การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สุขกับของก็ดี สุขกับคนก็ต้องมี

เรื่องความสุข ความอยากความต้องการ อะไรพวกนี้ เป็น concepts ใหญ่ๆ ทั้งนั้น เป็นหลักพื้นฐานของการศึกษาเลยทีเดียว จึงเป็นเรื่องที่จะต้องเน้น ในที่นี้ เมื่อบอกให้ระวังเรื่องความสุขจัดตั้งแล้ว ก็เลยโยงต่อไปหาเรื่องความสุขที่มีระดับต่างๆ มากมาย ซึ่งการศึกษานี่แหละเป็นตัวที่จะพาไปให้ถึง

พูดในแง่หนึ่งว่า การศึกษานี้ เราสามารถให้ความหมายหรือคำจำกัดความได้หลายแบบหลายอย่าง ในที่นี้ เราก็พูดได้ว่า “การศึกษาคือการพัฒนาความสุข” ซึ่งไม่ผิดแน่นอน ถ้าเด็กพัฒนาความสุขของเขาขึ้นมาได้อย่างนี้ มันก็คือการศึกษานั่นเอง ความสุขของเขาจะขยายกว้างและเปลี่ยนแปลงคุณภาพแห่งอารมณ์ของความสุขนั้นด้วย จากความสุขแค่การเสพ เขาจะมีความสุขจากการทำ (ให้มันดี) ความสุขจากการหาความรู้ สุขจากการได้ความรู้ ความสุขในความสดชื่นการชื่นชมความงาม ความสมบูรณ์ ความรื่นรมย์ของธรรมชาติ ซึ่งก็คือความสุขในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ แล้วต่อไปก็ยังมีความสุขจากการรู้จักอยู่ร่วมด้วยช่วยเหลือเกื้อกูลกับเพื่อนมนุษย์ และพร้อมกับความสุขที่พัฒนาขึ้นมานั้น คุณสมบัติอีกมากมายที่เป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษา ก็พัฒนาขึ้นมาด้วย

ตอนนี้ก็อยากจะพูดถึงความสุขในการอยู่ร่วมด้วยช่วยเหลือเกื้อกูลกับเพื่อนมนุษย์สักหน่อย แค่ความสุขแง่นี้อย่างเดียว ก็เป็นเรื่องใหญ่ของการศึกษา

ที่จริง สุขในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นนี้ ก็พัฒนาแบบเดียวกับความสุขที่พูดไปแล้ว

เมื่อกี้นี้ เราพูดถึงความสุขในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ซึ่งรวมไปถึงธรรมชาติ เช่นว่า สุขในความชื่นชมพอใจต่อต้นไม้ที่งอกงาม สุขในการหาความรู้ที่จะมาทำให้ต้นไม้งอกงาม จนถึงสุขในการทำให้ต้นไม้นั้นงอกงาม คือสุขจากการสนองความต้องการที่จะทำให้มันดี เรียกสั้นๆ ว่า สุขจากการสนองฉันทะ

ทีนี้เปลี่ยนจากสิ่งของมาเป็นคน ที่ว่า “อยากให้มันดี” ก็เปลี่ยนเป็น “อยากให้เขาดี อยากให้เขามีความสุข” และที่ว่า “อยากทำให้มันดี” ก็เปลี่ยนเป็น “อยากทำให้เขาดี อยากทำให้เขามีความสุข” ก็เท่านั้นเอง ก็ฉันทะนั่นแหละ ต่อจากนั้นก็สุขจากการเห็นเขาดีมีความสุข และสุขจากการทำให้เขาดีมีความสุข คือสนองฉันทะ

อย่างไรก็ดี ฉันทะที่มีต่อคนนี้ ท่านแยกละเอียดกว่าฉันทะต่อสิ่งของ เพราะเรื่องคนนี้ ใกล้ตัวและซับซ้อน ต้องเอาใจใส่ให้ความสำคัญมาก ท่านจึงแยกฉันทะนั้นออกไปตามสถานการณ์ ๓ แบบ และเรียกชื่อแยกออกไปเป็น ๓ ชื่อ คือ

๑. ที่ว่า “อยากให้เขาดี อยากให้เขามีความสุข” ก็คือ อยากเห็นเพื่อนมนุษย์มีหน้าตาผ่องใส มีร่างกายสมบูรณ์ อยากเห็นเขามีความสุข และเขาก็ดีอยู่ นี่เป็นสถานการณ์ปกติ เรียกว่า เมตตา

๒. ทีนี้ “อยากให้เขาดี อยากให้เขามีความสุข” แต่เขามีทุกข์ ห่อเหี่ยว ป่วยไข้ เดือดร้อน ไม่ดีอย่างนั้น เราก็เปลี่ยนเป็น “อยากให้เขาพ้นจากทุกข์ อยากช่วยเขา” นี้เรียกว่า กรุณา

๓. ต่อไปอีก “อยากให้เขาดี อยากให้เขามีความสุข” คราวนี้ เขาไม่ใช่แค่ดี ไม่ใช่แค่มีสุขอยู่ตามปกติ แต่เขาดีขึ้นกว่าเก่า เป็นสุขมากขึ้นไปอีก เราก็เปลี่ยนเป็น “สมใจอยากให้เขาดี ชื่นชมสมใจที่อยากให้เขามีความสุข” นี้เรียกว่า มุทิตา

อย่างที่บอกแล้ว เมตตา-กรุณา-มุทิตา เป็นอาการแสดงออกของฉันทะ หรือเป็นฉันทะที่แสดงออกต่อเพื่อนมนุษย์แยกไปตามสถานการณ์ที่ต่างกันไปนั่นเอง หมายความว่า แกนของทั้งหมดนั้นอยู่ที่ฉันทะ คือความอยากความต้องการให้มันดีนี่แหละ แต่ในที่นี้เปลี่ยนจากมีต่อของ มามีต่อคน ก็เป็นความต้องการให้เพื่อนมนุษย์ดีงามสมบูรณ์เป็นสุข

เป็นอันว่า ฉันทะต่อเพื่อนมนุษย์นี้แสดงแยกต่างไปตามสถานการณ์ ถ้าเป็นยามปกติ เขาอยู่ดี ไม่มีทุกข์อะไร เราก็มีไมตรีอยากให้เขามีสุข ฉันทะ ก็แสดงออกในรูปที่เรียกว่า เมตตา ถ้าเป็นยามร้ายเขามีทุกข์ เราอยากให้เขามีความสุข ก็อยากให้เขาพ้นทุกข์นั้น ฉันทะก็ออกมาในชื่อว่า กรุณา และถ้าเป็นยามรุ่ง เขาสุขสำเร็จ เราก็อยากให้เขาดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป พลอยโมทนา ฉันทะก็แสดงออกในรูปที่เรียกว่า มุทิตา

พอเรามีฉันทะต่อเพื่อนมนุษย์ โดยอยากให้เขามีความสุขอย่างนี้ เราก็พยายามทำให้เขามีความสุข เราเห็นสังคมนี้มีผู้คนยากจน มีคนเจ็บป่วยเยอะ ขาดการศึกษา เราก็อยากทำให้สังคมนี้อยู่ดีมีสุข ถ้าเราทำให้คนมีความสุขได้สำเร็จ เราก็มีความสุขจากการทำให้เขาเป็นสุข ด้วยการพัฒนาคนอย่างนี้ เขาก็มีความสุขในการอยู่ร่วมด้วยช่วยเกื้อกูลกันกับเพื่อนมนุษย์ แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเราสร้างฉันทะในรูปแบบต่างๆ ที่ว่ามานั้นไม่ได้ ก็ต้องบอกว่าพัฒนาคนไม่สำเร็จ การศึกษาล้มเหลว ชีวิตและสังคมเอาดีไม่ได้ ฉะนั้น จึงต้องสร้างต้องพัฒนาความต้องการที่เป็นกุศล คือชุดฉันทะนี้ขึ้นมาให้ได้

ย้ำอีกทีว่า ฉันทะนี้สำคัญนัก จึงเป็นพระคุณสมบัติหลักอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า ที่บอกแล้วว่า “ทรงมีฉันทะไม่ลดถอย” เรียกว่าเป็นพุทธธรรมอย่างหนึ่งในพุทธธรรม ๑๘ ประการ ทรงพิจารณาทุกเช้าทุกวันด้วยพระมหากรุณาว่า ใครมีทุกข์ ใครประสบปัญหา ใครควรได้รับความช่วยเหลือ วันนี้จะไปโปรดใคร แล้วด้วยกำลังฉันทะ ก็ออกเสด็จมุ่งไปเพื่อประโยชน์แก่เขา ไม่มีลดถอย เราบอกว่าด้วยมหากรุณา ก็คือฉันทะนี่แหละที่ทำให้พระองค์เสด็จจาริกไปข้ามวันข้ามคืนไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย และพระองค์ก็ทรงมีความสุขในการที่ทรงทำอย่างนั้น

เมื่อฉันทะทำให้คนมีความสุข ทั้งสุขในการเรียนการหาความรู้ ทั้งสุขในการทำงานสร้างสรรค์ ทั้งสุขในการอยู่ร่วมด้วยช่วยเหลือกัน ดีทั้งต่อตนเอง ดีต่อผู้อื่น ดีต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อโลก ดีต่ออารยธรรมทั้งหมด มันจึงเป็นคุณสมบัติตัวแกนที่การศึกษาจะต้องพัฒนาขึ้นมาให้มีในตัวเด็กให้ได้

ถ้าการศึกษาละเลยหรือไม่รู้จักพัฒนาความสุขจากฉันทะนี้ ชีวิต สังคม ธรรมชาติ และอารยธรรมมนุษย์ ก็จะอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่ เพราะต้องปล่อยให้มนุษย์จมอยู่กับตัณหา อยู่กับการเสพ อยู่กับสุขจากเสพ ที่บั่นรอนชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เสื่อมทรุดลงไปอยู่ทุกเวลานาที

เป็นอันว่า ต้องทำงานอย่างรู้เท่าทัน เราสร้างระบบจัดตั้งขึ้นมาแล้วก็ใช้มันโดยรู้ตระหนักว่า มันเป็นเพียงเครื่องกระตุ้นเร้า ที่จะช่วยหนุนให้เกิดคุณสมบัติในตัวที่เป็นปัจจัยภายในขึ้นมา อย่างความสุขจัดตั้งนี้ ก็มีเป้าหมายอยู่ที่จะให้เด็กเกิดฉันทะของเขาเองขึ้นมา ถ้าทำสำเร็จ พอเด็กมีและสร้างความสุขได้เองแล้ว มันก็คือของจริงที่ต้องการ เขาจะไปอยู่ในโลกของความเป็นจริงที่ไม่เข้าใครออกใครได้ แล้วก็ไปทำเพื่อผู้อื่นได้ด้วย ไม่ใช่ได้แต่หาให้แก่ตัวเองอย่างเดียว

นี่เรื่องที่ ๑ ความสุข หนึ่ง ไม่มัวหลงความสุขจัดตั้ง สอง ไม่ติดจมอยู่กับความสุขแค่ระดับการเสพ แต่ต้องพัฒนาความต้องการอย่างใหม่ขึ้นมา เพื่อก้าวสู่ความสุขที่สูงขึ้นไป สาม พัฒนาสู่ความสุขที่สูงขึ้นไปนั้น ที่มีหลายประเภทหลายระดับ

ต้องช่วยมนุษย์ยุคปัจจุบัน ที่จมอยู่กับความสุขขั้นต้นสุดชั้นเดียว ไม่ยอมไปไหน ให้เขาตระหนักรู้ตื่นขึ้นมาแล้วก้าวหน้าต่อไป

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง