การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

แก้ขัดแย้งข้างนอก ก็เกิดขัดแย้งข้างใน

มีแง่คิดอีกเรื่องหนึ่ง เวลานี้ โลกถึงกันกว้างไกล ดังที่เราบอกว่าเป็นโลกาภิวัตน์ โลกไร้พรมแดน โลกถึงกันหมด เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่สภาพในทางจิตใจและในทางปัญญาของมนุษย์ ไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางรูปธรรมที่เป็นโลกไร้พรมแดนถึงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวนั้น ปัญญาความรู้เข้าใจก็ไม่เป็นอันเดียวกัน จิตใจก็ไม่เข้ากัน มีแต่แบ่งแยกมากขึ้น กลายเป็นปัญหา

มนุษย์จะมีชีวิตที่ดี ที่สมบูรณ์ ก็ต้องประสานเข้ากันกับโลก กับจักรวาล หรือกับสิ่งทั้งปวง ต้องมองทั่วตลอดและมีแนวคิดที่หยั่งถึงสิ่งเหล่านี้ได้ มองเห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่จะประสานได้ และมีแนวคิดที่ประสาน

ถ้าเราไม่มีแนวคิดเชิงประสาน แต่มีความเข้าใจ มีความเชื่อ มีความยึดถือที่แปลกแยก ปัญญาก็ไม่เอื้อ จิตใจก็ไม่เกื้อกูล ความเป็นอยู่ก็เบียดเบียน แม้จะบอกว่าโลกไร้พรมแดนถึงกันเป็นอันเดียว ก็ประสานเข้ากันไม่ได้ มีแต่ปัญหาความขัดแย้ง อันนี้เป็นปัญหาของอารยธรรม

อารยธรรมปัจจุบัน เป็นอารยธรรมแห่งความขัดแย้ง เพราะเป็นอารยธรรมที่ตั้งอยู่บนฐานของแนวคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ เป็นที่รู้กันว่า อารยธรรมตะวันตกดำเนินมาตามแนวคิดตลอดเวลายาวนานเกือบ ๓,๐๐๐ ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ คือถือว่า มนุษย์จะมีความสุขสมบูรณ์ มีความสำเร็จที่แท้ ต่อเมื่อพิชิตธรรมชาติได้ เอาชนะธรรมชาติได้

บนฐานของแนวคิดนี้ ชาวตะวันตกก็มุ่งหน้าเอาชนะธรรมชาติ แล้วก็ได้ทำให้เกิดความเจริญงอกงาม เป็นการพัฒนาตามแนวทางของอารยธรรมปัจจุบัน ที่มากับความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม

วิทยาศาสตร์เกิดขึ้นและเจริญมาเพื่ออะไร ลึกลงไปในใจของชาวตะวันตกก็เพื่อล้วงความลับของธรรมชาติ เพื่อเอาความรู้มาใช้จัดการกับธรรมชาตินั้น โดยพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา แล้วเอาเทคโนโลยีไปจัดการกับธรรมชาติ ให้ธรรมชาติอยู่ใต้อำนาจเป็นทาสรับใช้สนองความต้องการของมนุษย์

แนวคิดและเจตจำนงที่มุ่งมั่นของชาวตะวันตกนี้ ได้ทำให้เกิดการพัฒนาเจริญก้าวหน้าจริงๆ วิทยาศาสตร์ก็เจริญ เทคโนโลยีก็เจริญ แล้วพอเทคโนโลยีเจริญ ก็มาประสานกับแนวคิดวัตถุนิยมที่ว่า ถ้ามนุษย์มีวัตถุสิ่งเสพบริโภคบริบูรณ์ ก็จะมีความสุขสมบูรณ์ จากแนวคิดนี้ ก็ทำให้เอาเทคโนโลยีมาพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการนำเอาธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบ ที่จะผลิตสิ่งเสพบริโภคให้แก่มนุษย์ ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ อันนี้ก็คือตัวแกนของอารยธรรมปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น อารยธรรมปัจจุบัน บนฐานของแนวคิดแบบตะวันตก จึงมีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ เป็นตัวชูโรง โดยมีความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ เป็นจุดหมาย คือมุ่งที่จะมีวัตถุเสพบริโภคให้พรั่งพร้อมบริบูรณ์ แล้วความสุขที่เด่นก็มาพ่วงกับการเสพบริโภค จนสุขจากเสพกลายเป็นจุดเน้น แล้วก็มามุ่งกันที่สุขจากเสพนี้อย่างเดียว จนกลายเป็นกระแสบริโภคนิยม

แต่ยังไม่ทันที่มนุษย์ในอารยธรรมปัจจุบันนี้ จะบรรลุจุดหมายแห่งการมีความสุขสมบูรณ์ด้วยการมีวัตถุเสพบริโภคอย่างล้นเหลือบริบูรณ์ การพัฒนาตามแนวคิดพิชิตธรรมชาติเพื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ก็กลายเป็นการเบียดเบียนทำลายธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดปัญหาเป็นภัยร้ายแรงแก่มวลมนุษย์เอง คือ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และความร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ

ในที่สุด มนุษย์ โดยเฉพาะชาวตะวันตกเอง ก็รู้ตระหนักว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมนั้นรุนแรงมาก ถึงขั้นที่จะทำให้โลกพิบัติ และมนุษย์ต้องสิ้นสลาย แนวคิดพิชิตธรรมชาติที่เป็นฐานของอารยธรรมที่ดำเนินมานั้น ได้ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่ความพินาศ ดังนั้น การพัฒนาอย่างที่ทำกันมา ที่มุ่งผลได้ทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของธรรมชาติ จึงไม่อาจจะให้ดำเนินต่อไป และแนวคิดพิชิตธรรมชาติก็ทั้งเป็นไปไม่ได้และหมดความชอบธรรม มนุษย์จะต้องคิดใหม่ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเกื้อกูลและกลมกลืน เป็นมิตรกัน

ถึงตอนนี้ อารยธรรมก็ถึงจุดหักเห มนุษย์ที่ว่าเจริญ บอกกันว่า จะต้องทำการพัฒนาแนวใหม่ ดังที่ในปี ๒๕๓๐ (1987) สหประชาชาติก็ได้พิมพ์เอกสารสำคัญที่สุดแห่งทศวรรษว่าด้วยอนาคตของโลก (... the most important document of the decade on the future of the world.) ออกมา ตั้งชื่อว่า Our Common Future ซึ่งทำให้เกิดการใช้คำใหม่ว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (sustainable development) ขึ้นมาอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเน้นว่าจะต้องทำการพัฒนาชนิดที่เศรษฐกิจก็ดี สิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้ หรือสิ่งแวดล้อมก็อยู่ดี เศรษฐกิจก็ไปได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ามนุษย์จะคิดใหม่ แต่มนุษย์ก็ยังไม่สามารถทำใหม่ หลายสิบปีผ่านไป การแก้ปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนก็ไม่คืบหน้า สิ่งแวดล้อมก็ยิ่งเสื่อมโทรมหนักลงไป ซ้ำร้ายยังเกิดปัญหาใหม่ซ้อนขึ้นมาที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก คือ จะงดหรือลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ก็ต้องเสียสุขจากเสพ ครั้นจะสุขจากเสพให้สม ก็ต้องระดมการทำลายสิ่งแวดล้อม ที่จะทำให้ตัวเองอยู่ไม่ได้ เป็นปัญหาแห่งความขัดแย้งในจิตใจ ถึงจะพัฒนาจริยธรรมสิ่งแวดล้อมขึ้นมา เป็นจริยธรรมอย่างใหม่ ก็กลายเป็นจริยธรรมที่ไม่ยั่งยืน

ที่แน่นอนก็คือ ตอนนี้รู้กันแล้วว่าแนวคิดพิชิตธรรมชาตินั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะมันทำลายธรรมชาติ ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมสูญสลาย แล้วมนุษย์ก็จะอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ แต่จะเปลี่ยนความคิด ก็ไม่มีทางไป คือยังไม่มีความคิดที่จะมาแทน รู้แต่ว่าความคิดนี้ใช้ไม่ได้ ต้องไม่เอา แต่ก็ไม่รู้ว่าความคิดที่ถูกที่ควรจะเอานั้นเป็นอย่างไร นี่เป็นปัญหาแห่งความขัดแย้งทางปัญญาในปัจจุบัน

ปัญหาเดิมนั้นคือว่า ตัวมนุษย์เองขัดแย้งกับธรรมชาติ เพราะว่าจะไปพิชิตมันทำร้ายมัน แต่ตอนนี้พอจะไม่ทำร้ายมัน จะให้ธรรมชาติอยู่ได้ มนุษย์ก็มาขัดแย้งกับตัวเองว่า แล้วเราจะมีความสุขได้อย่างไร เราจะทำอย่างไรจึงจะอยู่ได้ดี

นี่คือปัญหาของโลกยุคนี้ ซึ่งถ้าแก้ได้ โลกาภิวัตน์ก็จะเป็นสภาพที่ดี แต่นี่ทำอย่างไร ในเมื่อโลกาภิวัตน์ ก็สัมฤทธิ์ผลให้ทั่วทั้งโลกเนื่องถึงกันหมดได้แล้ว เหมือนจะสมตามความจริงของธรรมชาติที่มันเป็นอย่างนั้น แต่พอเจริญเป็นโลกาภิวัตน์ขึ้นมาจริงๆ ตัวมนุษย์เองกลับไม่พร้อมทั้งทางจิตใจและทางปัญญา จึงอยู่ในภาวะที่ไม่รับกัน ไม่สมกัน ไม่สอดคล้องกัน เป็นปัญหาแห่งความขัดแย้งในตัวมนุษย์เอง ที่จะต้องแก้ไข ด้วยการหาแนวคิดใหม่ที่ถูกต้อง ทั้งความคิดพื้นฐานในการมองโลกเข้าใจชีวิต แนวคิดในการพัฒนา ความเข้าใจในเรื่องความสุข ตลอดจนเรื่องจริยธรรม

ว่ากันเฉพาะหน้า เวลานี้ แนวคิดตะวันตกถึงจุดติดตันแล้ว คือพอมาถึงจุดที่ว่าทำอย่างไรจะอนุรักษ์ธรรมชาติ จะรักษาสิ่งแวดล้อมได้ก็ต้องใช้วิธีทางจริยธรรม แต่จริยธรรมแบบตะวันตกนั้นเป็นการฝืนใจ ไม่ยอมตามใจตัวเอง คือ เพื่อให้สิ่งอื่น ให้คนอื่น ให้ธรรมชาติอยู่ได้ เราต้องยับยั้งตัวไว้ ไม่ตามใจตัวเองที่จะไปทำกับมันหรือต่อเขาอย่างนั้นๆ เมื่อฝืนใจ ก็เป็นความทุกข์ นี่จริยธรรมในความหมายแบบตะวันตก คือเป็นจริยธรรมแห่งการฝืนใจ และเป็นจริยธรรมแห่งความทุกข์

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง