การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เกิดมาว่างเปล่า – ขาวสะอาด หรือขาดความรู้

เรื่องหลักการทั้งหลายตาม concepts จำพวกนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องจัดปรับความเข้าใจให้ถูกต้อง ให้เข้ากันคือสอดคล้องกับหลักการศึกษาที่เป็นการพัฒนามนุษย์ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์นั้นเอง

มีคำถามว่า ตามธรรมชาติ มนุษย์เกิดมาสมบูรณ์หรือยัง? อ๋อ... ยังไม่สมบูรณ์ ที่สำคัญคือไม่มีความรู้ ฝรั่งหรือคนสมัยใหม่เคยเถียงกันว่า มนุษย์เกิดมาสะอาดบริสุทธิ์ใช่ไหม? ดีหรือชั่ว? บางคนว่า เด็กเกิดมาก็เหมือนกระดาษหรือผ้าขาวบริสุทธิ์ ยังสะอาด ไม่มีอะไร

แต่ทางพุทธศาสนาไม่ได้พูดแบบนั้น บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ไม่ใช่คำที่จะพูดในกรณีนี้ แต่พูดได้ว่า เด็กเกิดมาไม่มีความรู้ (หรือจะพูดว่า “มีความไม่รู้” ก็ได้) จริงไหม? เมื่อเกิดมานั้น เขาขาดความรู้ แค่นี้ก็ได้ความจริงที่เป็นหลักพอจะใช้ในการศึกษาแล้ว จึงไม่ต้องไปพูดเรื่องว่าบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ แต่บอกว่าไม่มีความรู้

เมื่อไม่มีความรู้ ศักยภาพในทางลบก็เกิดขึ้นทันที คือมีศักยภาพในการที่จะพัฒนาเจ้าพวกกิเลสต่างๆ ขึ้นมา เพราะว่า เมื่อมีอวิชชา ก็คือมีมหาศักยภาพ ที่จะให้เกิดมวลความชั่วร้ายได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการศึกษา ให้คนพัฒนา แก้ไขให้บำราศอวิชชา ให้เกิดปัญญาที่จะเป็นวิชชา นี่คือการศึกษา เพราะฉะนั้น พอเด็กเกิดมา กระบวนการของการศึกษาก็เริ่มเดินหน้าทันที

เด็กเพิ่งเกิดมา การศึกษาจะเริ่มได้อย่างไร? อ๋อ.. นี่เป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติ ขอให้เรารู้เข้าใจและรู้จักใช้มันซิ พอเกิดมาปั๊บ มนุษย์ก็มีเครื่องมือศึกษาติดตัวมาพร้อมแล้ว ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จะมาติดต่อสื่อสารกับโลก หรือรับรู้โลก รับรู้สิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องรับรู้ หรือทางรับรู้ เรียกอย่างบาลีว่า “อายตนะ” คือ แดนเชื่อมต่อให้เกิดความรู้ ก็คือทางรับรู้นั่นเอง

อายตนะนี้ บางทีเรียกว่า “ทวาร” แปลว่า ประตู บางทีเรียกว่า “อินทรีย์” แปลว่า เจ้าการ หรือเจ้าหน้าที่ในการรับรู้ด้านนั้นๆ ในทางการศึกษาหรือพัฒนาคนนั้น ท่านนิยมใช้คำว่า อินทรีย์ ซึ่งมักปรากฏในคำสำคัญคือ อินทรียสังวร (สำรวมอินทรีย์) ซึ่งหมายถึงการรู้จักใช้อินทรีย์ คือ ตา หู ฯลฯ ที่เป็นทางรับรู้นั้น ให้ได้ผลดีในการศึกษา ไม่ให้เกิดโทษคือผลเสียที่ตรงข้ามกับการศึกษา

อินทรียสังวร นี้เป็นหลักสำคัญตั้งแต่จุดเริ่มของการศึกษา ดังได้บอกแล้วว่า โดยธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดมา เขามีความไม่รู้ เมื่อไม่มีความรู้ ก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูก พอโผล่ออกมาในโลก มีอะไรๆ รอบตัวทั่วไปหมด ก็ไม่รู้จักเลยว่าเป็นอะไร เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ตน มันจะเอาอย่างไรกับเรา และเราจะทำอย่างไรต่อมัน ไม่รู้ทั้งนั้น นี่แหละก็ต้องมีความรู้ เพื่อจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นให้ถูกต้อง ทีนี้ จะทำอย่างไรล่ะ ก็ต้องเริ่มด้วยรู้สิ

บอกแล้วว่า คนเราเกิดมามีหู มีตา ฯลฯ เป็นเครื่องมือรับรู้ติดตัวมาพร้อมแล้ว ก็ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นหาความรู้ให้เป็นซิ นี่แหละ ในการศึกษาระบบไตรสิกขา ท่านจึงเริ่มให้คนพัฒนา ณ จุดเริ่มนี้ โดยให้ฝึกที่จะรู้จักรับรู้ทางอินทรีย์ทั้งหลายให้ได้ผลดี เรียกว่า อินทรียสังวร

ทีนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานรับรู้นั้น งานของมันสรุปแล้วก็มี ๒ อย่าง คือ รู้ กับ รู้สึก

ในการศึกษา ว่าอย่างรวบรัด เราก็ให้คนพัฒนาโดยเอา รู้ กับ รู้สึก นั้นมาบูรณาการกัน โดยให้รู้สึกมาหนุนรู้ หรือให้ความรู้สึกเป็นตัวรับใช้ความรู้ ตามปกติ พอรับรู้ปั๊บ ความรู้สึกก็จะมาทันที ถ้าใช้อินทรีย์ไม่เป็น แทนที่จะต่อเข้าสู่กระบวนการรับรู้ คนก็ถูกความรู้สึกพาเฉหรือเตลิดไปเลย หลงไปเลย พอรู้สึกมีเวทนาเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ก็ชอบใจหรือไม่ชอบใจ แล้วก็ไปกับกระบวนการแห่งความรู้สึกนั้น ความรู้ไม่มา ก็จบ ก็ตัน ไม่พัฒนา ไม่มีการศึกษา

แต่ถ้าเอาความรู้สึกมาหนุนความรู้ เช่น พอรับรู้ เกิดความรู้สึกไม่สบาย คือเตือนว่าน่าจะเป็นอันตราย ก็เรียนรู้เลยว่ามีอันตรายอะไรเป็นอย่างไร หรือรู้สึกสบาย คือบอกว่าเจอสิ่งที่เกื้อกูล ก็เรียนรู้ว่าเป็นอะไร อย่างไร เป็นต้น ก็ได้ความรู้ พอเอาความรู้สึกมาหนุนความรู้ ก็เข้าสู่กระบวนการของการศึกษา

เรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ใช้ให้เป็น ชีวิตก็พัฒนาไป การศึกษาก็เคลื่อนขบวน เป็นไปตามธรรมดาแห่งธรรมชาติของมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า “การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคน ดู ฟัง เป็น” แต่นอกจาก ดู ฟัง แล้ว ก็มีการกิน การเป็นอยู่ ที่เป็นเรื่องของการเสพบริโภคด้วย ก็เลยต้องเติมให้ครบว่า “การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนกิน อยู่ ดู ฟัง เป็น”

ทั้งหมดนี้ที่จริงเป็นเรื่องยาว แต่พูดไว้เพียงให้เห็นว่าเป็นแง่มุมบางอย่างที่น่าจะต้องเอาใจใส่ยกขึ้นมาพูดกัน เพราะบางทีเราก็มองข้ามไป

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง