ อย่างนี้มันก็ตัน

เด็กที่รู้จักแต่สุขจากเสพ จะเป็นเด็กที่อ่อนแอ เพราะว่า สุขจากเสพก็คือการที่ต้องได้รับการบำรุงบำเรอ คือบำเรอผัสสะ เป็นฝ่ายรับการบำเรอ ก็ไม่ต้องทำอะไร ได้แต่รับให้เขาทำให้ ทีนี้ ถ้าเมื่อไรต้องทำอะไร ก็กลายเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น เด็กสมัยนี้ ที่รู้จักแต่สุขจากเสพ ถ้าทำก็เป็นทุกข์ เมื่อเป็นแต่ผู้รับบำเรอ ไม่ต้องทำ ได้แต่รอเขาทำให้ ก็อ่อนแอ เด็กแบบนี้จะอ่อนแออยู่แล้ว เรายังจะให้เขารอเสพสุขจัดตั้ง ที่ปัจจัยภายนอกมาทำให้อีก ก็ยิ่งอ่อนแอกันใหญ่

บอกแล้วว่า ความสุขจากเสพ คือรับการบำเรอ ไม่ต้องทำอะไร ต่อไป พอชินเข้า ก็กลายเป็นว่า สุขจากเสพ คือสุขโดยไม่ต้องทำ ความสุขก็คือไม่ต้องทำ และสุขจากการที่ไม่ต้องทำ รอรับรอเสพอย่างเดียว ทีนี้มองกว้างออกไปในทางสังคม ถ้าเมื่อไรความสุขคือไม่ต้องทำละก็ เมื่อนั้นก็คือความล่มสลายของอารยธรรม

ทำไมอารยธรรมจึงจะล่มสลาย อาจจะต้องพูดกันยาว แต่เอาสั้นๆ ว่า เมื่อคนไม่อยากจะทำ ไม่คิดจะทำอะไร การสร้างสรรค์ก็ไม่มี เมื่อคนไม่สร้างสรรค์อะไร อารยธรรมก็ก้าวไปไม่ได้

การศึกษาแบบมีเด็กเป็นศูนย์กลางนั้น ไม่ใช่จะมามุ่งจัดตั้งความสุขจากเสพให้แก่เด็ก แต่เป้าหมายสำคัญอยู่ที่จัดสรรโอกาสให้เด็กสามารถทำการสร้างสรรค์ด้วยตัวเขาเอง ซึ่งหมายถึงการที่เขาจะมีความสุขจากการทำ ที่เป็นการพัฒนาสูงขึ้นไปด้วย เหตุผลเป็นอย่างไรมาดูกันต่อไป

1But though Dewey's own faith in progressive education never wavered, he came to realize that the zeal of his followers introduced a number of excesses and defects into progressive education. Indeed, in Experience and Education (1938) he sharply criticized educators who sought merely to interest or amuse students, disregarded organized subject matter in favour of mere activity on the part of students, and were content with mere vocational training.

"Dewey, John." Encyclopædia Britannica. Ultimate Reference Suite. Chicago: Encyclopædia Britannica, 2008.

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง