จะขอต่ออีกนิด พูดถึงข้อคิดเป็นเรื่องๆ ไป ในที่นี้ ท่านอาจารย์ถามมาเรื่องหนึ่งว่า หลายโรงเรียนจัดการฝึกสมาธิอะไรต่างๆ อันนี้เป็นข้อสังเกตที่ดี ที่ควรจะคิดกันให้เหมาะด้วย คือต้องระวังบ้าง เพราะบางทีก็ไปสุดโต่งเหมือนกัน
การฝึกสมาธิเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน ตัว “สมาธิ” เองน่ะดี แต่การใช้สมาธิอาจจะผิดได้ การฝึกสมาธิก็ผิดได้ ตัวสมาธิเองนั้นมันเป็นกุศล แต่ถ้าใช้ผิด ใช้ไม่เป็นมันก็เสีย นี่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ
ความจริง พุทธประวัติก็เป็นบทเรียนบอกเราอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเองก็ทรงผ่านมาและตรัสบอกไว้ แต่เราก็ไม่ค่อยสังเกต เลยไม่เอามาใช้ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะมาบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้ในแนวทางมัชฌิมาปฏิปทานั้น พระองค์ได้ไปทดลองวิธีปฏิบัติของสำนักต่างๆ มา และสำนักที่ยอดเยี่ยมก็คือ สำนักสมาธิของท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุททกดาบส รามบุตร ได้สมาธิถึงจบสมาบัติ ๘ เลยทีเดียว (อาฬารดาบสได้สมาบัติ ๗ ถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติ ส่วนอุททกดาบส รามบุตร นั้นได้ครบ ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ) ก็สุดยอดของสมาธิ คือจบบริบูรณ์แล้ว แล้วทำไมพระพุทธเจ้าทรงบอกว่า “ธรรมนี้ ไม่เป็นไปเพื่อปัญญาตรัสรู้” (ม.มู.๑๒/๓๑๘/๓๒๒) นี่ชัดแน่ๆ ต้องเอาบทเรียนตรงนี้ให้ดีนะ
พระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญสมาธิในสำนักสุดยอดสมาธิมา เสร็จแล้วบอกว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ ฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติไม่ดี ใช้ไม่เป็น ดีไม่ดีไปเป็นสมาธิแบบก่อนพุทธกาล หรือในยุคต้นพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสลัดทิ้งมา ก็จะพลาดไปเสีย ต้องทำความเข้าใจให้เพียงพอ
สมาธินี้อยู่ในระบบบูรณาการของการพัฒนาชีวิต มันอยู่ในระบบศีล สมาธิ ปัญญา คือมันเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่ง และองค์ประกอบทั้งชุดนั้นต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน แยกขาดจากกันไม่ได้ และโดยเฉพาะกับปัญญา ต้องเข้าใจว่าในระบบของไตรสิกขาทั้งหมด สมาธิเกื้อหนุนกับปัญญาอย่างไร ถ้ามิเช่นนั้นแล้ว ก็จะใช้สมาธิผิด อย่างน้อยสมาธิก็อาจจะแยกส่วนออกไป
ดังเช่นฝรั่งในยุคที่เกิดปัญหาทางจิตใจมาก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมาเลย พอเจอสมาธิก็ติดใจ นิยมกันใหญ่ จนกลายเป็นเหมือนแฟชั่น ปฏิบัติสมาธิกันใหญ่ ก็เพื่อให้พ้นไปจากปัญหาความวุ่นวายในใจ แก้ความเครียดของเขา เพื่อหาความสุขทางจิตใจเท่านั้นเอง แต่มันไม่เข้าขั้นเป็นการพัฒนาชีวิต ไม่เข้ามาในระบบการพัฒนามนุษย์ มันก็เฉไฉได้ง่าย
จะต้องให้สมาธิเข้ามาอยู่ในระบบการพัฒนามนุษย์ ให้สมาธิเป็นปัจจัยในการพัฒนาชีวิตให้ได้ ให้มันอยู่ในระบบบูรณาการ คือต้องบูรณาการสมาธิเข้าไปในระบบไตรสิกขาให้ได้ อย่าให้เป็นสมาธิโดยลำพังตัวมันเอง หรือสมาธิเพื่อวัตถุประสงค์อะไรบางอย่าง เฉพาะอย่างยิ่ง อย่าให้มัวไปติด ไปเพลิน ไปหลงสมาธิ แค่ติดสุขในสมาธิ ท่านก็ถือว่าพลาด ประมาทแล้ว
บางคนมีปัญหาชีวิตมาก เลยหวังแค่พอให้ได้สมาธิมาแก้ทุกข์ แต่ไม่ได้แก้จริง กลายเป็นไปนั่งสมาธิหลบปัญหา เอาละ เมื่อมีความสุข ท่านก็ไม่ว่า แต่ระวังอย่าให้ติดเพลิน อย่านึกว่ามันแค่นี้ เดี๋ยวจะนึกว่า อ้อ... เราได้ประโยชน์แล้ว ได้สมาธิมาช่วยแล้ว แต่ไม่เข้าใจถึงความมุ่งหมายที่แท้จริง ในการที่จะใช้ประโยชน์ต่อไป อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ
เพราะฉะนั้น ในการศึกษาที่โรงเรียน ถ้าครูไม่เข้าใจเรื่องไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพียงพอ ก็อาจจะนำสมาธิไปใช้ผิดๆ ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเหมือนกัน ผู้ทำงานจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องหลักการให้ชัดเจนในระดับหนึ่งเป็นอย่างน้อย เราจึงน่าจะต้องมาพิจารณากันว่าควรจะเข้าใจอย่างน้อยแค่ไหน ถึงจะไปดำเนินการอย่างเรื่องการฝึกสมาธิ ยิ่งถ้าเป็นการศึกษา ที่เรียกว่าแนวพุทธ วิถีพุทธ หรืออะไรก็แล้วแต่นี่ ก็ต้องให้ชัดพอ ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดความผิดพลาดเป็นผลเสียได้
พูดอย่างสั้นๆ ว่า คุณครูอาจารย์ที่จะจัดการฝึกอบรมสมาธิ ขอให้รู้เข้าใจหลักการพื้นฐานของกระบวนการศึกษา ๓ ส่วนประสานกันที่เรียกว่า ไตรสิกขา ให้ได้ภาพรวมไว้เป็นอย่างน้อย
อาจารย์มีอะไรอยากถามบ้าง เดี๋ยวอาตมาพูดเรื่อยเปื่อยไม่ตรงจุด